“ส่งด่วน”ตบเท้านำร่องจยย.ไฟฟ้าส่งสินค้า รับเทรนด์พลังงานสะอาด

0
530

ตามแรงโน้มถ่วงเทรนด์พลังงานสะอาดที่หลายประเทศทั่วโลกมองเห็นความสำคัญและเร่งผลักดันองคาพยพแต่ละประเทศให้เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ หวังลดปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิง ปัญหามลพิษ-สิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเป็นการขับเคลื่อนประเทศให้สอดรับเทรนด์เทคโนโยลีประหยัดพลังงาน-ลดใช้น้ำมันก่อมลพิษ เช่นเดียวกับประเทศไทยโดยหลายหน่วยงานภาครัฐด้านพลังงานได้เร่งผลักดันให้เป็นหนี่งในยุทธศาสตร์องค์กร

ปัจจุบันแนวโน้มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เห็นจากทุกค่ายรถยนต์ต่างทยอยเปิดตัวยานยนต์พลังงานไฟฟ้า 100 % ป้อนเข้าสู่ตลาดบ้างแล้ว ขณะที่หน่วงานภาครัฐก็กได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายด้านนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเตรียมการด้านระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มมากขึ้น และสนับสนุนให้มีการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

แม้รถยนต์อาจไม่เห็นอย่างแพร่หลายก็ตาม ทว่า เทรนด์การใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเรียกได้ว่ากำลังเป็นกระแสที่ถูกจับตาว่าจะกลายมาเป็น“พาหนะยุคดิจิทัล” เนื่องจากได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง จากในอดีตที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพียงสมรรถนะมอเตอร์ไฟฟ้า ความจุและระยะการใช้งานของแบตเตอร์รี่ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง โดยข้อจำกัดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจะอยู่ที่ระยะทางของการใช้งานต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และความเร็วที่ไม่สามารถวิ่งได้เทียบเท่ากับรถมอเตอร์ไซค์ทั่วไป

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้ถูกพัฒนาให้มีความสามารถในการใช้งานได้เทียบเท่ากับรถมอเตอร์ไซค์แบบเครื่องยนต์ เทคโนโลยีอันทันสมัยในปัจจุบันทำให้สามารถวิ่งได้เร็วเทียบเท่ากับรถมอเตอร์ไซค์ปกติอีกทั้งยังก้าวไกลไปจนถึงความสามารถในการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบสภาพรถได้ด้วยตนเองไปแล้ว

ท่ามกลางการผลักดันของทุกภาคส่วนหวังพุ่งชนเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม บรรดาบริษัทขนส่งด่วนต่างๆที่ยุคปัจจุบันแข่งขันกันอย่างดุเดือด และถือว่าเป็นยุคทองของธุรกิจนี้ท่ามกลางการเติบโตแบบก้าวกระโดดตามแรงโน้มถ่วงของธุรกิจอีคอมเมิร์ซบูมสุดขีด และหน้าตักมีศักยภาพเพียงพอที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้สอดรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีโลกยุคดิจิทัล

หลายค่ายขนส่งด่วนเริ่มขยับตัวด้วยการนำร่องใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้านำส่งสินค้าและบริการในหลายพื้นที่บ้างแล้ว ทั้งนี้ เพื่อรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีโลกด้วยการใช้พลังงานสะอาด เพื่อช่วยลดปัญหาการใช้เชื้อเพลิง ประหยัดพลังงาน-เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาการปล่อยมลพิษทางเสียง-อากาศ และที่สำคัญเป็นการช่วยลดต้นทุนการขนส่งไปในตัวอีกด้วย

ปณท นำส่งด้วยจยย.ไฟฟ้า นำร่องหลักสี่-ธัญบุรี

เริ่มจากขาใหญ่แห่งวงการอย่างไปรษณีย์ไทยโดยนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า การเดินทางและการคมนาคมขนส่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดมลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปรษณีย์ไทยตระหนักถึงความสำคัญของการนำพลังงานสะอาดใช้งานเพื่อเป็นส่วนหนึ่งเพื่อลดมลพิษ จึงได้นำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้ในการนำจ่ายสิ่งของ ซึ่งเป็นรถพลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถควบคุมได้ด้วยระบบดิจิทัล มีระบบรักษาความปลอดภัยในการขับขี่ สามารถขับขี่ความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะทางถึง 120 กิโลเมตรต่อการชาร์ตแบตเตอรี่หนึ่งครั้ง โดยจะนำร่องใช้งานแล้ว ณ ไปรษณีย์หลักสี่ และไปรษณีย์ธัญบุรี

“ไปรษณีย์มีแผนเพิ่มจำนวนการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวอีกจำนวนหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งในปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา ยังได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ในการนำยานยนต์ไฟฟ้าทดสอบใช้งานนำจ่ายเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานสะอาดและยั่งยืน”

กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปณท ระบุอีกว่าขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างดำเนินการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในความร่วมมือศึกษาวิจัยประยุกต์เทคโนโลยีเพื่อการประหยัดพลังงานไฟฟ้าโซลาร์ รูฟ ในการนำร่องนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ร่วมกับพลังงานไฟฟ้า

“ที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยยังร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ศึกษาการบริหารจัดการพลังงานด้วยระบบดิจิทัลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อนำพลังงานสะอาดมาใช้ภายในอาคารสำนักงาน ศูนย์ไปรษณีย์ และที่ทำการไปรษณีย์อีกด้วย รวมถึงการศึกษาและทดสอบการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า – รถยนต์บรรทุกไฟฟ้าสำหรับขนส่งในกิจการของไปรษณีย์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนให้กับผู้ใช้บริการและสังคมไทย”

“เคอรี่”นำร่องใช้จยย.ไฟฟ้า รับ-ส่งพัสดุ ในกรุงเทพฯ

ขณะที่เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ก็ไม่ยอมน้อยหน้ารุกเปิดตัวโครงการ “Kerry Express Grow Green” ทดลองใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในการจัดส่งพัสดุ โดยเฟสแรกจะเริ่มต้นใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อมของบริษัท และแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เน้นการดำเนินธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นแบบอย่างให้ภาคอุตสาหกรรม

นายอเล็กซ์ อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในเฟสแรกจะนำรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาใช้ในศูนย์กระจายสินค้าของเคอรี่ในเขตกรุงเทพฯ เป็นเวลา 4 เดือน เพื่อศึกษา และเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงานต่อระยะทางในการขับขี่ ตลอดจนการซ่อมแซมและบำรุงรักษา โดยนำมาคำนวณจากรถจักรยานยนต์กว่าพันคันของเคอรี่ที่ใช้ในการให้บริการอยู่บนท้องถนนในปัจจุบัน เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงให้เหมาะสมกับธุรกิจ และนำไปสู่การนำมาใช้งานจริงในระยะยาว

“เราคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมารถมอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้ามีข้อจำกัดเรื่องระยะทางในการขับขี่ การชาร์จแบตเตอรี่ และค่าใช้จ่ายในการครอบครอง ทำให้ไม่เป็นที่นิยม แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทำลายข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมกัน”

แฟลช เอ็กซ์เพรส ก้าวสู่ “Green Logistics”

ขณะที่แฟลช เอ็กซ์เพรส ค่ายขนส่งด่วนที่มาแรงก็ก้าวสู่การเป็น “Green Logistics” วางเป้าหมายอยู่ร่วมสังคมไทยอย่างยั่งยืน เปิดตัว “มอเตอร์ไซต์ไฟฟ้ารับ-ส่งพัสดุภายใต้โครงการ “Flash Power Swap Station by AP Honda”จับมือ “PTT OR – เอ.พี.ฮอนด้า เตรียมทดสอบ 3 เดือนในพื้นที่กรุงเทพฯ หวังลดต้นทุนด้านพลังงานกว่า 50% ในระยะยาว

นางจรัสพักตร์ การปลื้มจิตต์ พาร์ทเนอร์กลุ่มธุรกิจ แฟลช (FLASH GROUP) ผู้ให้บริการขนส่งพัสดุสัญชาติไทยแบบครบวงจร กล่าวว่า ปัจจุบันนอกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และส่งผลทำให้ทุกคนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาด้านมลภาวะทางอากาศ หรือฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่มีอันตรายต่อสุขภาพ และเคยสร้างปัญหากระทบกับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ และประชาชนในหลายพื้นที่มาแล้ว ด้วยปัจจัยดังกล่าว แฟลช เอ็กซ์เพรส จึงวางทิศทางสู่การเป็น Green Logistics”หรือดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจึงเปิดตัวโครงการ

“Flash Power Swap Station by AP Honda” นำรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาทดสอบวิ่งรับ-ส่งพัสดุภายในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อเก็บข้อมูลมาศึกษา วิเคราะห์ และนำไปพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมแก่ภาคธุรกิจขนส่งก่อนก้าวไปสู่การใช้งานจริงต่อไป”

นางจรัสพักตร์ ย้ำว่าโครงการดังกล่าวนับเป็นความร่วมมือของ 3 บริษัท ทั้งบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ,บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด และแฟลช เอ็กซ์เพรส ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบที่นำร่องการใช้พลังงานสะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลให้สุขภาพของคนไทยดีขึ้นแล้วนั้น ยังเป็นการใช้พลังงานที่ลดน้อยลง โดยสิ่งนี้จะสามารถช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจขนส่งด้านการใช้พลังงานให้สามารถลดลงได้มากกว่า 50%

แกร็บ นำร่อง 50 คันในพื้นที่กทม.-ปริมณฑล

ปิดท้ายกับแกร็บ ผู้นำซูเปอร์แอปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผนึกกำลังกับซแว็ก อีวี (SWAG EV) ผู้นำด้านนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมเปิดตัวโครงการ “Grab Green Wheels X SWAG: รถพลังงานสะอาด ปราศจากมลพิษ”โครงการนำร่องมุ่งส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในการให้บริการจัดส่งอาหารผ่านแกร็บฟู้ด (GrabFood) เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและลดมลพิษบนท้องถนน เดินหน้าทดลองใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 50 คันในกลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับแกร็บในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อเป็นทางเลือกในการให้บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษารถ ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 100 ตันภายใน 1 ปี

นางสาวเมธิณี อนวัชกุล ผู้อํานวยการธุรกิจแกร็บไบค์และศูนย์อบรมสาขาย่อย แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยว่าแกร็บ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้คนในสังคมภายใต้พันธกิจ Grab For Good หรือ แกร็บ…เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

 “ความร่วมมือระหว่างแกร็บและ ซแว็ก อีวี ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของเราในการส่งเสริมความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการนำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศมาใช้ในบริการรับ-ส่งอาหารของเรา ซึ่งเป็นบริการที่เข้าถึงชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ทั้งยังช่วยลดภาระด้านค่าจ่ายและยกระดับการให้บริการของพาร์ทเนอร์คนขับแกร็บฟู้ด โดยคาดว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษารถจักรยานยนต์ได้ถึง 50% เมื่อเทียบกับรถจักรยานยนต์ทั่วไป”

บางจากเปิดตัวสตาร์ทอัพ “Winnonie”นำร่องให้วินเช่าจยย.ไฟฟ้า

ขณะที่บางจากฯก็ลุยเปิดตัวสตาร์ทอัพ “Winnonie” นำนวัตกรรมพลังงานสีเขียวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาให้วินมอเตอร์ไซค์เช่า หวังลดภาระผ่อนค่ารถและค่าน้ำมัน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตวินมอเตอร์ไซค์ นำร่องพื้นที่รอบ สนง.ใหญ่และโรงกลั่นเป็นเวลา 3 เดือน ก่อนขยายผลไปสู่พื้นที่รอบ กทม.

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เปิดเผยว่าโครงนี้จะทดลองนำร่องให้ผู้ประกอบอาชีพวินมอเตอร์ไซค์ในพื้นที่รอบสำนักงานใหญ่และโรงกลั่นบางจากเช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าวันละ 150 บาทเพื่อให้บริการ จำนวนเริ่มต้น 10 คัน โดยบริษัทจะศึกษาข้อมูลเป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา หากผลออกมาดีก็จะมีการขยายจำนวนมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้บริการในพื้นที่กว้างขึ้นรอบกรุงเทพฯ

“สำหรับแบตเตอรี่ในรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าวิ่งได้ 50-70 กิโลเมตร ก็ต้องมาเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ในรูปแบบ swapping ซึ่งสามารถนำแบตเตอรี่เปลี่ยนได้ที่ตู้สำหรับแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก ในอนาคตจะมีการตั้งตู้เปลี่ยนแบตเตอรี่ตามร้านค้าต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแบตเตอรี่หมดระหว่างทาง”

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า “Winnonie” เป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริมนวัตกรรมภายในองค์กร “The Intrapreneur – ปั้นคนในให้เป็นเถ้าแก่” สนับสนุนให้พนักงานบริษัทนำหลัก design thinking มาใช้ในการคิดแนวการทำธุรกิจ จัดขึ้นโดยสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ หรือ BiiC ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนา และแสวงหาธุรกิจใหม่ๆ ที่ใช้นวัตกรรมต่อยอดขยายธุรกิจพลังงานสีเขียวและธุรกิจด้านชีวภาพทั้งใน และนอกประเทศ

“กลุ่มพนักงานที่เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ได้ทำการศึกษาการประกอบอาชีพและการใช้ชีวิตของผู้ประกอบการรถวินมอเตอร์ไซค์ที่มีรายได้เฉลี่ยวันละ 500-600 บาท/วัน แต่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ซึ่งกว่า 60% เป็นค่าใช้จ่ายในการผ่อนรถและค่าน้ำมัน ทำให้มีเงินเหลือไม่มาก ดังนั้น “Winnonie” จะช่วยลดภาระหนี้สินซึ่งถือเป็น pain point ของวินมอเตอร์ไซค์ ด้วยการนำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาให้วินมอเตอร์ไซค์เช่า ลดภาระดอกเบี้ยทบต้นจำนวนมากจากการผ่อนรถที่ต้องซื้อมาประกอบอาชีพ และลดค่าน้ำมันด้วย จากการศึกษาพบว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการใช้น้ำมันประมาณ 10 เท่า”

ทั้งหมดคือการนำร่องของภาคเอกชนกับการผลักดันองค์กรให้เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม หวังลดปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิง ปัญหามลพิษ-สิ่งแวดล้อม ลดต้นทุน และรับเทรนด์เทคโนโยลีโลกด้านพลังงานสะอาด พุ่งชนเป้าหมายการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้

ทว่า กว่าจะถึงฝั่งฝันอย่างราบรื่นหรือไม่นั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะแรงส่งจากภาครัฐกับการสนับสนุนให้เกิดความพร้อมในทุกมิติต่อการเบ่งบานรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีโลก ที่ดูเหมือนว่าทุกสายตาจับจ้องและตั้งคำถามไปที่ภาครัฐว่ายังไม่สามารถเดินเครื่องสนับสนุนอย่างเต็มกำลังอย่างที่ควรจะเป็น

จริงหรือไม่จริง?รัฐก็รู้สังคมก็เห็น!