ชำเลืองรถไฟความเร็วสูงเพื่อนบ้าน… บทสะท้อนศักยภาพรถไฟไทย!

0
157

เหลือบไปเห็นข่าว ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย ทำพิธีเปิดหวูดให้บริการเดินรถ “Whoosh” รถไฟหัวกระสุน หรือรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศ และยังเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ไปเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่ามนมา
 
โดยรถไฟสายนี้จะวิ่งเชื่อมระหว่างกรุงจาการ์ตาเมืองหลวงของอินโดนีเซีย กับเมืองบันดุง เมืองเอกของจังหวัดชวาตะวันตก ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดของประเทศ ระยะทาง 142 กม. โดยรถไฟสายนี้สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 360 กม./ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางจากเดิมที่ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ลงมาเหลืออยู่ราว 40 นาทีเท่านั้น

นัยว่า รถไฟความเร็วสูงของอินโดนีเซียสายนี้ ที่มีชื่อเป็นทางการว่า “วูซ-Whoosh” ซึ่งเป็นคำย่อในภาษาอินโดนีเซียที่แปลว่า “ประหยัดเวลา การทำงานที่ยอดเยี่ยมที่สุด ระบบไว้วางใจได้” นั้น รัฐบาลอินโดฯ ริเริ่มดำเนินโครงการนี้ ที่มีมูลค่าราว 7,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.69 แสนล้านเมื่อปี 2559 (2016) พร้อมๆ กับที่ประเทศไทยปัดฝุ่นโครงการรถไฟความเร็วสูง “ไทย-จีน” ขึ้นมาดำเนินการ ตามนโยบายเชื่อมต่อโครงข่าย One Belt One Road ของจีนที่ให้การสนับสนุนโครงการในภูมิภาคนี้ โดยใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างจากจีนทั้งหมด เช่นเดียวกับรถไฟไทย-จีน นั่นแหล่ะ

ก่อนหน้านี้ สาธารณรัฐประชาชนลาว (สปป.ลาว) ก็เปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง โครงการความร่วมมือลาว-จีนไปเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2564 เป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกในอาเซียนที่เปิดให้บริการ โดยใช้เวลาก่อสร้างเพียง 5 ปีเช่นเดียวกัน แต่มีระยะทางยาวกว่ามากคือ 414 กิโลเมตร จากนครเวียงจันทน์ เชื่อมต่อไปยังนครคุนหมิง เมืองหลวงของมณฑลยูนนาน เชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงของจีนอีกต่อ

นัยว่า เส้นทางก่อสร้างรถไฟลาว-จีนสายนี้ยากกว่ารถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยเราหลายสิบ หลายร้อยเท่า เพราะต้องเจาะอุโมงค์ข้ามเขาถึง 75 แห่ง ก่อสร้างสะพานอีก 167 แห่ง แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าใช้เงินลงทุนไปแค่  5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 199,000 ล้านบาทเท่านั้น เริ่มก่อสร้างในปี 2559 และเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2564  ซึ่งรัฐบาลไทยเราเองยังตบเท้าพากันชื่นชมรถไฟลาว-จีนสายนี้ เพราะเราเองก็ได้ “อานิสงส์” อาศัยโครงข่ายรถไฟสายนี้ขนส่งผลไม้เลื่องชื่ออย่างทุเรียน เงาะ ลำใย และสินค้าเกษตรจากไทยไปขายยังเมืองจีนปีละไม่รู้หมื่นตัน

ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและคนไทยเราเองยังจัดทริปไปนั่งรถไฟสายนี้กันหัวกระไดไม่แห้ง เพราะบ้านเมืองเราไม่เคยมีมาก่อน  

ส่วนรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่ริเริ่มมาพร้อมกันนั้น รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา เห็นว่า ข้อเสนอของมหามิตรจีนเอาเปรียบประเทศไทยเกินไป (ทั้งที่เรายอมเขาทุกอย่างเรื่องเรือดำโคลน) จึงปฏิเสธที่จะใช้เงินทุนสนับสนุนจากจีน และหันมาลงทุนโครงการด้วยตนเอง ด้วยวงเงินลงทุนในเฟสแรก กรุงเทพ – โคราช ระยะยทาง 253 กม. วงเงิน 179,000 ล้านบาท ตัวนายกฯ และ รมต.คมนาคม รวมทั้งผู้บริหารรถไฟลงทุน “สร้างภาพ” เทหินก่อสร้างรางที่สถานีกลางดง เพื่อเปิดหวูดเริ่มต้นก่อสร้างโครงการเอาฤกษ์เอาชัยเมื่อ 21 ธันยาคม 2560

ผ่านมาวันนี้ร่วม 6 ปีเข้าไปแล้ว ความคืบหน้าโครงการในเฟสแรก 253 กม.นั้น ไปถึงไหน อย่างไรแล้ว บอกตามตรงผมไม่กล้าสอบถาม ผู้ว่าการรถไฟฯ “นายนิรุฒ มณีพันธ์” และรัฐมนตรีคมนาคม ที่ร่วมกันเทหินใส่รางรถไฟกันวันนั้นหรอกครับ ไม่อยากรับฟัง “เหตุผลขี้เท่อ” ของข้าราชการพวกนี้จริงๆ

ทีกับโครงการทางรถไฟและถนนยกระดับ “โฮปเวลล์” ที่การรถไฟและกระทรวงคมนาคมสั่งยกเลิกสัญญาสัมปทาน ด้วยข้ออ้าง เพราะบริษัทก่อสร้างล่าช้า ดำเนินโครงการมาตั้ง 7 ปีกลับมีความคืบหน้าไปแค่ 15% ไม่เป็นไปตามเป้าหมายและสัญญาที่ทำไว้ ทำให้การรถไฟฯและกระทรวงคมนาคมต้องตัดสินใจบอกเลิกสัญญาสัมปทานไปให้สิ้นเรื่องสิ้นราว

แต่พอตนเองหอบเอาโครงการรถไฟความเร็วสูงมาทำเองบ้าง โดยไม่ต้องทำเรื่องขออนุมัติใคร ที่ไหน หรือหน่วยเหนือที่ไหน สามารถจะดำเนินการโม่แป้งได้เองเต็มที่ 100% (ไม่เหมือนโฮปเวลล์จะทำอะไรต้องมาขออนุมัติรถไฟทุกกระเบียดนิ้ว) แต่ทำไมถึงก่อสร้างได้ล่าช้าอืดเป็นเรือเกลือเสียยิ่งกว่าโฮปเวลล์เสียอีก!  

นัยว่า วันนี้เพิ่งจะก่อสร้างโครงการตอนแรก (สถานีกลางดง-ปางอโศก) ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ไปแล้วเสร็จเท่านั้น ล่าช้าจนแทบจะเรียกได้ว่า “เต่าขาหักยังเรียกพ่อ” ที่เหลืออีกกว่า 600 กิโลเมตร ที่จะไปถึงหนองคายนั้น ไม่รู้จะต้องหาวเรอรอไปอีกกี่ชาติจึงจะสร้างเสร็จได้  เรื่องอย่างนี้กลับไม่มีผู้บริหารรถไฟคนใดออกมามาแสดงความรับผิดชอบ หรือไม่เห็นมี รมต.คมนาคมคนใด ตะเพิดผู้บริหารรถไฟที่รับผิดชอบออกไปสักราย!

ก็เหมือนกับ “โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)” ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุนกว่า 2.24 แสนล้าน ที่การรถไฟฯให้สัมปทาน แก่บริษัทเอเชีย เอราวันจำกัด ในเครือกลุ่มทุนซีพี. ของ “เจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์” ไปนั่นแหล่ะ จัดพิธีลงนามในสัญญากันกลางทำเนียบรัฐบาลต่อหน้าแชกเหรื่อจากทั่วโลกที่เชื้อเชิญมาร่วมเป็นสักขีพยานกันนับร้อย ตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2562

อาทิตย์หน้านี้จะครบ 4 ปีรอมร่อเข้าไปแล้ว โครงการก่อสร้างคืบหน้าไปถึงไหนแล้วหล่ะท่านผู้ว่ารถไฟ!

ประชาชนคนไทยและนักลงทุนต่างชาติที่มาร่วมเป็นสักขีพยานวันนั้น จะได้นั่งรถไฟความเร็วสูงสายนี้เป็นศรีเป็นเกียรติ (ตูด) ธไมตรี ไม่ต้องอายเพื่อนบ้าน สปป.ลาว และอินโนนีเซีย กันได้เมื่อไหร่ ปลายปีนี้เลย หรือว่าต้นปีหน้า (หรือชาติหน้า) ช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านเครื่องมือสื่อสารของรัฐให้ประชาชนคนไทยได้ชื่นสะดือแดทีเถอะ!  

อย่าบอกนะว่าจนป่านนี้ยังไม่ได้เปิดหวูดก่อสร้างหรือตอกเสาเข็มไปสักต้นน่ะ ไม่อยากฟังเรื่องขี้เท่อแบบนี้!

เพราะหากการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคม ใช้เหตุผลเดียวกันนี้ เป็นเหตุผลในการบอกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ ก็ต้องตอบสังคมให้ได้ว่า แล้วทำไมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่ 4 ปียังไม่ขยับไปแม้แต่ 1 เซนติเมตรนั้น ทำไมคู่สัญญาฝ่ายรัฐอย่างการรถไฟฯ ถึงยังไม่มีการไล่เบี้ยอะไรในสัญญา

หรือดอดไปทำสัญญาทาสกันใหม่ แบบจะก่อสร้างอีกกี่สิบชาติก็ไม่ว่า เพราะคนกากี่นั๊งกันทั้งนั้น!

ก็คงต้องฝากไปถึง “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เหล้าเก่าในขวดใหม่คนนี้ หากรัฐบาลยังคงคิดจะขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาการขนส่งทางรางให้เป็นรูปธรรม ก็คงต้อง “ล้างไพ่-ล้างบาง” จัดองคพายพหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนระบบรางนี้กันใหม่  และคงต้องรีบทำภายในช่วงฮันนีมูน 3 เดือนนี้แหล่ะ  

หากยังคงพึ่งพากระบวนการทำงานแบบเดิมๆ ประชุมกันไปกี่ครั้งกี่หนก้ได้แต่รายงานความ(ไม่)คืบหน้า แบบ “ขอไปที” อย่างนี้ชาตินี้โครงการเมกะโปรเจ็คเหล่านี้ก็คงย่ำอยู่กับที่แบบนี้ตลอดศก !!!