ทุนไทย-ญี่ปุ่นทุ่ม 3พันล้านผุดนิคมอุตฯแห่งแรกในอุบลฯสู่ฮับอุตฯอีสานใต้-สามเหลี่ยมมรกต

กลุ่มทุนไทย-ญี่ปุ่นร่วมลงขันตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี หวังปักธงแจ้งเกิดการลงทุนรองรับเศรษฐกิจชายแดน-อินโดจีน

0
790

กลุ่มทุนไทย-ญี่ปุ่นร่วมลงขันตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี หวังปักธงแจ้งเกิดการลงทุนรองรับเศรษฐกิจชายแดน-อินโดจีน

นายณัฐวัฒน์ เลิศสุรวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุบลราชธานีอินดัสตี้ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมกับ บริษัท ไคไกแอดไวซอรี่ จำกัด, บริษัท เวลเนสไลฟ์โปรเจ็ค (ไทยแลนด์) จำกัด  และบริษัท เอเชี่ยนไดนามิค คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วม (MOU) เพื่อจัดตั้ง “นิคมอุตุสาหกรรมอุบลราชธานี” ขึ้น เป็นแห่งแรกในจังหวัดอุบลราชธานี โดยจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2565

โดยนิคมฯดังกล่าว ตั้งอยู่บนพื้นที่ 2,300 ไร่ ในตำบลนากระแซง และตำบลทุ่งเทิ่ง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ใช้เงินลงทุนราว 2,700 ล้านบาท มุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายภาคส่วนอุตสาหกรรมที่หลากหลายในอุบลราชธานีและอีสานใต้ อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป, อุตสาหกรรมเทคโนชีวภาพ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวข้ามแดน, อุตสาหกรรมการบริการ, อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ, อุตสาหกรรมอุปกรณ์ทางการเกษตร, อุตสาหกรรมเครื่องมือและยานยนต์ที่ใช้ในการเกษตร

นอกจากนี้ นิคมฯ ดังกล่าวยังจะเป็นฐานการเชื่อมโยงการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมมรกต(กัมพูชา, สปป.ลาว และเวียดนาม) ที่นักลงทุนต่างๆ จะสามารถกระจายสินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ได้อย่างสะดวกอีกด้วย เนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานีนั้น เป็น 1 ในจังหวัดเขตอีสานใต้ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพทั้งในเรื่องของประชากรที่มีมากกว่า 1.8 ล้านคน ยังไม่รวมประชากรในจังหวัดอีสานใต้โดยรอบอีกกว่า 10 ล้านคน
       
“การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานีขึ้น นอกจากจะเป็นการยกระดับจังหวัดอุบลราชธานีให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องข้างต้นแล้ว นิคมฯแห่งนี้ยังมีบทบาทในฐานะเป็นศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์อันทันสมัยที่พรั่งพร้อมไปด้วยพื้นที่เชิงพาณิชย์ และแหล่งรวบรวมนวัตกรรมใหม่ๆ จากผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอีกด้วย”
         
นายณัฐวัฒน์ ยังกล่าวด้วยว่า โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้รับความร่วมมือจากองค์กรทั้งสี่เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการร่วมลงทุนโดยตรง จากบริษัทภายในและต่างประเทศ จึงถือเป็นโครงการตัวอย่างในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง เพราะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น กระตุ้นการจ้างงาน และรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่สามารถสร้าง มูลค่าการลงทุนให้กับภูมิภาคได้อีกเป็นจานวนมาก โดยเชื่อว่า ภายหลังการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานีขึ้นมา จะกระตุ้น ให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในเขตนี้ไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท และก่อให้เกิดการสร้างงานราว 20,000 อัตราได้ภายในปี 2565