“สุรพงษ์”ลงพื้นที่เตรียมพร้อมทางคู่สายใต้รองรับเทศกาลปีใหม่ 67

0
24

“สุรพงษ์”รมช.เดินหน้านโยบาย Quick Win ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมรถไฟทางคู่สายใต้ พร้อมเปิดให้บริการช่วงแรก สถานีบ้านคูบัว-สะพลี เพิ่มความสะดวกการเดินทางรับเทศกาลปีใหม่ 2567

(15 – 16  ธันวาคม 2566) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ และตรวจเยี่ยมสถานีรถไฟอีกหลายแห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการเดินรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงแรก ระหว่างสถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร  ที่เริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 รองรับการเดินทางของผู้โดยสารในช่วงเทศกาลปีใหม่ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ และผู้บริหารการรถไฟฯ ให้การต้อนรับ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการเปิดเดินรถไฟทางคู่สายใต้ในพื้นที่จังหวัดชุมพรและประจวบคีรีขันธ์ครั้งนี้  เป็นการดำเนินการตามนโยบาย Quick Win “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางราง และการอำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ผู้โดยสารให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่กำลังมาถึง ซึ่งจะมีพี่น้องประชาชนใช้บริการรถไฟเดินทางเป็นจำนวนมาก จึงมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟทางสายใหม่ให้เสร็จตามแผนที่กำหนด

สำหรับภาพรวมจากการลงพื้นที่ติดตามโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ในครั้งนี้ ได้เริ่มตรวจเยี่ยมตั้งแต่สถานีรถไฟชุมพรแห่งใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารและส่วนประกอบเพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่  พร้อมทั้งยังได้ตรวจเยี่ยมโรงซ่อมรถจักรชุมพร ซึ่งได้กำชับให้การรถไฟฯ เร่งปรับปรุงรถจักรล้อเลื่อนที่มีอยู่ให้มีความพร้อมต่อการให้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้บริการแก่ผู้โดยสารสูงสุด

จากนั้น ได้นำคณะเดินทางโดยขบวนรถพิเศษจากสถานีชุมพร – สวนสนประดิพัทธ์ เพื่อตรวจสอบความพร้อมในการเปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายใต้ช่วงแรกระหว่างสถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร ระยะทาง 348 กิโลเมตร  ซึ่งปัจจุบันภาพรวมการก่อสร้างงานโยธา คืบหน้าไปกว่าร้อยละ 97 เป็นไปตามเป้าหมาย และจะสามารถเปิดให้บริการช่วงแรกได้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2566  รองรับการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่จะมีพี่น้องประชาชนใช้บริการรถไฟจำนวนมาก ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ถึงที่หมายอย่างปลอดภัย

ส่วนการเปิดบริการช่วงสอง ระหว่างสถานีนครปฐม ถึงสถานีบ้านคูบัว มีเป้าหมายเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนเมษายน 2567  ซึ่งขอให้การรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินการในด้านต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดในโอกาสนี้ ยังได้มีการตรวจดูแลความเรียบร้อยการเปิดให้บริการสถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่ ซึ่งได้เปิดบริการไปแล้วเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยตัวอาคารเป็นลักษณะอาคาร 3 ชั้นขนาดใหญ่ มีชั้นใต้ดินออกแบบให้สอดรับกับสถานีหัวหินเดิม มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งลิฟต์ บันไดเลื่อน บันไดทางขึ้นลงบันไดหนีไฟ ห้องสุขา ห้องพักรอสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ห้องให้นมบุตร ห้องรับฝากสิ่งของ ห้องจำหน่ายตั๋ว ห้องเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ  รวมทั้งพื้นที่ใช้สอยสำหรับประชาชน นักท่องเที่ยว สามารถข้ามมาใช้อาคารแห่งใหม่จากสถานีเดิม ทั้งชานชาลาที่ 1 และ 2 จะมีบันไดเลื่อนลงไปชั้นใต้ดินเพื่อไปอาคารใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างทดสอบระบบ

ทั้งนี้ จึงสั่งกำชับให้การรถไฟฯ ดูแลการให้บริการแก่ผู้โดยสาร และประชาชนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการภายในสถานีรถไฟหัวหินให้ได้รับความสะดวกสูงสุด โดยเฉพาะในส่วนของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาถ่ายรูปความสวยงามของสถาปัตยกรรมสถานีหัวหินเดิมจำนวนมาก จะต้องไม่กระทบต่อการใช้บริการแก่ผู้โดยสาร ซึ่งในการเปิดให้บริการสถานีหัวหินแห่งใหม่นี้ จะช่วยลดความแออัดและเพิ่มความสะดวกในการเดินทางได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังขอให้การรถไฟฯ ช่วยดูแลอนุรักษ์สถานีรถไฟหัวหินให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมกับเปิดกว้างให้หน่วยงานต่างๆ ติดต่อเข้าใช้สถานีรถไฟหัวหิน เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ และร่วมอนุรักษ์สถานีไปพร้อมๆ กันด้วย

นอกจากนี้ ยังได้เดินทางตรวจเยี่ยมสถานีรถไฟสวนสนประดิพัทธ์แห่งใหม่ ซึ่งการรถไฟฯ ได้มีการขยายสถานีต้นทาง/ปลายทางขบวนรถธรรมดาที่ 261/262 จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) – หัวหิน – กรุงเทพ (หัวลำโพง)ไปเป็น สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) – สวนสนประดิพัทธ์ – กรุงเทพ (หัวลำโพง) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว สามารถเชื่อมต่อการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นใกล้อำเภอหัวหินได้อย่างสะดวก ซึ่งการรถไฟฯ จะได้เร่งปรับปรุงทางเดินข้ามทางรถไฟ เพิ่มความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวภายในสถานี

ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมรับฟังการบรรยายโครงการการดำเนินงานต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใต้ในระยะถัดไปหลายโครงการ ประกอบด้วย

– การดำเนินโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ระยะที่ 2 ช่วงชุมพร–สุราษฎร์ธานี ช่วงสุราษฎร์ธานี – ชุมทางหาดใหญ่ – สงขลา และช่วงชุมทางหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์  ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวนรายละเอียดโครงการ เพื่อนำอนุมัติดำเนินการจากคณะรัฐมนตรี

– การทำแผนพัฒนารถไฟทางคู่ เชื่อมต่อโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อขยายเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร รวมถึงการท่องเที่ยวของประเทศ ซึ่งได้เริ่มศึกษาไปแล้วตั้งแต่ปี 2564 ดังนั้น ในส่วนของกระทรวงคมนาคม จึงมอบหมายให้การรถไฟฯ ทำการศึกษา สำรวจ ออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนองควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้สอดรับกับโครงการพัฒนาแลนด์บริดจ์  ซึ่งล่าสุด การรถไฟฯ ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 และวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการ

– การพัฒนาทางรถไฟเชื่อมนิคมอุตสาหกรรม โดยจะมีการก่อสร้างย่านสถานีบริเวณจุดเชื่อมต่อประแจและทางแยกสถานีนาผักขวง ในโครงการ SSI’s Distribution Hub (ด้านเหนือ) และโครงการ SSI’s Logistics Terminal (ด้านใต้) เพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า จากสถานีนาผักขวงเข้าสู่พื้นที่โครงการนิคมอุสาหกรรมของกลุ่มบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ระยะทาง 2.138 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระบบการขนส่งทางรางสู่อุตสาหกรรมเหล็กบางสะพาน และท่าเรือน้ำลึก โดยโครงการนี้มีความสำคัญมากต่อการช่วยเสริมศักยภาพการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันการรถไฟฯ และ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางและรูปแบบการเชื่อมโยงในอนาคต

– แผนการปรับปรุงขบวนรถโดยสารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ซึ่งการรถไฟฯ มีแผนจะปรับปรุงชุดขบวนรถโดยสารให้ใช้งานเป็นรถ Power Car จำนวน 192 คัน เพื่อช่วยลดมลภาวะทางเสียง และสิ่งแวดล้อม รวมถึงประหยัดพลังงานให้กับประเทศ, การปรับปรุงตู้โดยสารชั้น 3 ให้เป็นตู้โดยสารปรับอากาศ, การปรับปรุงห้องน้ำขบวนรถโดยสารให้เป็นห้องน้ำระบบปิดทั้งหมด, และการปรับปรุงบันไดทางขึ้นลงขบวนรถโดยสารให้สามารถรองรับชานชาลาแบบสูง  นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้ภายในตู้โดยสาร อาทิ ติดตั้งระบบ Wifi ช่องเสียบ USB ติดตั้งระบบหน้าจอ Touchscreen  ใช้ระบบ Infotainment เชื่อมต่อ Youtube Netflix กับขบวนรถดีเซลราง (Daewoo) จำนวน 39 คัน  ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ประมาณปี 2567 และแล้วเสร็จในปี 2568

นายสุรพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนมีความมั่นใจว่าโครงการพัฒนารถไฟทางคู่สายใต้ จะมีความพร้อมเปิดให้บริการครบตลอดเส้นทางภายในปี 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางของประเทศให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย มีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ ตลอดจนเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเปิดประตูทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงการเจริญเติบโตสู่ภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย และพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศ ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคตอันใกล้