รมช.คมนาคม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่ รฟฟท. พร้อมเดินหน้านโยบาย Quick Win สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้บริการ

0
35

วันที่ 25 ตุลาคม 2566 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายการดำเนินงานของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” โดยมี นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ คณะผู้บริหาร และพนักงานให้การต้อนรับ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ซึ่งถือเป็นโครงการ Quick Win ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีการนำร่องด้วยรถไฟฟ้า 2 สาย คือ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ทั้ง 2 เส้นทาง ได้แก่ สายธานีรัถยา ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีรังสิต และสายนครวิถี ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีตลิ่งชัน รวมระยะทาง 41 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 13 สถานี กับ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) รวมระยะทาง 23 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 16 สถานี และเร็วๆนี้ มีแผนต่อยอดนโยบายดังกล่าว ซึ่งผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงของ รฟม. สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงของ รฟฟท. ได้ที่สถานีบางซ่อน โดยใช้บัตร EMV Contactless ใบเดียวกันในการชำระค่าโดยสาร และเปลี่ยนถ่ายระบบภายในระยะเวลา 30 นาที โดยชำระค่าโดยสารทั้งสองสายรวมกันสูงสุดเพียง 20 บาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินการหลังจากธนาคารกรุงไทยพัฒนาเชื่อมต่อระบบ EMV Contactless แล้วเสร็จ คาดว่าจะเริ่มในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้

นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยเล็งเห็นว่า ระบบขนส่งทางรางในปัจจุบัน มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศเป็นอย่างมาก โดยได้รับมอบหมายจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เป็นผู้กำกับดูแลหน่วยงานด้านระบบรางทั้งหมด เพื่อเร่งผลักดันนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” เพิ่มศักยภาพระบบขนส่งทางราง  ของประเทศ ส่งเสริมในการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้กับการดำเนินภารกิจของหน่วยงานอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เป็นองค์กรที่มีความทันสมัย สามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ประชาชน รวมถึงเป็นฟันเฟืองหลักในการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ให้สามารถแข่งขันกับอาณาอารยประเทศได้ตามยุทธศาสตร์ ของกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นให้ระบบขนส่งทางราง มีความทันสมัย และคล่องตัว อีกทั้งยังได้เน้นย้ำให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ให้บริการประชาชนอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย รวมถึงมีความซื่อตรง โปร่งใส ตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาล มีการส่งเสริมให้บุคลากรนำหลักคุณธรรม และจริยธรรมมาใช้ในการดำเนินงาน และได้มอบหมายให้ รฟฟท. คำนึงถึงความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากบุคลากรในองค์กรนั้น มีความสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งนี้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด พร้อมขานรับนโยบาย Quick Win โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญแบ่งออกเป็น  2 ด้าน ได้แก่

ด้านที่ 1 ด้านการให้บริการประชาชน

โดยดำเนินงานตามหลักการ “Smile Service and Safety for Railway” คือ การให้บริการด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยรอยยิ้ม สร้างความสุขให้แก่ผู้ใช้บริการ เอาใจใส่ผู้ใช้บริการทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม รวมถึงมีการพัฒนามาตรฐานงานบริการ ควบคู่กับความปลอดภัยตามมาตรฐานระดับสากล เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการ ของประชาชนได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว ซึ่งโครงการดังกล่าว จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในด้านงานบริการให้แก่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด อีกทั้งจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้ผู้โดยสารเกิดความประทับใจ และเลือกมาใช้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเพิ่มมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทฯยังมีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษา และออกแบบจัดทำโครงการเชื่อมต่อการเดินทางเพื่อเพิ่มการเข้าถึง (Feeder) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้อย่างสะดวก โดยมีการดำเนินโครงการที่สำคัญ ดังนี้

1. โครงการเชื่อมต่อการเดินทางเพื่อเพิ่มการเข้าถึง (Feeder) รองรับผู้โดยสารที่เดินทางโดยรถไฟทางไกลจากจังหวัดนครปฐมสู่ใจกลางเมือง ด้วย Feeder ซึ่งเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ณ สถานีชุมทางตลิ่งชัน มายังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสามารถเดินทางต่อในเส้นทางสายธานีรัถยา ไปถึงสถานีรังสิตได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว

2. จัดทำแผนการดำเนินงานสนับสนุนการเดินทางด้วยระบบการขนส่งรอง ด้วยระบบ Feeder เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยจัดแผนการรองรับ 6 เส้นทาง ดังนี้

1. สถานีตลิ่งชัน –  ถนนบรมราชชนนี

2. สถานีตลิ่งชัน – บางหว้า

3. สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลาดนัดจตุจักร

4. สถานีหลักสี่ – ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

5. สถานีหลักหก – มหาวิทยาลัยรังสิต

6. สถานีรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

ทั้งนี้ รฟฟท. ยังคงเดินหน้าพัฒนาการเดินทางระบบการขนส่งรอง ด้วยระบบ Feeder อย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ทั้ง 13 สถานี ได้อย่างสะดวก และปลอดภัย

ด้านที่ 2 ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม

รฟฟท. มีแผนการติดตั้งระบบตรวจวัดอัจฉริยะแบบฝังตัวในขบวนรถไฟฟ้าเพื่อการบำรุงรักษาแบบแม่นยำสำหรับทางวิ่งและระบบไฟฟ้า (Embedded Smart Monitoring and Diagnostic System in On-Service Train for Predictive Maintenance of Redline Track and OCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีความทันสมัย ซึ่งร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยมีการฝังอุปกรณ์ตรวจวัดไว้ภายในขบวนรถไฟฟ้าที่ให้บริการ เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลด้านการสั่นสะเทือนของตัวรถ และนำมาเป็นข้อมูลสำหรับวางแผนการซ่อมบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมั่นได้ว่า รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง มีระบบการควบคุมการเดินรถที่มีความปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ พันธกิจและค่านิยมขององค์กร ที่มุ่งเน้นเรื่องการเดินรถไฟฟ้าที่มีความปลอดภัยในระดับสูงสุด

อีกทั้ง รฟฟท. ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาโครงการ Station Accessibility Development” เป็นการวางแนวทางการรองรับการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และการรองรับสังคมผู้สูงวัยที่กำลังจะเกิดขึ้น ตลอดจนกลุ่มผู้พิการที่ควรให้การดูแลเป็นพิเศษ และมุ่งแก้ไขในการรับมือกับปัญหาที่ส่งผลเสียต่อผู้โดยสารจากการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง การศึกษาในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล จากแบบโครงสร้างของสถานี และจำนวนผู้โดยสาร ที่เข้าใช้บริการจากภาพเคลื่อนไหวของกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การดูแลผู้พิการตลอดการเดินทาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการเดินทาง พร้อมเสนอข้อแนะนำในการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สำหรับผู้โดยสารที่ใช้รถเข็นให้มีศักยภาพดียิ่งขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ รฟฟท. ยังมีแผนดำเนินโครงการลดผลกระทบในด้านเสียง และการสั่นสะเทือนที่แหล่งกำเนิดที่มีต่อประชาชน ด้วยนวัตกรรม Green Damper จากยางพารา เนื่องจากเส้นทางการให้บริการรถไฟฟ้าถูกออกแบบให้วิ่งผ่านเขตเมือง หรือชุมชน ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางเสียงต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า โดยในปัจจุบัน บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ได้ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการพัฒนา Green Damper ที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบร่วมกับวัตถุดิบในประเทศ 100 % ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองติดตั้งจริง โดยคาดการณ์ว่านวัตกรรมดังกล่าว จะช่วยลดความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้ทันที อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าการเกษตรในประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังจากการมอบนโยบายดังกล่าวแล้ว บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด จะรายงานความก้าวหน้าของแผนการดำเนินงานด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง และบริษัทฯจะมุ่งมั่น พัฒนาองค์กรสู่การเป็นผู้นำในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าด้วยมาตรฐานระดับสากล มุ่งเน้นการสร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ รักษามาตรฐานการปฏิบัติงานในด้านการเดินรถ และซ่อมบำรุง พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพอยู่เสมอ รวมถึงรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจขององค์กร อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงทุกการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตชานเมืองได้อย่างยั่งยืน

รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ยกระดับคุณภาพชีวิตชานเมือง Call Center 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง