“อาหารเจลพระราชทาน” จากน้ำพระทัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

0
244

โครงการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งยังประโยชน์ให้แก่พสกนิกรชาวไทย ภายใต้พระบรมโพธิสมภารนั้นมีอยู่มากมาย แต่โครงการหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก เนื่องจากนับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเคี้ยวและกลืนอาหาร โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งในช่องปาก สามารถกินอาหารทางปากได้และมีสุขภาพที่ดีขึ้น นั่นก็คือ โครงการเจลลี่โภชนาหรือที่ผู้ป่วยเรียกว่า อาหารเจล ซึ่งดำเนินการโดย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ

ทำไมต้องเป็นอาหารเจล..?

สำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถกลืนอาหารเองได้ มักได้รับเป็นอาหารเหลว โดยสอดท่อ หรือสายยางเข้าไปในร่างกาย เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่จะทำให้ผู้ป่วยขาดอรรถรสในการทาน เพราะไม่ได้รับรู้รสชาติ และสัมผัสอาหารผ่านการเคี้ยวกลืนในปากเหมือนคนปกติทั่วไป อีกทั้งอาหารเหลวก็ไม่ได้มีรสชาติที่น่าทานนัก และยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการสอดสายยางเข้าไปในร่างกายอีกด้วย ด้วยข้อจำกัดในการผลิต ดังนั้นอาหารเจลจะช่วยให้ผู้ป่วยกลืนอาหารได้เอง รับรู้ถึงสัมผัส รูป สี กลิ่น รส ได้ดีขึ้น ด้วยความนุ่มลื่นของเจลลี่ จะทำให้ผู้ป่วยไม่มีอาการบาดเจ็บเวลาเคี้ยวกลืน กระตุ้นความอยากอาหารได้มากขึ้น และยังมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนอีกด้วย

 

อาหารเจล เหมาะสำหรับใครบ้าง..?

ผู้ป่วยที่ไม่สามารถกลืนอาหารเองได้ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งในช่องปาก ที่อาจจะมีบาดแผลจากความพิการของอวัยวะบดเคี้ยวในช่องปาก จากการผ่าตัด ร่วมกับการฉายรังสีบำบัด หรือผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้สูงอายุที่สูญเสียฟัน ผู้ป่วยผ่าตัดขากรรไกร และผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ซึ่งอาจประสบปัญหากล้ามเนื้อบดเคี้ยวทำงานได้ไม่ดี เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่มีปัญหาในเรื่องของต่อมน้ำลายที่ผลิตน้ำลายได้น้อยลง ก็สามารถทานอาหารเจล เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเคี้ยวกลืนได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

ลักษณะพิเศษของอาหารเจลพระราชทาน

นอกจากอาหารเจลพระราชทานจะมีความเนียนนุ่ม เคี้ยวกลืนได้ง่าย และเพียบพร้อมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมแล้ว ยังมีรสชาติให้เลือกหลากหลายถึง 9 รสชาติ เช่น แกงเขียวหวาน ต้มยำกุ้ง ข้าวหอมมะลิ ข้าวมันไก่ มะม่วง และ ชานม เป็นต้น แต่รสชาติที่ได้รับการพัฒนาเพื่อการอุตสาหกรรมสำหรับแจกจ่ายให้ประชาชน จะมีเพียงรสมะม่วง และรสชานม นอกจากนี้ยังต้องรสชาติดีอีกด้วย

หลังจากที่คณะทำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์เสวยและมีพระราชวินิจฉัยว่าทรงโปรดรสต้มยำกุ้ง แต่ไม่ทรงโปรดรสก๋วยเตี๋ยวไก่ จึงมีรับสั่งให้ลองทำรสข้าวมันไก่แทน และย้ำว่า อาหารผู้ป่วยดีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอร่อยด้วย เพราะผู้ป่วยมีความทุกข์ทางร่างกายอยู่แล้วซึ่งในขณะนั้นพระองค์ทรงพระประชวร และทรงมีพระอาการกลืนอาหารลำบากอยู่เช่นกัน เนื่องจากต้องเสวยพระโอสถโรคหัวใจเป็นจำนวนมาก แม้พระองค์จะทรงพระประชวร แต่ทรงยังห่วงใยประชาชนให้พ้นทุกข์ พ้นทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้อาหารเจลพระราชทาน ยังสามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องได้มากถึง 1 ปี เพราะได้รับการพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปด้วยกระบวนการอุลตร้าฮีททรีตเมนท์ หรือยูเอชที และบรรจุในกล่องปลอดเชื้อ ขนาด 250 มิลลิลิตร ตอนแรกทรงตรัสถามว่าสามารถบรรจุใส่กระป๋องได้หรือไม่ เพราะเมื่อบรรจุภัณฑ์เป็นกล่องเหมือนกล่องนม อาจมีการหยิบเขย่าจนเจลเละ ทำให้อาหารเจลไม่น่าทาน แต่เนื่องผลิตภัณฑ์นี้ไม่สามารถบรรจุในกระป๋องได้ พระองค์จึงทรงรับสั่งให้บรรจุในกล่อง “แนวนอน” โดยแปะฉลากผลิตภัณฑ์เป็นแนวนอนด้วย จึงสามารถป้องกันคนเขย่าจนเจลเละได้

 

ใครบ้างที่ได้รับประโยชน์จาก เจลลี่โภชนา”..?

อาหารพระราชทาน “เจลลี่โภชนา” เป็นอาหารที่คนทั่วไปรับประทานได้เช่นกัน นอกจากกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งแล้ว ยังมีประชากรกลุ่มอื่นๆ อีกที่สามารถจะรับประทานเจลลี่โภชนาได้ เช่น

  1. ผู้สูงอายุ ซึ่งไม่มีฟันบดเคี้ยว
  2. ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมซึ่งกล้ามเนื้อบดเคี้ยวทำงานไม่ดี
  3. ผู้ป่วยผ่าตัดขากรรไกร ซึ่งจะไม่สามารถอ้าปากได้ปกติ
  4. ผู้ป่วยระหว่างรับการรักษาทันตกรรมจัดฟัน หรือรักษารากฟันที่เคี้ยวไม่ได้ เนื่องจากเจ็บฟัน
  5. ผู้ป่วยที่เป็นแผลในปาก ผู้ที่เป็นหวัดแล้วเจ็บคอ และผู้ป่วยที่สูญเสียฟัน

เพราะฉะนั้นจึงเห็นได้ว่าพระอัจฉริยะภาพของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร นั่นมีมากมาย ไม่ใช่เพียงเรื่องดนตรี ศิลปะ กีฬา หรือภูมิศาสตร์ แต่ยังรวมไปถึงวิทยาศาสตร์เพื่อการสาธารณสุข เพื่อประโยชน์แก่สุขภาพของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง

ที่มา : นิตยสารธรรมลีลา