ขนส่งฯเตรียมเปิดรถโดยสารเชื่อมสนามบินเพิ่มอีก 3 แห่ง “อุดรฯ-อุบลฯ-ร้อยเอ็ด”ภายในปีนี้

0
263

ขนส่งฯตอบโจทย์ทุกโหมดการเดินทาง เชื่อมต่อรถโดยสาร 31 สนามบินทั่วไทย เตรียมเปิดอีก 3 แห่ง “อุดรธานี- อุบลราชธานี -ร้อยเอ็ด”ภายในปีนี้ พร้อมยกระดับรถโดยสารประจำทางมาตรฐานใหม่ใน กทม. เป็นรถปรับอากาศชานต่ำ ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ มีทางลาดสำหรับเข็นรถวีลแชร์ เพื่อการเข้าถึงคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมฯได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการให้บริการรถโดยสารสาธารณะสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและนโยบาย One Transport ของกระทรวงคมนาคม เพื่อการเชื่อมต่อทุกโหมดการเดินทางที่หลากหลาย โดยพัฒนารูปแบบการให้บริการรถโดยสารสาธารณะเชื่อมต่อสนามบินกับชุมชนและสถานีขนส่งของกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เปิดเส้นทางรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อสนามบินแล้ว 31 แห่งทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างตัวเมืองและสนามบิน และเชื่อมต่อสู่ระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ปัจจุบันมีรถโดยสารประจำทางให้บริการในสนามบิน ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, หาดใหญ่ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อการรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และบริการรถโดยสารในสนามบินในจังหวัดท่องเที่ยว ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย,ภูเก็ต, ตราด, ตาก, สุโขทัย สุราษฎร์ธานี,กระบี่, ชุมพร, ตรัง, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, ระนอง ประจวบคีรีขันธ์,พิษณุโลก, แม่ฮ่องสอน, อำเภอปาย จังหวัดลำปาง น่าน, แพร่, นครพนม, เลย, สกลนคร, ขอนแก่น, บุรีรัมย์, สมุย และจังหวัดนครราชสีมา ส่วนอีก 3 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี, อุบลราชธานี และสนามบินจังหวัดร้อยเอ็ด มีกำหนดเปิดให้บริการภายในปีนี้

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางถนน นอกจากการพัฒนาเส้นทางรถโดยสารประจำทางเชื่อมต่อสนามบินแล้ว ด้านระบบการขนส่งทางรางได้เปิดเส้นทางเดินรถสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี(ทางด่วน) เชื่อมต่อการเดินทางจากจุดจอดสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จังหวัดสมุทรปราการ มายังรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์สถานีหัวหมาก และเส้นทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน) เชื่อมต่อการเดินทางจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ จังหวัดนครปฐม มายังสถานีรถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้า MRT โดยใช้รถโดยสารมาตรฐานใหม่ ที่เอื้อต่อผู้พิการหรือผู้สูงอายุ รองรับระบบบัตร e-Ticket อีกทั้งรองรับการใช้บริการของคนทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียมทั้งผู้สูงอายุและผู้พิการ นอกจากนี้ยังได้ยกระดับรถโดยสารประจำทางมาตรฐานใหม่ ตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นำรถโดยสารมาตรฐานใหม่ เป็นรถปรับอากาศ ชานต่ำ (Low Floor) ขนาดมากกว่า 30 ที่นั่ง ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) ที่มีการออกแบบในลักษณะ Universal Design เน้นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้พิการและผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้แก่ ทางลาดสำหรับเข็นรถวีลแชร์ ปุ่มกดที่เอื้อต่อผู้พิการ และเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อความปลอดภัย ติดตามพฤติกรรมคนขับรถผ่านระบบ GPS Tracking จอแสดงความเร็ว Speed Monitor ติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV มาให้บริการ และในอนาคตเตรียมผลักดันการนำระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ให้มากขึ้น อาทิ รถใช้ก๊าซธรรมชาติ รถไฮบริด และรถพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในที่สุด