เกษตรกรเลี้ยงหมูขอบคุณ รมว.เกษตรฯ ดันแผนเตรียมความพร้อมรับมือ ASF เป็นวาระแห่งชาติสำเร็จ

0
148

เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศขอบคุณ รมว.เกษตรและสหกรณ์ หลัง ครม. อนุมัติแผนใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASFวงเงิน 148,542,900 บาท ในปีงบฯ 2562-2564 เชื่อว่าจะทำให้การป้องกันโรคที่รัดกุมอยู่แล้วสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ  นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศต่างยินดีและขอขอบคุณ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ผลักดันแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรค ASF ให้เเป็นวาระแห่งชาติได้เป็นผลสำเร็จ และถือว่ามติ ครม. ดังกล่าวนี้ ออกมาได้ทันสถานการณ์ เนื่องจากขณะนี้ใกล้เข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ขณะที่แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่จะกลับสู่ประเทศของตนเอง และเมื่อหลังสงกรานต์ต้องกลับเข้ามาทำงานยังประเทศไทยใหม่ก็อาจจะมีโอกาสนำเชื้อก่อโรคนี้เข้ามาได้ ซึ่งการป้องกันและเฝ้าระวังโรคโดยอาศัยกำลังเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นการยกระดับเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ  จึงช่วยให้รัฐบาลสามารถบูรณาการกับหน่วยงานทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และอื่นๆ ช่วยกันดูแลตามแผนที่กำหนดไว้ได้ดียิ่งขึ้น  

“การที่ ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณเพื่อรับมือโรค ASF เป็นการช่วยป้องกันความเสี่ยงจากโรคดังกล่าวแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงทั้งประเทศและอุตสาหกรรมสุกรของไทย ที่จะสามารถป้องกันโรคร้ายแรงในสุกรนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยสร้างความมั่นใจให้ทุกฝ่ายทั้งผู้เลี้ยงสุกรและผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ตั้งแต่อุตสาหกรรมแปรรูปสุกร อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ และเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ ซึ่งถือเป็นความใส่ใจของกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องการปกป้องเกษตรกรอย่างถึงที่สุด และเกษตรกรหวังอย่างยิ่งที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศที่หลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ของโรคนี้” นายสิทธิพันธ์ กล่าว

แม้ว่า ASF ไม่ได้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน แต่เป็นโรคระบาดร้ายแรงในสุกร ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและควบคุมโรค เชื้อโรคทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิต และสุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบ 100% ซึ่งตามแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรค  ASF ได้กำหนดมาตรการชดเชยหากต้องทำลายสุกรที่เป็นส่วนสำคัญ เนื่องจากจะทำให้เกษตรกรรายย่อยให้ความร่วมมือในการแจ้งเจ้าหน้าที่ เมื่อเกิดโรคในฟาร์ม เพราะมั่นใจได้ว่าจะไม่ขาดทุน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว เมื่อมีแผนแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคดังกล่าวในระดับชาติแล้ว กรณีเลวร้ายที่สุดอาจเกิดโรคในฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยที่อยู่ใกล้ชายแดน แต่เมื่อทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ เชื่อว่าจะไม่เกิดการระบาดเป็นวงกว้างอย่างแน่นอน