เปิดสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ เชื่อมการเดินทาง ลดปัญหาจราจร

0
38

นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทางราง เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการให้มีมาตรฐานทัดเทียมในระดับนานาชาติ กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบราง เปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกลที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ในวันนี้ เพื่อลดความแออัดในการให้บริการของสถานีกรุงเทพหรือหัวลำโพง และลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครบริเวณจุดตัดทางรถไฟ รวมถึงลดปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อม PM 2.5 นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถไฟให้มีความตรงต่อเวลามากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความสะดวก สบาย ปลอดภัย ตรงต่อเวลา ในราคาที่เหมาะสม และเป็นธรรม สามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ในทุกมิติ ทั้งด้านการเดินทางขนส่ง การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและศูนย์กลางระบบขนส่งแห่งใหม่ของประเทศไทย โดยหลังจากเปิดให้บริการแล้วกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้การรถไฟฯ กรมการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางราง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ติดตามและประเมินผล การให้บริการขบวนรถไฟทางไกล เพื่อปรับปรุงการให้บริการให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก่พี่น้องประชาชนต่อไป

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ขบวนรถไฟทางไกล ในเส้นทางสายเหนือ สายใต้ สายตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว จำนวน 52 ขบวน ประกอบด้วย สายเหนือจำนวน 14 ขบวน สายใต้จำนวน 20 ขบวน สายตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 18 ขบวน มาให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของประเทศไทย ที่พัฒนาและยกระดับให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางราง มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทางอย่างครบครัน สามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนทุกรูปแบบ พร้อมทั้งช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร

สำหรับขบวนรถไฟทางไกลประเภทรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว ทั้งสายเหนือ สายใต้ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เปิดให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป จำนวน 52 ขบวน ประกอบด้วย

• รถไฟสายเหนือ จำนวน 14 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถที่ 7/8,  9/10, 13/14, 51/52, 109/102, 107/112, 111/108

• รถไฟสายใต้ จำนวน 20 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถที่ 31/32, 37/38, 39/40, 43/44, 45/46, 83/84, 85/86, 167/168, 169/170, 171/172

• รถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 18 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถที่ 21/22, 23/24, 25/26, 71/72, 75/76, 133/134,  135/136, 139/140, 141/142

การรถไฟฯ คาดการณ์ว่า ภายหลังการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล จะส่งผลให้มีผู้ใช้บริการสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 คนต่อวัน ซึ่งการรถไฟฯ ได้มีมาตรการรองรับและมีความพร้อมในการให้บริการแก่ผู้โดยสารรถไฟทางไกล ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งป้ายบอกทาง จุดพักคอยผู้โดยสาร รถเข็นสัมภาระ ลานจอดรถที่สามารถรองรับได้มากกว่า 1,700 คัน รวมถึงการเชื่อมต่อกับระบบ ขนส่งมวลชนอื่น ๆ ได้แก่ รถไฟชานเมืองสายสีแดง รถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล และในอนาคตจะเชื่อมต่อการเดินทางทางอากาศผ่านระบบรถไฟความเร็วสูง เชื่อมสามสนามบิน นอกจากนี้ได้ร่วมกับ ขสมก.

จัดรถ Shuttle Bus ให้บริการรับส่งผู้โดยสารฟรี เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตั้งแต่เวลา 04.30 – 23.00 น. เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

จากนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ทำพิธีปล่อยขบวนเร็วที่ 171 กรุงเทพ – สุไหงโกลก ซึ่งเป็นขบวนรถไฟทางไกลเป็นเที่ยวปฐมฤกษ์ เพื่อแสดงสัญลักษณ์การเปลี่ยนสถานีต้นทาง – ปลายทางมาเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ร่วมโดยสารไปกับขบวนรถ KIHA พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และสื่อมวลชน เดินทางไปยังจุดหยุดรถมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต เพื่อพัฒนาให้เป็นชมจุดเชื่อมต่อการเดินทางของนักศึกษา และประชาชนในบริเวณใกล้เคียง โดยให้มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างการรถไฟฯ ขสมก. กรมการขนส่งทางบก

ท้ายนี้การรถไฟฯ เชื่อมั่นว่า การปรับเปลี่ยนสถานีต้นทาง – ปลายทางของรถไฟทางไกลมาให้บริการแก่ประชาชนที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จะช่วยให้การคมนาคมขนส่งทางรางมีความสะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา สามารถเข้าถึงการบริการได้ง่าย ลดปัญหาจราจรติดขัดอันเนื่องมาจากจุดตัดทางรถไฟ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะดำเนินการพัฒนาศูนย์กลางการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีบริการทั้งรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูง ที่พร้อมเชื่อมโยงทุกจุดหมายทั่วประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเพิ่มขีดสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน