ผลประกอบการบางจากฯหลังผ่าน 9 เดือนแรกปี 64 มีกำไร 5,868 ล้านบาท เฉพาะไตรมาส 3 มีกำไร 1,820 ล้านบาทจากปัจจัยหนุนทางเศรษฐกิจฟื้นตัวและราคาน้ำมันโลก รับรู้รายได้จากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม OKEA ที่นอร์เวย์ วางแผนก้าวสู่องค์กรยั่งยืน 100 ปี เร่งรัดการลงทุนเป็นมิตรกับโลก สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่าน Carbon Markets Club ตั้งเป้าเป็นกลางทางคาร์บอนในปี2030 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี2050 ลุยพัฒนารูปแบบธุรกิจ non-oil ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคปัจจุบัน เน้นความสำคัญการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของผู้มี สวนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่คงดำเนินอยู่
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท บางจากฯ งวด 9 เดือนแรกของปี 2564 ว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 132,655 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 และมี EBITDA 16,537 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 1,121 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (จากการเปลี่ยนวิธีการบันทึกเงินลงทุนใน OKEA จากบริษัทร่วมเป็นบริษัทย่อย) รวมถึงได้รับปัจจัยหนุนด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมัน หลังจากมีความคืบหน้าในการ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 66.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 24.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือ ร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ มี Inventory Gain 5,159 ล้านบาท นอกจากนี้ ธุรกิจโรงกลั่นมีค่าการกลั่นพื้นฐานทรงตัวในทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้น และได้ปรับเพิ่มกำลังการกลั่นและเพิ่มสัดส่วนการผลิต UCO (Unconverted Oil) อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยหนุนค่าการกลั่น
“กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้ามีผลการดำเนินงานดีขึ้นจากปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น โดยหลักมาจากธุรกิจ ผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาว ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในอินโดนีเซีย และธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย ขณะที่ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจการตลาดและกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับลดลงอย่างมาก อีกทั้งค่าการตลาดรวมสุทธิยังอยู่ในระดับต่ำ จากการที่บริษัทฯ ไม่สามารถปรับราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการให้เหมาะสมกับต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปและราคาผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซล (B100) ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด”
ปลื้ม!ผ่านQ3ฟันกำไร5,868ล้าน
นายชัยวัฒน์ ระบุต่อว่าผลการดำเนินงานได้รวมผลของการเปลี่ยนวิธีการบันทึกเงินลงทุนใน OKEA จากบริษัทร่วมเป็นบริษัทย่อย ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดย EBITDA ของ OKEA ที่รวมอยู่ในงบการเงินรวมมีจำนวนประมาณ 3,000 ล้านบาท อีกทั้งมีผลจากการกลับรายการด้อยค่าเงินลงทุนใน OKEA 400 ล้านบาท และมีกำไรจากการปรับปรุงมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) (UBE) 616 ล้านบาท เนื่องจาก UBE เสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรกของปี 2564 มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 181 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 4.05 บาท
“สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 47,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และมี EBITDA 7,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 76 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนวิธีการบันทึกเงินลงทุนใน OKEA และมี Inventory Gain 1,386 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานได้รับผลกระทบจากกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันที่มีค่าการกลั่นพื้นฐานปรับลดลง จาก Crude Premium อ้างอิงกับน้ำมันดิบเดทเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งกลุ่มธุรกิจการตลาดมีค่าการตลาดรวมสุทธิและปริมาณการจำหน่ายที่ปรับลดลง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม”
เฉพาะ Q3 กำไร1,820 ล้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3
นายชัยวัฒน์ เผยถึงกำไรในไตรมาส3นี้ว่า มีการบันทึกกำไรจากการปรับปรุงมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน UBE ส่งผลให้ ไตรมาสนี้มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 1,820 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.25 บาท โดยมีผลการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจเป็นดังนี้
1. กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน
ผลการดำเนินงานปรับลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 212 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่ยังคงปรับเพิ่มขึ้นและค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ในไตรมาสนี้ธุรกิจ โรงกลั่นมี Inventory Gain 1,261 ล้านบาท
ปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิต UCO (Unconverted Oil) เพื่อช่วยหนุนค่าการกลั่น และรองรับความต้องการผลิตภัณฑ์ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยในไตรมาสนี้ ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 111,400 พันบาร์เรลต่อวัน หรือ คิดเป็น ร้อยละ 93 ของกำลังการผลิตรวม
2. กลุ่มธุรกิจการตลาด
ผลการดำเนินงานปรับลดลงร้อยละ 32 และ 27 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม โดยมีส่วนแบ่งการตลาดด้านปริมาณการจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการสะสมเดือนมกราคม – กันยายน 2564 อยู่ที่ร้อยละ 16 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 15.6 สามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดในอันดับ 2 (ข้อมูลกรมธุรกิจพลังงาน)
ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Chargers) ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก 40 สถานี ให้บริการใน 27 จังหวัดทั่วประเทศ และมุ่งขยายธุรกิจ Non-Oil โดย ณ สิ้นไตรมาส มีร้านกาแฟอินทนิล 739 สาขา และมีร้านชานมไข่มุก DAKASI 12 สาขาและพัฒนาธุรกิจ “บางจาก Food Truck” ณ สิ้นไตรมาส มี 5 สาขา
3. กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า โดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG
ผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 และ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากปริมาณจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้น จาก สปป.ลาวที่ปรับเพิ่มขึ้น และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม 150 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ในประเทศอินโดนีเซีย
บริษัท Impact Energy Asia Development Limited (IEAD) บริษัทร่วมของบีซีพีจีฯ ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ Vietnam Electricity กำลังการผลิตตามสัญญา 600 เมกะวัตต์ ที่ชายแดน สปป.ลาว-เวียดนาม อายุสัญญา 25 ปี
ออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) มูลค่า 12,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดหาเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้เป็นครั้งแรก
4. กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI
ผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 201 และ 128% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการรับรู้กำไรจากการเปลี่ยนสถานะเงินลงทุนใน UBE จากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเป็นเงินลงทุนทั่วไป เนื่องจาก UBE ได้ทำการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก
ธุรกิจไบโอดีเซล ได้รับผลกระทบจากปริมาณการจำหน่าย B100 ที่ปรับลดลง แต่กำไรขั้นต้นใกล้เคียงกับ ไตรมาสก่อน ส่วนธุรกิจเอทานอล กำไรขั้นต้นปรับลดลงร้อยละ 48 และ 82 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณการจำหน่ายเอทานอลที่ปรับลดลง ในขณะที่ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มูลค่าสูง (High Value Products (HVP) ได้เริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ สู่ผู้บริโภคโดยตรงภายใต้แบรนด์ B Nature Plus
ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนรวมไม่เกิน 216.60 ล้านหุ้น คิดเป็น 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดในครั้งนี้ มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 5.00 บาท
5. กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ
รับรู้กำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัท BCP Energy International Pte. Ltd. (BCPE) 122 ล้านบาทมี EBITDA ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 158 และ 622 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จากการขายน้ำมันดิบและก๊าซปรับเพิ่มขึ้นโครงการ YME เริ่มการผลิตในเดือนตุลาคม 2564 ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งด้านกำลังการผลิตและกระแสเงินสดให้กับ OKEA โดยในปีแรกจะเพิ่มกำลังการผลิตให้กับ OKEA 5,600 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2564 จะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 15,500 – 16,500 บาร์เรลต่อวัน
พร้อมก้าวสู่องค์กร 100 ปี ที่แข็งแรงและมั่นคง
นายชัยวัฒน์ ย้ำปิดท้ายว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายลงจากการเร่งฉีดวัคซีน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อทยอยปรับลดลง บริษัท บางจากฯ ได้ปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบ Hybrid Workplace ให้พนักงานสามารถทำงานแบบผสมผสานกันระหว่างการปฏิบัติงานที่บ้านและสำนักงาน เพื่อความกระชับ คล่องตัว ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ โดยยังคงให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน ลูกค้า จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้มีพนักงานที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วในอัตราสูง รวมทั้งจัดหาวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และการพ่นฆ่าเชื้อที่สำนักงานเป็นประจำ จัดรถตรวจคัดกรองเชื้อ โควิด-19 เคลื่อนที่ (Antigen test mobile unit) ให้กับพนักงานบางจากและในกลุ่มทุกสัปดาห์ รวมถึงพนักงานในสถานีบริการน้ำมันฯ และร้านกาแฟอินทนิลเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคเมื่อเข้ามาใช้บริการ
“พร้อมกันนี้ ยังได้มีการจัดทำแผนกลยุทธ์และปรับองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอกับการดำเนินธุรกิจและแผนการลงทุน และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ประสบความสำเร็จในการออกและเสนอขายหุ้นกู้มูลค่า 7,000 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ มีความพร้อมและสามารถตั้งรับกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีขึ้น พร้อมก้าวสู่องค์กร 100 ปี ที่แข็งแรงและมั่นคง”