ทล.ฉายภาพมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทางเชื่อมโครงข่ายไร้รอยต่อ

0
228

เหลือบเห็นตัวเลขปริมาณการจราจรโดยสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง ที่คาดการณ์ไว้กับปริมาณจราจรช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ 2566 ที่กำลังเคลื่อนกองทัพรถยนต์-คลื่นมวลมหาประชาชนออกจากเมืองกรุงในอีกไม่กี่วันข้างนี้แล้วหลายฝ่ายคงอดเป็นห่วงไม่ได้ ที่นับวันปริมาณการจราจรยิ่งทวีความหนาแน่นสู่มหกรรมรถติดวินาศสันตะโร

โดยสงกรานต์ปีนี้ คาดการณ์ปริมาณจราจรทะลักเข้า-ออกกทม.บนทางหลวงสายหลักและมอเตอร์เวย์ 10 เส้นทางช่วงระหว่าง 11-17 เมษายน 2566 รวมทั้งสิ้น 7,026,157 คัน มากกว่าเทศกาลสงกรานต์ปี 2565 อยู่ 5.3% กว่า7ล้านคัน แบ่งเป็นขาออก 3,458,690 คัน และขาเข้า 3,567,467 คัน และคาดว่า12 เม.ย.66 จะมีปริมาณจราจรขาออกสูงสุด 648,530 คัน และ 16 เม.ย.6666 จะมีปริมาณจราจรขาเข้ากทม.สูงสุด 612,769 คัน

แน่นอนว่าปัญหาที่ตามมาเป็นเงาตามตัวก็คือปัญหาไม่เกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ที่สำคัญคือปัญหาการ“เกิดอุบัติเหตุ”ที่นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จำเป็นอย่างยิ่งยวดที่หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงโครงข่ายแบบไร้รอยต่อ ยกระดับการเดินทางระหว่างภูมิภาคอย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือที่รู้กันดีในนาม“มอเตอร์เวย์”โดยเจ้าภาพหลักกรมทางหลวง(ทล.)ของกระทรวงคมนาคม ที่ล่าสุด กรมทางหลวง โดยนายสราวุธ ทรงศิวิไล ออกโรงเผยถึงการเร่งดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์)ตามแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)หวังเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมระหว่างเมืองหลวงรและปริมณฑลสู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ

โดยในระยะเร่งด่วน ทล.ใส่เกียร์ D ร่งผลักดันทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายใหม่อีก 3 เส้นทาง มีเส้นทางไหนบ้าง?ไปดูกัน!

M9วงแหวนฯตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง- บางปะอิน

ประเดิมด้วยสายแรกเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (M9) สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน- บางบัวทอง- บางปะอิน ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ช่วง ดังนี้

▪ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน – บางบัวทอง เป็นการก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรตามแนวถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก หรือถนนกาญจนาภิเษก โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 วงแหวนกาญจนาภิเษก ด้านทิศใต้ โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 (M82) สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว และโครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน

และมีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณจุดตัดทางแยกต่างระดับบางบัวทอง เชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง – บางปะอิน รวมระยะทางประมาณ 35.9 กิโลเมตร วงเงินลงทุนก่อสร้าง 56,035 ล้านบาท ซึ่งดำเนินโครงการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน  (Public Private Partnership : PPP) ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยเอกชนลงทุนก่อสร้างงานโยธา และงาน Operation and Maintenance (O&M)โดยเอกชนรับรายได้จากค่าธรรมเนียมผ่านทางสถานะปัจจุบัน คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) เห็นชอบในหลักการโครงการแล้ว คาดว่ากระทรวงคมนาคมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการภายในปี 2566 ดำเนินการคัดเลือกเอกชน ในปี 2567 ก่อสร้างโครงการในปี 2568-2570 และเปิดบริการในปี 2571

M9 วงแหวนฯตะวันตก ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ตอกเสาเข็มปี 68

▪ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง – บางปะอิน เป็นการดำเนินการปรับปรุงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกเดิม ให้เป็นทางหลวงพิเศษระดับพื้นดินขนาด 6 ช่องจราจร โดยจุดเริ่มต้นอยู่บริเวณ กม. 36 (ปัจจุบัน คือ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ประมาณ กม. 50) บริเวณทางแยกต่างระดับบางบัวทอง เชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน- บางบัวทอง ไปสิ้นสุดที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน สามารถเชื่อมต่อไปยังทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 ได้ โดยมีระยะทางรวมประมาณ 34.1 กิโลเมตร วงเงินลงทุนก่อสร้าง 15,260 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน ทล.อยู่ระหว่างเสนอแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) หากได้รับการอนุมัติจาก ครม. คาดว่าสามารถเริ่มการก่อสร้างในปี 2568

ทั้งนี้ เมื่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกแล้วเสร็จ จะเป็นโครงข่ายสำคัญที่เชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่ง ระหว่างพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยสมบูรณ์ รวมถึงเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 (M81) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี  และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา อย่างไร้รอยต่อ

M5 ยกระดับอุตราภิมุข รังสิต-บางปะอิน ก่อสร้างปี68-70 เปิดบริการปี71

สายที่ 2 เป็นสายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) เป็นการเป็นการก่อสร้างทางยกระดับช่วงรังสิต – บางปะอิน บนเกาะกลางถนนพหลโยธิน ขนาด 6 ช่องจราจร โดยมีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ปลายทางยกระดับอุตราภิมุขปัจจุบัน ที่ประมาณ กม. 34 ของถนนพหลโยธิน และสิ้นสุดที่ประมาณ กม. 52 ของถนนพหลโยธิน บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน รวมถึงก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมโยงทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา ระยะทางรวมทั้งสิ้นประมาณ 22 กิโลเมตร วงเงินค่าลงทุนก่อสร้าง 31,358 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการในรูปแบบ PPP Gross Cost  โดยเอกชนลงทุนในส่วนก่อสร้างงานโยธาและงาน O&M โดยรัฐเป็นผู้ได้รับรายได้ค่าผ่านทาง และจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการให้แก่เอกชน 

สถานะปัจจุบันบอร์ด PPP เห็นชอบในหลักการโครงการแล้ว คาดว่ากระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการภายในปี 2566 ดำเนินการคัดเลือกเอกชน ในปี 2567 ก่อสร้างโครงการในปี 2568-2570 และเปิดบริการในปี 2571 เมื่อแล้วเสร็จโครงการจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในถนนพหลโยธินและถนนวิภาวดีรังสิต โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนและเติมเต็มโครงข่ายถนนสายหลัก (Missing Link) ตอนบนของกรุงเทพมหานครกับจังหวัดใกล้เคียง และเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M6 และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M9 เพิ่มศักยภาพในการรองรับและเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพมหานครสู่ภาคกลางตอนบน ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างสมบูรณ์

M8 รองรับคมนาคมขนส่งเชื่อมภาคเหนือ-กลางตอนบนสู่ใต้

และปิดท้ายด้วยสายที่ 3 โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 (M8) สายนครปฐม-ชะอำ ช่วงนครปฐม-ปากท่อ เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทางรวมประมาณ 109 กิโลเมตร โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงนครปฐม-ปากท่อ และ ช่วงปากท่อ-ชะอำ โดยจะดำเนินการก่อสร้าง ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ก่อน โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการต่อเชื่อมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่บริเวณทางแยกต่างระดับนครชัยศรี รวมถึงมีเส้นทางเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 338 (ปิ่นเกล้า – นครชัยศรี) บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถ.เพชรเกษม) แนวเส้นทางโครงการมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ไปสิ้นสุดบริเวณ กม. 73 ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ) ระยะทางประมาณ 61 กิโลเมตร ลักษณะโครงการเป็นการก่อสร้างทางหลวงพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร วงเงินลงทุนก่อสร้างรวม 29,156 ล้านบาท

ซึ่งปัจจุบัน ทล. อยู่ระหว่างเสนอแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) โดยเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะรองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศ สามารถแบ่งเบาการจราจรจากทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) และทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม2) และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทางสู่ภาคใต้ รองรับการคมนาคมและขนส่งสินค้าเชื่อมต่อจากจังหวัดต่าง ๆ ในแถบภาคเหนือและภาคกลางตอนบนไปยังจังหวัดภาคใต้

ลุยพัฒนา Rest Area บนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง

นอกเหนือจากการพัฒนาด้านโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแล้ว นายสราวุธ ทรงศิวิไล ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ทล. ยังเร่งเดินหน้าพัฒนาโครงการที่พักริมทาง (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ได้แก่ M6 M7 และ M81 ซึ่งที่พักริมทางถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เพื่อให้ผู้ใช้ทางได้แวะพักผ่อน ทำธุระส่วนตัว ผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากการเดินทาง ช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากความเหนื่อยล้าหรือหลับใน เป็นการยกระดับมาตรฐานและการให้บริการของระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสู่มาตรฐานสากล โดยจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินโครงการ ในรูปแบบ PPP Net Cost ซึ่ง ทล. คาดหวังว่าเอกชนผู้มีศักยภาพ จะนำความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ามาออกแบบ ก่อสร้าง ดูแล บำรุงรักษาที่พักริมทาง ตลอดจนอำนวยความสะดวกและการบริการที่มีคุณภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้ทางต่อไป

อัพเดท 4 Rest Area ที่กำลังก่อสร้าง

ซึ่งปัจจุบัน ทล. มีโครงการที่พักริมทางที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาและโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ซึ่งทั้ง 2 โครงการ อยู่ระหว่างขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน ตาม พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ พ.ศ. 2562 คาดว่าจะจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้กลางปี 2566 เริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2567 เปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกบางส่วนในปี 2568 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569 ส่วนโครงการที่พักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา และโครงการที่พักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ปัจจุบันอยู่ระหว่าง ทล. จัดทำร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน เพื่อเสนอคณะกรรมการคัดเลือกตามขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนต่อไป โดยโครงการที่พักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 จะเป็นการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางจำนวน 15 แห่ง แบ่งการบริหารเป็น 2 สัญญา ส่วนโครงการพักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 จะเป็นการบริหารที่พักริมทางจำนวน 6 แห่ง แบบสัญญาเดียว ด้านแผนการดำเนินการของทั้ง 2 โครงการ คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ปลายปี 2566 และเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2567 เปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกบางส่วนในปี 2568 เพื่อรองรับการเปิดให้บริการมอเตอร์เวย์ M6 และ M81 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2569

อย่างไรก็ดี อธิบดีกรมทางหลวง ย้ำปิดท้ายว่านอกเหนือไปจากการพัฒนาทางหลวงสายหลักของประเทศแล้ว ทล. มุ่งให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่มีมาตรฐานสูง เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และองค์ประกอบทางหลวงอย่างที่พักริมทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางและขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงเป็นการยกระดับการให้บริการ และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ทางรองรับปริมาณการเดินทางและขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเปิดประเทศ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนเป้าหมายการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เป็นอย่างดี