คค.พอใจ!ระบบขนส่งสาธารณะ บก น้ำ ราง และอากาศช่วงสงกรานต์ ยันไม่มีผดส.ตกค้าง

0
35

กระทรวงคมนาคม สรุปผลการดำเนินงานตามแผนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 11 – 17 เมษายน 2566 สามารถจัดบริการระบบขนส่งสาธารณะทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศได้อย่างเพียงพอ ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง พบการเดินทางประชาชนเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ใกล้เคียงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562 โดยมีการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมากกว่า 16 ล้านเที่ยว เพิ่มขึ้น 84.49% จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนโครงข่ายทางหลวงและทางหลวงชนบท ลดลง 3.68%

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมสรุปผลการดำเนินงานตามแผนอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดเข้าร่วมประชุม ในวันที่ 20 เมษายน 2566 ผ่านระบบการประชุมทางไกล Video Conference

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้รายงานผลการดำเนินงานตามแผนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2566 ตามมาตรการ “เดินทางสะดวก ปลอดภัย ห่างไกล COVID-19” ซึ่งได้บูรณาการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอย่างเพียงพอ เข้าถึงง่าย ไม่ล่าช้า ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง รวมทั้งบริหารจัดการจราจรให้มีความคล่องตัว ไม่ติดขัด จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บบนโครงข่ายคมนาคมลดลง สรุปผลการดำเนินงานตามแผนฯ ดังนี้

มาตรการอำนวยความสะดวกการเดินทาง ได้เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของประชาชนทั้งในส่วนของรถยนต์ส่วนบุคคลและระบบขนส่งสาธารณะ บริหารจัดการจราจรให้มีความคล่องตัว ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษและมอเตอร์เวย์ วางแผน จัดเตรียม และเพิ่มจำนวนขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ ให้บริการจุดพักรถและจุดตรวจสภาพรถ ข้อมูลข่าวสารการจราจร แนะนำเส้นทางลัด เส้นทางเลี่ยง รายงานสภาพการจราจรแบบ Real Time จัดเจ้าหน้าที่ประจำสถานีขนส่งผู้โดยสาร รถไฟ รถไฟฟ้า และท่าเรือที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนวางแผนการเดินทางล่วงหน้า เพื่อกระจายการเดินทางและเหลื่อมเวลาการเดินทางเข้า – ออกกรุงเทพฯ ตามมาตรการ “บ้านใกล้ออกทีหลัง – กลับไว บ้านไกลออกไว – กลับทีหลัง” และการลดราคาค่าโดยสารรถโดยสารสาธารณะของบริษัท ขนส่ง จำกัด 10% เมื่อจองตั๋วการเดินทางล่วงหน้า ซึ่งพบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถลดความแออัดของปริมาณการเดินทางบนถนนสายหลักได้เป็นอย่างดี การจราจรมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยปริมาณการจราจรบนถนนลดลงจากเดิม 10.80% (เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562)

สำหรับสถิติการเดินทางของประชาชนระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2566 พบว่า การเดินทางเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ใกล้เคียงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยมีการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะรวม 16,480,812 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 84.49% (เปรียบเทียบกับระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2565) แบ่งเป็น ทางถนน 6,802,927 คน-เที่ยว ทางราง 6,359,690 คน-เที่ยว ทางน้ำ 1,617,409 คน-เที่ยว และทางอากาศ 1,700,786 คน-เที่ยว ปริมาณการจราจรเข้า – ออกกรุงเทพฯ รวม 6,777,659 คัน เพิ่มขึ้น 1.56% และปริมาณการจราจรภายในกรุงเทพฯ (บนทางพิเศษ) 9,547,260 คัน เพิ่มขึ้น 9.75%

มาตรการอำนวยความปลอดภัย ป้องกัน และลดอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงฯ ได้ดำเนินมาตรการกำกับดูแลผู้ขับขี่รถสาธารณะ ตรวจสอบสภาพรถให้มีความพร้อม ปรับปรุงซ่อมแซมถนนให้อยู่ในสภาพดี การป้องกันปัญหาบริเวณจุดตัดทางรถไฟ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนโครงข่ายทางหลวงและทางหลวงชนบท ลดลง 3.68% โดยเกิดอุบัติเหตุทางถนน 1,317 ครั้ง เพิ่มขึ้น 2.73% มีผู้เสียชีวิต 183 ราย ลดลง 3.68% บาดเจ็บ 1,467 ราย เพิ่มขึ้น 16.71% สาเหตุของเกิดการอุบัติเหตุส่วนใหญ่ คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด 58.54% บริเวณที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ทางตรง 65.53% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ 49.20% จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 47 ครั้ง สำหรับระบบขนส่งสาธารณะ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะ 5 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ทางราง 2 ครั้ง ส่วนทางน้ำและทางอากาศไม่มีอุบัติเหตุ

กระทรวงฯ ได้กำกับดูแลให้เกิดความปลอดภัยอย่างเข้มงวดตามกฎหมายและมาตรฐานสากล ด้วยการตรวจความพร้อมของสถานี ยานพาหนะ และผู้ขับขี่ของการขนส่งสาธารณะอย่างเข้มข้นทุกวัน สำหรับการขนส่งทางบกและทางราง ได้ตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะ 96,990 คัน และพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ 96,990 คัน ตรวจความพร้อมผู้ปฏิบัติงานรถไฟ 722 คน ไม่พบข้อบกพร่อง ไม่พบสารเสพติด และแอลกอฮอล์ สำหรับการขนส่งทางน้ำ ได้ตรวจความพร้อมท่าเรือ 165 แห่ง ไม่ผ่าน 1 แห่ง และตรวจเรือ 6,761 ลำ พบข้อบกพร่อง 15 ลำ ตรวจพนักงานประจำเรือ 8,749 คน พบสารเสพติด 1 คน ซึ่งได้สั่งการให้เปลี่ยน/แก้ไขทันที

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะนำข้อมูลการให้บริการขนส่งสาธารณะและสถิติการเกิดอุบัติเหตุมาวิเคราะห์และถอดบทเรียนการดำเนินงาน เพื่อจัดทำแผนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลวันหยุดยาวให้เกิดประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางและถึงจุดหมายอย่างปลอดภัยสูงสุดต่อไป ในการนี้ นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบข้อร้องเรียนกรณีการจำหน่ายตั๋วโดยสารเกินราคาในระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถตู้โดยสาร รถโดยสารประจำทาง และการเดินทางทางอากาศ โดยให้ประชุมเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว