นายกฯ ต้องใช้ ม.44

0
219

จากข่าวสารและรายงานของสื่อต่างๆ ที่ร่วมกันสะท้อนความเดือดร้อนของประชาชนในระดับรากหญ้าที่ถูกบรรดากลุ่มธุรกิจปล่อยเงินกู้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) จำนำทะเบียนรถ รวมไปถึงลิสซิ่งเช่าซื้อทั้งหลายร่วมกันเอารัดเอาเปรียบขูดดอกเบี้ยสุดโหด

บ้างถูกจับทำสัญญาเงินกู้ ขูดดอกเบี้ยแพงลิ่ว ไม่พอยังบังคับเอาหลักประกันจากลูกหนี้ หวังตามไปยึดทรัพย์ขายทอดตลาดฟันกำไรอีกต่อ หากลูกหนี้ผิดนัดไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญา บางรายงัดลูกเล่นหลอกล่อลูกหนี้ให้เข้ามาติดกับประเภทจำนำทะเบียนระยะสั้น 3-4 เดือน คิดดอกเบี้ยจิ๊บๆ ไม่กี่ร้อยบาท แต่ลองคำนวณดอกเบี้ยจริงแล้วแทบผงะ! ปาเข้าไป 40-50% ก็มี

ขณะที่บางรายที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถ จำนำทะเบียนกันเป็นแสนล้านบาทนั้น ก็หลอกล่อให้ผู้คนเข้าใจไขว้เขวว่า นี่เป็นการให้บริการปกติของธนาคาร ทั้งที่จริงแล้วเป็นเพียงบริษัทลูกของธนาคารที่เป็น “นอนแบงก์”เท่านั้น

ผู้ประกอบการบางรายนั้นสามารถปั้นธุรกิจจนเติบใหญ่มีพอร์ตสินเชื่อหลายหมื่นล้าบาทจนสามารถนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มี “มาร์เก็ตแค็ป” นับแสนล้าน และแม้จะอ้างว่า บริษัทไม่เคยเอาเปรียบลูกหนี้  ทำทุกอย่างถูกกฎหมายภายใต้กฎเกณฑ์ บริษัทไม่ได้ทำธุรกิจเช่าซื้อ แต่ให้บริการสินเชื่อรถหรือสินเชื่อแบบมีหลักประกันเท่านั้น

แต่เนื้อแท้ของสัญญาที่ทำกับลูกหนี้ ก็คือสัญญาเงินกู้แบบพื้นๆ ที่ไม่เพียงจะโขกดอกเบี้ยแพง 25-50% ยังบังคับเอาหลักประกันจากลูกหนี้อีกต่อด้วย แต่ที่ผ่านมา แม้ประชาชนที่เคยตกเป็นเหยื่อจะร้องแรกแหกกระเชอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่สามารถจะจัดการอะไรกับธุรกิจเหล่านี้ได้ ซ้ำร้ายใบอนุญาตประกอบกิจการ ที่หน่วยงานรัฐออกให้กับผู้ประกอบการนั้นยังถูกนำมาเป็น “ยันต์กันผี” ให้ธุรกิจเหล่านี้นำมาอ้างเพื่อเอาเปรียบลูกหนี้เงินกู้หนักเข้าไปอีก

หลายหน่วยงานได้แต่บอกปัดอ้างไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบหรือกำกับดูแลโดยตรง อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็อ้างว่าธุรกิจเหล่านี้ไม่ใช่สถาบันการเงิน แต่เป็น “นอนแบงก์” ไม่ได้อยู่ในกำกับของแบงก์ชาติ, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็อ้างกำกับดูแลแต่ในเรื่องของสัญญาเช่าซื้อของธุรกิจลิสซิ่งเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงสินเชื่อหรือเงินกู้รับจำนำทะเบียนรถของธุรกิจห้องแถว เต้นท์รถ หรือนอนแบงก์เหล่านี้

ขณะที่กระทรวงการคลังก็อ้างหากเป็นสินเชื่อรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพ “นาโนไฟแนนซ์” และสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด หรือ “พิโก้ ไฟแนนซ์” รัฐเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมได้สูงสุดถึง 35-36%  ก็ไม่ถือว่าผิดปกติ โดยไม่เคยได้ลงไปตรวจสอบเลยว่า ผู้ประกอบการลิสซิ่งเช่าซื้อหรือนอนแบงก์เหล่านี้ได้อาศัย “ช่องโหว่” นำใบอนุญาตดังกล่าวไปเป็นใบเบิกทางหากินบนความทุกข์ร้อนของประชาชน

เพราะหากเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล  P loan  สินเชื่อรายย่อยเพื่อประกอบวิชาชีพภายใต้การกำกับ หรือ “นาโนไฟแนนซ์” ที่คลังให้ใบอนุญาตไปนั้นต้องเป็นการให้สินเชื่อ “ไร้หลักประกัน” หรือ Clean loan เท่านั้น หาใช่สินเชื่อที่จะบังคับเอาหลักประกันจากลูกหนี้ เช่นที่ธุรกิจเหล่านี้ “มั่วนิ่ม” ดำเนินการอยู่

เพราะหากทำสัญญาเงินกู้ที่บังคับเรียกหลักประกันจากลูกหนี้ในลักษณะนี้ ย่อมต้องถือเป็นสัญญาเงินกู้ภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 654 ที่ต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 15%เท่านั้น  หากเจ้าหนี้เงินกู้/หรือผู้ประกอบการรายใดดื้อแพ่งแหกกฎหมายย่อมมีโทษทั้งอาญาและแพ่ง จำคุกไม่เกิน 2ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีหน่วยงานใดล้วงลูกลงมาตรวจสอบอย่างจริงจัง ปล่อยให้ประชาชนที่เป็นลูกหนี้เผชิญปัญหาถูกเจ้าหนี้ไล่ยึดทรัพย์ ยึดรถ-รถจักรยานยนต์ขายทอดตลาดกันเอิกเกริก! กลายเป็นว่าประชาชนรากหญ้าที่เป็นลูกหนี้ธุรกิจเหล่านี้ต้องถูก “ลอยแพ” ให้เผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายจากธุรกิจที่ “ทำนาบนหลังคน”โดยไม่มีหน่วยงานใดดูแลแต่อย่างใด

หากจะถามว่าเม็ดเงินที่ประชาชนในระดับรากหญ้าถูกธุรกิจเหล่านี้เอารัดเอาเปรียบนั้นมีมากแค่ไหน ตัวเลขที่ “กลุ่มพิทักษ์สิทธิ์ลูกหนี้”ประเมินกันคร่าวๆ ทั้งประเทศน่าจะมีมากถึงระดับแสนล้านบาทเลยทีเดียว เพราะหากคิดเฉพาะดอกเบี้ยค่าธรรมเนียมที่ธุรกิจเหล่านี้ปล้นสดมภ์เอาจากประชาชนเกินไปแค่ 15-25% จากดอกเบี้ยเงินกู้ ปกติตามกฏหมายที่ไม่ควรเกิน 15% นั้น ก็น่าจะมากกว่าปีละ 15,000-25,000 ล้านบาทขึ้นไปนั่นแหล่ะ

หนทางในอันที่จะ “คืนความสุขให้ประชาชน”  ในระดับรากหญ้าจากปัญหาข้างต้นนี้ก็เห็นจะมีแต่ ม.44 ของนายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช. เท่านั้นที่จะสยบปัญหานี้อย่างได้ผล 

เพียงแค่นายกฯ งัด ม.44 สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไล่เบี้ยตรวจสอบสัญญาที่ธุรกิจเหล่านี้กระทำกับลูกหนี้ว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หากรายได้มีพฤติกรรมหลบเลี่ยงกฎหมาย ตั้งใจจัดทำสัญญาอำพรางเอารัดเอาเปรียบประชาชน ก็ให้ดำเนินการขั้นเด็ดขาด หรือถึงขั้นให้คณะกรรมการ ป.ป.ง. ยึดทรัพย์ไปด้วยเลย

ก็เชื่อแน่ว่า ธุรกิจลิสซิ่งนอกแถวและสินเชื่อนอกลู่เหล่านี้ ก็คงลนลานแก้ไขสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้กันเป็นทิวแถวแน่!!!

บทความโดย : เนตรทิพย์