ระเบิดเวลา!?ค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทย“โคตรแพง”

0
1231

ณ ปลายทางแห่งฝันอีก 4 ปีข้างหน้าตามแผนแม่บทระยะที่ 1 (M-Map1) ของกระทรวงคมนาคมต่อการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า จะทำให้มีเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลยาวรวมกันเป็น 464 กม. ขึ้นแท่นเป็นเมืองหลวงที่มีโครงข่ายรถไฟฟ้ายาวเป็นอันดับ 3 ของโลก

ถือเป็นการพลิกโฉมการเดินทางและเปลี่ยนเมืองกรุงเทพฯ เป็นมหานครระบบรางอย่างเต็มรูปแบบ อันเป็นผลจากการทุ่มงบมหาศาลเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทั้งทางราง 10 สุดลิ่มทุ่มประตู

แม้ว่า “รถไฟฟ้า” จะกลายเป็นระบบโครงข่ายคมนาคมที่ช่วยให้การเดินทางของคนกรุงเทพฯและปริมณฑลสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงคือปม “ค่าโดยสาร”ที่แพงมหาโหด สวนทางค่าครองชีพคนไทยโดยสิ้นเชิง ทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึงระบบขนส่งมวลชนสาธารณะได้

ยิ่งสื่อเสือเหลืองมาเลเซียได้วิจารณ์ยับค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าของไทยราคาสูงเกินไป ไม่เอื้อต่อคนรายได้น้อยในชีวิตจริง แม้จะขยายเส้นทางไปตามชานเมืองแล้ว แต่เชื่อคนจะใช้บริการน้อยเพราะมีราคาที่แพง ที่สำคัญยังไม่รวมกับค่ารถเมล์ หรือ มอเตอร์ไซค์รับจ้างก่อนที่จะไปต่อรถไฟฟ้าสถานีที่ใกล้ที่สุดด้วย

ผสมโรงด้วยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ออกโรงซัด “ค่ารถไฟฟ้ากรุงเทพฯ”แพงแซงหน้ามหานครลอนดอน และสูงกว่าสิงคโปร์ 15 บาท หรือคิดเป็น 50% สวนทางรายได้ของประชากร หวั่นเปิดรถไฟฟ้าสายใหม่ดันราคาพุ่งแตะ 100 บาท/เที่ยว

ท่ามกลางความคาดหวังทุกภาคส่วนจะเห็นระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าไทยยาวเป็นอันดับ 3 ของโลก และขึ้นชื่อว่าเป็นมหานครระบบรางอย่างเต็มรูปแบบ กรุยทางสู่ฝัน “ฮับระบบรางอาเซียน”อะไรพันธุ์นั้น จะมีประโยชน์อะไรเล่าหากค่าโดยสารยัง “แพง” ผู้มีรายน้อยเข้าไม่ถึง

ก่อนจะถึงวันนั้น!ถึงเวลาแล้วหรือยังที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้อง “สังคายนา” ค่าโดยสารรถไฟฟ้ากันใหม่?

TDRI ชี้ไทยแพงสุดในเอเชียแซงหน้าเมืองผู้ดี-สิงคโปร์

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาของ TDRI เรื่องการเปรียบเทียบต้นทุนค่าใช้จ่ายระบบขนส่งสาธารณะรอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยพบข้อมูลว่า ค่ารถไฟฟ้าในเมืองหลวงเมื่อวัดตามอำนาจดัชนีการซื้อ(Purchasing Power Parity : PPP) พบว่าประเทศไทยอย่างกรุงเทพฯนั้นมีราคาค่อนข้างสูงหรือเฉลี่ยราว 28.30 บาท/เที่ยว สูงกว่าค่ารถไฟฟ้าของสิงคโปร์มากกว่า 50% โดยค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ยของสิงคโปร์อยู่ที่ 13.3 บาท/คน/เที่ยว ส่วนฮ่องกงอยู่ที่ 16.78 บาท/คน/เที่ยว

“สรุปแล้วค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของผู้โดยสาร พบว่าไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยกันเอง รวมถึงพบว่าไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด ซึ่งค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อเที่ยวของคนไทยอยู่ที่ 67.4 บาท คิดเป็น 2.14 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ราว 25.73 บาท คิดเป็น 0.83 ดอลลาร์สหรัฐ และฮ่องกงอยู่ที่ 46.5 บาท คิดเป็น 1.5 ดอลลาร์สหรัฐ”

ดร.สุเมธ ระบุอีกว่าเมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างค่าโดยสารระหว่างรูปแบบการเดินทาง พบว่า ค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ แม้กระทั่งเมืองลอนดอนของอังกฤษ  โดยไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 14.8 บาท คิดเป็น 0.478 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการคำนวณค่าผ่านดัชนีค่าครองชีพและกำลังซื้อที่ต่างกันแต่ละประเทศแล้วเช่นกัน พบว่าสูงกว่าสิงคโปร์ 6 เท่าและสูงกว่า ฮ่องกง 3 เท่า สำหรับตัวเลขการศึกษาพบว่าค่าโดยสารเฉลี่ยต่อ 1 กิโลเมตร ในเมืองลอนดอนอยู่ที่ 12.4 บาท หรือ 0.402 เหรียญสหรัฐ ส่วนสิงคโปร์อยู่ที่ 2.3 บาท หรือ 0.075 เหรียญสหรัฐ และฮ่องกง 4.08 บาท หรือ 0.155 เหรียญสหรัฐ

ถอดสมการ  2 ต้นตอทำให้แพง

ดร.สุเมธ ยังสะท้อนมุมมองถึง 2 ตอ ทำไมแพงว่า ค่ารถไฟฟ้ามีราคาสูง มี 2 เหตุผล คือ 1.รูปแบบการลงทุนส่วนใหญ่ให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งการลงทุนระบบขนส่งสาธารณะจะมีต้นทุนสูงและใช้เวลาคืนทุนนาน2.รัฐไม่มีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่เพียงพอ โดยเฉพาะมาตรการเชิงบังคับจำกัดรถยนต์วิ่งเข้าเมือง เช่น จัดเก็บค่าเข้าเมืองในอัตราสูง ในต่างประเทศได้ใช้มาตรการนี้ทั้งสิ้น เช่น กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ หรือสิงคโปร์ เพราะช่วยบีบให้การใช้รถส่วนบุคคลลำบากขึ้น ทำให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น

“อยากเสนอแนะรัฐต้องจำกัดการใช้รถส่วนบุคคลอย่างจริงจัง เช่น เก็บค่าธรรมเนียมรถเข้าเมืองในอัตราสูง เพราะเป็นเรื่องที่เห็นผลได้จริง อย่าลืมว่าอีก 4-5 ปีรถไฟฟ้าในเมืองจะทยอยเสร็จ รัฐต้องทบทวนเรื่องนี้จริงจัง ไม่ต้องรอให้โครงข่ายครอบคลุมทุกพื้นที่ค่อยมาทำมันจะสายเกินแก้”

กรมรางฯเตรียม 7 มาตรการเสนอรัฐบาลชุดใหม่

ขณะที่กรมการขนส่งทางราง กรมใหม่ป้ายแดงสังกัดกระทรวงคมนาคม ในบทบาทเรกูเรเตอร์ระบบราง จะสามารถกำกับดูแลระบบขนส่งทางรางของประเทศให้ได้มาตรฐานเดียวกัน และจะสามารถดูแลให้ราคาถูกลงได้หรือไม่

 ในเรื่องนี้ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมรางฯ เปิดเผยว่าหากเทียบค่ารถไฟฟ้าไทยกับต่างประเทศแล้วก็ดูแพงกว่า เพราะต่างประเทศรัฐเขาอุดหนุนค่าโดยสารให้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประเด็นนี้เราจะต้องมีการพิจารณาร่วมกันในหลายภาคส่วนอย่างรอบด้าน เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากและเป็นเรื่องละเอียด มีผู้ได้รับผลกระทบในหลายภาคส่วน ที่สำคัญการจะปรับปรุงและแก้ไขอะไรคำนึงถึงความเป็นธรรมกับทุกคนไม่ใช่เฉพาะผู้ใช้รถไฟฟ้าอย่างเดียว

“กรมฯกำลังสรุป 7 มาตรการเสนอให้กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลใหม่พิจารณาเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย คือ 1. เปลี่ยนรูปแบบสัญญาสัมปทานจาก PPP net cost เป็น PPP gross cost 2.กำหนดกรอบราคาขั้นสูงของระบบ 3.กำหนดเงื่อนไขการเชื่อมต่อเพื่อให้ค่าโดยสารไม่สูงเกินไป 4.จัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงาน ด้านเศรษฐกิจและด้านคมนาคม ทำหน้าที่หลักในการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าบริการ”

ส่วนมาตรการที่ 5 คือการยกเว้นเก็บค่าแรกเข้ากรณีเดินทางข้ามระบบโดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเปิด 6.มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และ 7.อุดหนุนค่าใช้จ่ายการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า โดยจะมีการพิจารณาแหล่งเงินหรือกองทุนที่เกี่ยวข้อง โดยปริมาณการอุดหนุนค่าใช้จ่ายการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า เช่น จัดตั้งกองทุน หรือคนที่ใช้รถไฟฟ้าสามารถนำค่าโดยสารมาลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น

รฟม.ออกตัว “แพงจริง”หวังกรมรางฯพระเอกขี่ม้าขาว

ส่วนนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า ค่าเดินทางโดยเฉลี่ยเมื่อวัดตามอำนาจดัชนีการซื้อที่ 28.30 บาท/คน/เที่ยว ตามที่ TDRT ออกมาระบุนั้น ก็ต้องยอมรับว่าสูงกว่าสิงคโปร์และฮ่องกงนั้นเป็นความจริง

“โอกาสที่ค่าโดยสารในอนาคตจะถูกลงหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการกำกับดูแลของกรมรางฯเป็นสำคัญ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลให้อัตราค่าโดยสารระบบรถไฟฟ้าโดยรวมถูกลงโดยตรง ส่วนระบบตั๋วร่วมหรือบัตรแมงมุมที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนานั้นเปรียบเสมือน hardware เท่านั้น คาดว่าถ้ากรมรางฯจัดตั้งได้เต็มรูปแบบจะเห็นการพัฒนาทุกอย่างให้ได้มาตรฐานและเป็นธรรมได้ชัดขึ้น

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC สะท้อนมุมมองว่าต้องยอมรับความเป็นจริงค่าโดยสารรถไฟฟ้าในต่างประเทศราคาถูกเพราะมีรัฐอุดหนุนโดยนำรายได้การเก็บภาษีและจากการพัฒนาเชิงพาณิชย์ (TOD) รอบสถานีมาช่วย ขณะที่ระยะทางแต่ละประเทศก็ไม่เท่ากัน ดังนั้น การคิดค่าเฉลี่ยการเดินทางก็จะไม่เท่ากัน

“เราลงทุนบีทีเอส 100% ขาดทุนมาตลอด มีกำไรหลังปรับโครงสร้างหนี้ และมีสัญญาสัมปทานกับ กทม.อยู่ ให้ปรับราคาได้ทุก 18 เดือน ที่ผ่านมาไม่ได้ปรับมานาน เพิ่งปรับครั้งที่ 3 เมื่อ ต.ค. 2560 จาก 15-42 บาท เป็น 16-44 บาท ยังเป็นอัตราไม่เต็มเพดานระหว่าง 20.11-60.31 บาท และสัมปทานยังไม่สิ้นสุด
ก็ต้องเก็บในอัตรานี้”

เจรจาล่ม!”ปมปัญหาค่าแรกเข้า”

แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าหลังปมร้อนค่าโดยสารรถไฟฟ้าจุดติดและถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วง แรงกระเพื่อมเขย่าผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวงฯในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว  โดยแนวทางการจัดการเรื่องระบบค่าโดยสารร่วม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาตั๋วร่วมเพื่อลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าลง โดยกระทรวงฯจะให้ทีดีอาร์ไอไปศึกษา เพื่อกำกับดูแลค่าโดยสารให้เหมาะสมกับความเป็นจริง

 “หนึ่งในเงื่อนไขที่ยังเป็นปมเงื่อนให้เร่งแก้ไข ก็คือการเข้าระบบตั๋วร่วม คือต้องมีการยกเว้นค่าแรกเข้า 14-15 บาท ต่อการเปลี่ยนเส้นทางรถไฟฟ้า เช่น จากรถไฟฟ้าบีทีเอสไปรถไฟฟ้าใต้ดิน เหมือนกับปัจจุบันเริ่มใช้ในสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงแล้ว”

แต่ทว่า จากการหารือเบื้องต้นกับบริษัทผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสมีข้อเสนอว่า จะไม่ยกเว้นค่าแรกเข้าให้ในระบบตั๋วร่วม แต่อาจจะขอเสนอเป็นลดค่าโดยสารประมาณร้อยละ 10-15 แทน เช่น หากค่าโดยสาร 60 บาท จะลดราคาให้ 6-9 บาท เป็นต้น ซึ่งในเรื่องนี้ต้องหารือกันอีกครั้ง

“ยอมรับปมปัญหาการเจรจาลดค่าแรกเข้ามีปัญหาจริง เนื่องจากข้อสรุปและข้อตกลงการเชื่อมตั๋วร่วมมักถูกที่ประชุมคณะกรรมการบริหารชุดใหญ่ (บอร์ด) ตีตกไม่ผ่านความเห็นชอบ”

คนกรุงอ่วม!รถไฟฟ้าบีทีเอส “แพงสุด”

ด้านการเปิดเผยข้อมูลของเว็ปไซต์ Aom Money พบว่าระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าที่แพงที่สุดคือ ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสแพงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ของ รฟท. โดยเทียบจาก BTS สถานีศาลาแดง – อโศกราคาอยู่ที่ 37 บาท กับ MRT สถานีสีลม – สุขุมวิทจ่ายแค่ 23 บาท ซึ่งมีราคาแตกต่างถึง 14 บาทหรือต่อให้เทียบกันในราคาสูงสุด จาก BTS ศาลาแดง ไป BTS หมอชิต 44 บาท กับ MRT สีลม ไป MRT สวนจตุจักร แค่ 42 บาท MRT ก็ยังถูกกว่าอยู่ดี

“อีกทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอสยังมีส่วนต่อขยายไปชานเมืองซึ่งอาจทำให้ค่าเดินทางของคนกรุงสูงสุดถึง 59 บาท และอาจมากกว่า 100 บาทหากต้องการเดินทางจากเขตชานเมืองช่วงบางใหญ่-บางนา หรือ บางใหญ่-บางหว้า อีกทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอสยังไม่มีการยกเว้นค่าแรกเข้า เหมือนกับการเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT กับรถไฟฟ้าสายสีม่วงของ รฟม.”

ขณะที่การเปรียบเทียบราคาแพคเกจเหมาเที่ยวพบว่า รถไฟฟ้า MRT คิดค่าบริการเหมา 40 เที่ยว ราคา 1,040 บาทและเหมา 50 เที่ยว ราคา 1,250 บาท ขณะที่รถไฟฟ้า BTS คิดค่าบริการเหมา 40 เที่ยวราคา 1,080 บาท และเหมา 50 เที่ยว ราคา 1,300 บาท

สุดท้ายแล้วทางออกปมปัญหาหนักอกคนกรุง-ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าจะได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่?อย่างไร?

 ถือเป็นระเบิดเวลาที่รอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาถอดสลักได้หรือไม่?

….ปูเสื่อรอ!