สรท.หวังสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนคลี่คลายเร็ว แนะรัฐช่วยผู้ประกอบการลดผลกระทบ

0
63

สรท.ประเมินสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนอาจมีผลกระทบเศรษฐกิจโลก-ไทยโดยเฉพาะต้นทุนภาคการผลิตทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น หวังสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อบานปลายภายใน3เดือนคาดส่งออกไทยปี65ยังโตได้ที่ร้อยละ 5 แนะ 4 แนวรัฐช่วยผู้ประกอบการลดผลกระทบ

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยหลังแถลงข่าวส่งออกไทยว่าสรท.ติดตามและประเมินผลกระทบจากการสู้รบระหว่างรัสเซีย–ยูเครน และมาตรการตอบโต้ด้านการค้าและการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งคาดการณ์เบื้องต้นว่าอาจมีผลกระทบต่อทั้วงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของต้นทุนภาคการผลิต ทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เหล็ก ธัญพืช เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอาจส่งผลให้คำสั่งซื้อจากคู่ค้าลดลงบางส่วน

สรท.ประเมินในเบื้องต้นว่าหากสถานการณ์การสู้รบไม่ยืดเยื้อบานปลายหรือขยายวงกว้างไปมากกว่านี้และสามารถเจรจาหาข้อยุติได้ภายในสามเดือน การส่งออกของไทย ปี 2565 คาดว่าจะยังเติบโตได้ที่ร้อยละ 5 (ณ มีนาคม 2565) โดยคาดว่าสถานการณ์ส่งออกในไตรมาสแรกจะสามารถเติบโตได้ที่ร้อยละ 7-8 เนื่องจากมีการยืนยันคำสั่งซื้อไว้แล้วล่วงหน้า แต่หากสถานกาณ์ยังคงยืดเยื้ออาจกระทบต่อการส่งออกในไตรมาสสอง โดยอาจมีคำสั่งซื้อลดลงประมาณ 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ อาทิ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องปรับอากาศ)

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยไปรัสเซียในปี 2564 มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 0.38 ของมูลค่าการส่งออกไทยไปยังทั่วโลก หรือประมาณ 1,028 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มูลค่าการส่งออกไทยไปยูเครนในปี 2564 มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 0.05 ของมูลค่าการส่งออกไทยไปยังทั่วโลก หรือประมาณ 134.76 ล้านเหรียญสหรัฐ และ สรท. คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 100-105 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ข้อเสนอแนะของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

1) เพื่อเตรียมรับมือต่อความผันผวนของตลาดเงินทั่วโลกที่อาจเกิดจากกรณีพิพาท สรท. ขอให้รักษาเสถรียภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในกรอบ 32.5-33.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

1.1) กรณีการชำระเงินระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการส่งออกควรต้องขอให้ชำระเงินก่อนส่งมอบสินค้าเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงระดับหนึ่ง

2) เพื่อรับมือต่อการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทุน สรท. ขอให้รัฐพิจารณาอนุญาตการปรับขึ้นราคาสินค้าได้ตามสัดส่วนราคาต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงอย่างแท้จริงทั่วโลก เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตที่มีความผันผวนในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น

3) เร่งมองหาช่องทางเปิดตลาดเพิ่มเติมทดแทนกลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอคำสั่งซื้อจากกลุ่มประเทศกรณีพิพาท หากการสู้รบขยายเป็นวงกล้างและมีความยืดเยื้อมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป

4) ขอให้ภาครัฐพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยอ้างอิงจากปัจจัยการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก และขอให้พิจารณาปรับขึ้นแบบค่อยเนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการมีต้นทุนแรงงานที่ค่อนข้างสูง