ชิงดำสนามบินอู่ตะเภา 3 แสนล้าน จ่อเผชิญทางตัน

0
299

วงการรับเหมาเชื่อโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 3 แสนล้านจ่อเจอทางตันหลังศาลปกครองสูงสุดสั่งกองทัพเรือต้องเปิดซองข้อเสนอกลุ่มทุน ซี.พี.เหตุขัดเงื่อนไขทีโออาร์ที่ต้องเปิดซองข้อเสนอในเวลาเดียวกันวงในชี้ข้อเสนอกลุ่ม “คีรี-หมอเสริฐ” ยังแรงเสนอผลตอบแทนรัฐกว่า 3 แสนล้าน

ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น“ทอล์กออฟเดอะทาวน์”กับเรื่องของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมูลค่ากว่า 290,000 ล้านบาท ที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ ซึ่งมีพล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร.เป็นประธาน ที่แม้จะโม่แป้งโครงการประมูลกันมาร่วมปี จนเห็นเค้าลางของผู้ชนะการประมูลกันไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2562 คือ“กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS”  

แต่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 63 ที่ให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯในส่วนที่ปฎิเสธไม่รับข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจกล่องที่ 6 และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านราคากล่องที่ 9 ของบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวกเนื่องจากศาลเห็นว่า สาระสำคัญที่แท้จริงของกระบวนการยื่นข้อเสนอในคดีนี้อยู่ที่การแสดงตนเป็นผู้ยื่นข้อเสนอ จึงให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯรับพิจารณาเอกสารดังกล่าวให้เป็นไปตามขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกต่อไป

ทั้งนี้ผลของคำพิพากษาดังกล่าวทำให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกจำเป็นจะต้องเปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาของกลุ่มทุนซี.พี. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากที่ก่อนหน้าได้ยืนยันตัดสิทธิ์จากการประมูลไปแล้วโดยคณะกรรมการได้นัดประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวระดับสูงในบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมซื้อซองโครงการดังกล่าวเปิดเผยว่า ผลจากพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดข้างต้นได้ทำให้เส้นทางการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน “พีพีพี”โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกมูลค่ากว่า 290,000 แสนล้าน ที่คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯตัดสินชี้ขาดกันไปก่อนหน้าเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 62 ให้ข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ที่กอปรด้วย บีทีเอส-บางกอกแอร์เวย์สและชิโน-ไทยฯ เป็นผู้ชนะประมูลโครงการนั้น มีอันจะต้องกลับมานับ 1 ใหม่และอาจต้องยกเลิกการประมูลกันไป

ทั้งนี้เพราะนัยสำคัญของคำพิพากษาที่สั่งให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯต้องรับข้อเสนอของบริษัทธนโฮลดิ้งฯกับพวกที่ระบุอย่างชัดเจนว่า“หลังจากนั้นจะเป็นการนำข้อเสนอทั้งหมดยื่นและส่งมอบให้แก่ฝ่ายรัฐเพื่อนำเอาข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายไปพิจารณาในเวลาต่อไปโดยเปิดซองข้อเสนอแต่ละซองของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายพร้อมกันในเวลาเดียวกันที่จะมีการกำหนดและแจ้งให้ทราบต่อไปอีกครั้งหนึ่งเป็นลำดับ …จึงให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯรับพิจารณาเอกสารดังกล่าวให้เป็นไปตามขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกต่อไป”  

“ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกได้พิจารณาเปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาจนได้เค้าลางของผู้ชนะประมูลไปแล้ว คือ กลุ่มบีบีเอส (BBS) การจะกลับมาเปิดซองข้อเสนอของกลุ่มกิจการร่วมค้าธนโฮลดิ้งฯในภายหลังเพียงรายเดียวเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลการประมูลที่ได้ก่อนหน้าจึงขัดแย้งกับเงื่อนไขทีโออาร์ และเชื่อว่าไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรสุดท้ายก็จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ต้องล้มประมูลกลับไปนับ 1 ใหม่อยู่ดี”

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่าหากพิจารณาข้อเสนอด้านการเงินของกลุ่มบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูลโครงการดังกล่าวจากการตรวจสอบในเชิงลึกพบว่าข้อเสนอของกลุ่ม BBS นั้นได้เสนอผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดถึงกว่า 3 แสนล้านบาทสูงกว่าข้อเสนอของกลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตี้ยม และบริษัทธนโฮลดิ้ง จำกัดกับพวกซึ่งกลุ่มหลังนั้นมีกระแสข่าวว่าได้เสนอผลตอบแทนแก่รัฐต่ำกว่าเป็นเท่าตัวแต่กระนั้นวงในก็เชื่อว่าจะมีการเล่นแร่แปรธาตุบีบให้คณะกรรมการต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคเป็นหลักโดยพิจารณาข้อเสนอด้านราคาประกอบเท่านั้น

“โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกนั้นจะแตกต่างจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินที่จะพิจารณาข้อเสนอของเอกชนที่เสนอขอเงินสนับสนุนจากรัฐต่ำสุดเป็นเกณฑ์จึงทำให้กลุ่ม ซี.พี.มีความได้เปรียบเพราะเสนอของบสนับสนุนจากรัฐต่ำสุดเพียง 1.17 แสนล้านบาทแต่ก็มีข้อเสนอแนบท้ายเพิ่มเติมตามมาอีกกว่า10รายการขณะที่โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภานั้นจะพิจารณาจากข้อเสนอเอกชนที่เสนอผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์ซึ่งครั้งนี้กลุ่มบีบีเอส (BBS) ต้องการแจ้งเกิดกับโครงการนี้จึงได้ทุ่มสุดตัวเสนอผลตอบแทนแก่รัฐสูงกว่า 3 แสนล้านบาท ทิ้งห่างจากข้อเสนอของกลุ่มแกรนด์ฯ หลายเท่าตัวและแม้กลุ่มทุนซี.พี.จะมีการแก้ไขตัวเลขข้อเสนอในภายหลังจากการตรวจสอบวงในก็พบว่าได้เสนอผลตอบแทนแก่รัฐในระดับพียงแสนกว่าล้านบาทเท่านั้นแต่วงในก็เชื่อว่าท้ายที่สุดก็คงจะมีการหยิบยกประเด็นการดำเนินการที่ผิดเงื่อนไขทีโออาร์ฟ้องล้มกระดานโครงการนี้อยู่ดี”

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่าก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 62 ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำสั่งคุ้มครองข้อเสนอของกลุ่มทุน ซี.พี.โดยมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกที่ปฏิเสธไม่รับซองข้อเสนอของกลุ่มซองที่ 2 (ข้อเสนอด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ) กับซองที่ 9 (ข้อเสนอด้านราคา)โดยให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มด้วย โดยระบุว่าเงื่อนไขทีโออาร์ไม่มีความชัดเจนมาตั้งแต่ต้นและประเด็นข้ออ้างในเรื่องของเงื่อนเวลาก็ไม่ใช่สาระสำคัญนั้น

หลายฝ่ายที่เฝ้าจับตาการ “ชิงดำ”สัมปทานโครงการนี้ต่างก็ก็ฟันธงไปตั้งแต่วันนั้นแล้วว่าเส้นทางการพิจารณาคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออกกำลังจะพลิกผันและมีสิทธ์“ล้มกระดาน”เพื่อเปิดทางให้กลุ่มทุ่นซีพีได้เข้าร่วมประมูลเพื่อสานต่อ “จิ๊กซอว์”ของกลุ่มในอันที่จะผนวก 3 โครงการลงทุนในอีอีซีอันประกอบด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกและการพัฒนาเมืองใหม่ Smart City เข้าด้วยกัน

เพราะหากขาด “จิ๊กซอว์”โครงการใดโครงการหนึ่งไปก็ยากจะประสบผลสำเร็จ!!!