กสทช.อำนาจเสกได้?

0
130

เป็นอีกเคสที่กำลังทำเอาวงการสื่อสารโทรคมนาคมสุดเหวอ “งงเป็นไก่ตาแตก” !

กับเรื่องที่ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์  ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อวันวานกรณีที่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส หรือ AIS  รุกคืบเข้าซื้อกิจการ 3BB และหน่วยลงทุนในกองทุนรวมฯจัสมิน (JASIF) มูลค่ากว่า 32,000 ล้าน ตั้งแต่กลางปีก่อน หวังผงาดขึ้นเป็นเบอร์ 1 ด้าน “บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต” นั้น  

แม้ธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตจะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องคลื่นความถี่ ไม่ส่งผลต่อผู้เล่นในตลาดที่มีผู้ให้บริการละลานตา ใครใคร่เปิดให้บริการอย่างไรก็สามารถขอใบอนุญาตประกอบกิจการจาก กสทช. ได้ทุกเวลา ผิดแผกแตกต่างไปจากการประกอบกิจการโทรคมนาคมมือถือ และกรณีควบรวมธุรกิจของ “ทรู-ดีแทค” อย่างเห็นได้ชัด

แต่ กสทช. ก็ถือว่าเป็นกรณีควบรวมกิจการที่ต้องดำเนินการบนบรรทัดฐานเดียวกัน โดยต้องตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ขึ้นวิเคราะห์ผลกระทบโดยรอบด้าน ทั้งอนุกรรมการด้านกฎหมาย , ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง , ด้านเทคโนโลยี และอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งยังต้องเปิดเวทีรับฟังความเห็น หรือ โฟสกัส กรุ๊ป ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งยังต้องว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระทั้งในและต่างประเทศดำเนินการรวบรวมศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้านด้วยอีก

เรียกได้ว่า เจริญรอยตามกรณีดีลควบรวมกิจการ “ทรู -ดีแทค” ก่อนหน้านี้ทุกกระเบียดนิ้ว

ทั้งที่ดีลการเข้าซื้อกิจการ 3BB ของบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือ AIS แตกต่างกับกรณีดีลควบรวมทรู-ดีแทค แถมกรณีดังกล่าว ยังดำเนินการมาตั้งแต่กลางปี 65 แล้ว คล้อยหลังดีลควบรวมทรูและดีแทคไม่นาน โดยที่บริษัทมีการยื่นเอกสารหลักฐานแจ้งมายัง กสทช. ตั้งแต่ปีมะโว้นั่นแหล่ะ

แต่กลับเป็นเรื่องที่น่าแปลก ระยะเวลากว่า 7-8 เดือนที่ผ่านมา กสทช. กลับไม่เคยหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาดำเนินการแต่อย่างใด ยังคงเก็บงำแฟ้มเอกสารคำขอควบรวมหรือซื้อกิจการ 3BB ที่ว่าเอาไว้ ก่อนจะหันไปเร่งรัดปิดดีลควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” อย่างเอาเป็นเอาตาย

ก่อนจะได้บทสรุปดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์ทรูและดีแทคที่ทำเอาแวดวงสื่อสารโทรคมนาคมได้แต่ “อึ้งกิมกี่” กับบทสรุปดีลควบรวมแบบ “ม้วนเดียวจบ” ที่ทำเอาผู้คนในสังคมและแวดวงสื่อสารโทรคมนาคม ตลอดจนแวดวงวิชาการเต็มไปด้วยข้อกังขา เมื่อ กสทช. อ้างว่า การควบรวมธุรกิจในครั้งนี้ “ไม่ถือเป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน” กสทช. ”ไม่มีอำนาจพิจารณา” ทำได้เพียงการ “รับทราบ” มติควบรวมธุรกิจ  และทำได้แค่เพียงนำมาตรการเฉพาะ หรือมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น 

แต่พอมาถึงกรณีดีลซื้อกิจการ 3BB ของ AWN ในเครือเอไอเอส ที่พิจารณาเงื่อนปมธุรกิจให้ตายยังไงก็ไม่เหมือนกรณีควบรวมค่ายมือถือ เพราะไม่ก่อให้เกิดการผูกขาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดลงจนอ่าจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเอาได้นั้น ไม่เพียง กสทช.จะ “ดองเค็ม” แฟ้มคำขอ AWN และ 3BB เอาไว้ร่วมปี แถมยังลุกขึ้นมาตรวจสอบและยืนยันว่า ตัวเองมีอำนาจที่จะพิจารณาดีลควบรวมกิจการที่ว่านี้อย่างถึงพริกถึงขิงขึ้นมาซะงั้น!!!

คงต้องย้อนถามกลับไปยัง กสทช. อีกครั้ง ให้ช่วยหาเหตุผลที่ต้องกระเบรกสั่งระงับดีลควบรวมกิจการ AIS-3BB อย่างถึงพริกถึงขิงในครั้งนี้มาสัก3 ข้อทีว่ามีอะไรบ้าง ทำไมจู่ ๆ กสทช. กลับเสกหรือ“มีอำนาจ” ในการพิจารณาดีลซื้อกิจการหรือถือครองธุรกิจในกิจการ “บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต” นี้ขั้นมาได้

แถมยังตั้งแท่นจะไล่เบี้ย ตรวจสอบกันอย่างถึงพริกถึงขิงเอาได้ มันเหมือนหรือแตกต่างกันตรงไหนเอาปากกามาวง???!!! หรือแค่อยากจะ “ผลาญงบ” ดำเนินการศึกษา จัดเวทีโฟกัส กรุ๊ป หรือจัดตั้งอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบอะไรต่อมิอะไรที่นัยว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายกันเป็นสิบล้าน ร้อยล้าน เพียงเพื่อจะได้ “ถอนแค้น-แก้ลำ” บริษัทสื่อสาร ที่เคยลุกขึ้นมากระตุกเบรก กสทช. ต่อกรณีพิจารณาไฟเขียวดีลควบรวมครั้งประวัติศาสตร์ก่อนหน้า

เห็นแล้วก็ให้นึกถึงชะตากรรมของ “ว่าที่นายกฯ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดทนายกฯ “ด้อมส้ม” ที่กำลังถูกอำนาจเก่าสุมหัวเตะสกัดขาเส้นทางเดินสู่ทำเนียบรัฐบาล โดยเฉพาะกับการขุดปม “หุ้นไอทีวี” สื่อสาธารณะในอดีตออกมาขย่มตอเป็นรายวันอยู่ในขณะนี้เสียจริง

แม้เจ้าตัวจะยืนยัน นั่งยันว่า ถือไว้ในฐานะผู้จัดการกองมรดก และได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า สถานะของไอทีวีนั้นไม่มีอยู่แล้ว บริษัทถูกสำนักนายกฯ บอกเลิกสัญญาสัมปทาน ยึดกิจการไปแล้วตั้งแต่ปีมะโว้ 

แต่เมื่อบริษัทยังคงมีตัวตนไม่ได้ยุบเลิกกิจการสะสางบัญชีไป เลยกลายเป็นช่องโหว่ที่ กกต.หยิบยกขึ้นมาไล่เบี้ยว่าที่นายกฯ ชนิดเตรียมจัดหนัก “เต็มคาราเบล” ด้วยข้อหาฝ่าฝืนมาตรา 42(3) และมาตรา 151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะกฎหมายกำหนดเอาไว้ชัดเจนห้ามถือหุ้นสื่อ (จะหุ้นเดียวหรือกี่หุ้นก็ตาม) เมื่อรู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามแต่ยังฝ่าฝืน โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปีปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และยังอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปีด้วย

แถมยังตั้งแท่นดำเนินคดีนี้แบบมีเลศนัย เพราะแทนที่จะรวบรวมคำร้องและเอกสารคำชี้แจงยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามหรือไม่ กกต.กลับค้ำถ่อไปเล่นงานกรณีจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 42(3)และ ม.151 ซึ่งเป็นคดีอาญามีโทษหนักถึงขั้นติดคุกและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไปเลย 

จนทำให้ผู้คนในสังคมตั้งข้อกังขา กกต.รับใบสั่งใครมาหรือไม่?