มุ่งเป้าความปลอดภัย ‘จยย.’ ลดเจ็บ-ตาย ติดอันดับโลก

“จักรยานยนต์” หรือรถมอเตอร์ไซค์ เป็นพาหนะยอดนิยมของคนไทย แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดจากอุบัติเหตุทางถนนที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญและทุกฝ่ายควรมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันในการลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนน

0
83

“จักรยานยนต์” หรือรถมอเตอร์ไซค์ เป็นพาหนะยอดนิยมของคนไทย แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดจากอุบัติเหตุทางถนนที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญและทุกฝ่ายควรมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันในการลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนน ทั้งการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยง การสร้างผู้ขับขี่ที่มีคุณภาพสู่ท้องถนน ฯลฯ  อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปลี่ยนมุมมองในการแก้ไขปัญหา ไม่กล่าวโทษว่าเป็นความประมาทหรือความไร้วินัยของผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียว เพราะโอกาสผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ระบบควรป้องกันการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด

นางสาวพรพิมล ตินะน้อย และ นางสาวณิชมน ทองพัฒน์  นักวิจัยด้านนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์  สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ในปีที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เสนอรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนประจำปี 2561 แสดงสถานะว่า ไทยไม่ปลอดภัย ติดอันดับ 9 ของโลก โดยที่มีผู้เสียชีวิต 21,745 รายบนท้องถนน แม้จะดีขึ้นจากอันดับ 2 ของโลกในการประเมินเมื่อ 2 ปีก่อน แต่เมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนประชากรยังคงมีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในเอเชีย โดยเฉพาะตัวเลขการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่ประเทศไทยถือว่าเลวร้ายที่สุดในโลก

“จักรยานยนต์”  เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดและมีสัดส่วนการเสียชีวิตมากกว่า 70% เมื่อเทียบกับยานพาหนะประเภทอื่น กลุ่มเสี่ยงหลัก คือ คนที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้นอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์อาจเป็นปัจจัยของความสูญเสียทางเศรษฐกิจของไทย โดย WHO ประมาณมูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนในปี 2559 สูงถึง 5 แสนล้านบาท ต่อปี หรือ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ

ด้วยข้อจำกัดของระบบขนส่งสาธารณะและสภาพการจราจรในประเทศไทย ทำให้การเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์มีความจำเป็น จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก พบว่า ปัจจุบันมีรถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในระบบสูงกว่า 20 ล้านคัน โดยกลุ่มผู้ใช้งานหลัก ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้ ดังนั้น การทำให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์เดินทางได้อย่างปลอดภัยเป็นมาตรการที่ภาครัฐควรหันมาให้ความสำคัญ

อุปสรรคสำคัญในการจัดการอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์ คือ ภาครัฐไม่สามารถกำกับดูแลผู้ขับขี่ ตั้งแต่การออกใบอนุญาตขับขี่ จนถึงมาตรการบังคับใช้ทางกฎหมาย แม้จะมีรถจักรยานยนต์กว่า 20 ล้านคัน แต่ผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์กลับมีเพียง 12 ล้านคน ด้านมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับขี่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เนื่องด้วยชั่วโมงการอบรมน้อยเกินไป การทดสอบข้อเขียนไม่ครอบคลุมความรู้ที่จำเป็น ไม่มีการสอบภาคปฏิบัติบนถนนจริง อีกทั้งยังไม่มีกฎเกณฑ์และเงื่อนไขเฉพาะในการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง แนวทางในแก้ไขจึงต้องปรับปรุงระบบการให้ใบอนุญาตขับขี่ ควบคู่ไปกับการกำกับดูแลให้ผู้ขับขี่ทุกคนมีใบอนุญาตขับขี่ การดำเนินมาตรการทางกฎหมายของประเทศไทยยังขาดบทลงโทษและการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการกระทำผิดในระดับสูง ข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า “พฤติกรรมผู้ขับขี่” เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์เกือบ 50% ทั้งในเรื่องของการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด การตัดหน้าหรือขับรถตามในระยะกระชั้นชิด การไม่สวมหมวกนิรภัย ฯลฯ

แนวทางการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์ นอกจากการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงแล้ว การสร้างผู้ขับขี่ที่มีคุณภาพสู่ท้องถนนจึงเป็นสิ่งจำเป็น ด้วยมาตรการส่งเสริมให้มีใบอนุญาตขับขี่ มาตรการทางกฎหมายและการส่งเสริมความรู้ อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปลี่ยนมุมมองในการแก้ไขปัญหา ไม่กล่าวโทษว่าเป็นความประมาทหรือความไร้วินัยของผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียว เพราะโอกาสผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ระบบควรป้องกันการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ทุกฝ่ายจึงควรมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันในการลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนน ทั้งการมีถนนที่ปลอดภัย เช่น การสร้างช่องทางรถจักรยานยนต์ และใช้เทคโนโลยีในการลดอุบัติเหตุ เป็นต้น

รวมถึงการมียานพาหนะที่ปลอดภัย เช่น การเพิ่มความเข้มงวดในการ ประเมินมาตรฐานรถ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการติดตั้งระบบ Anti-lock braking System (ABS) และ Combined braking System (CBS) ของรถจักรยานยนต์ หากมีการดำเนินการที่จริงจังอย่างเป็นระบบ จะสามารถ แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์ได้อย่างตรงจุด ช่วยลดอัตราการบาดเจ็บ เสียชีวิตของผู้ขับขี่ และยังส่งผลให้อันดับความปลอดภัยทางถนนของไทยในระดับโลกดีขึ้นด้วย

โดย : สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย