ทอท.เปิศศึกทย.ชิง 4 สนามบิน “ผู้ใหญ่รังแกเด็ก”?

0
246

ร้อนปรอทแตกทะลุน่านฟ้าไทยทันทีหลังบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศเปรี้ยงบอร์ดทอท.มีมติเปลี่ยน 4 สนามบินที่จะรับโอนจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยเปลี่ยนขอรับโอนสนามบินกระบี่(จากเดิมเป็นสนามบินสกลนคร) บุรีรัมย์ ตาก และอุดรธานี

อุณหภูมิความร้อนฉ่าคงไม่ปะทุหรอกหากบอร์ดทอท.ยังย้ำตามแผน 4 สนามบินเดิม ไม่เปลี่ยนใจกลางอากาศไปแตะ“สนามบินกระบี่” ที่เป็นเปรียบเสมือนสนามบินขุมทรัพย์ที่มีรายได้มากสุดแต่ละปี ซึ่งพอหล่อเลี้ยงอีก 28 สนามบินใต้ปีกทย.

การศึกแย่งชิงสนามบินกระบี่จึงปะทุขึ้น พร้อมกับข้อครหาว่า “ทอท.” รัฐวิสาหกิจที่มีรายได้หลักหมื่นล้าน แต่จะมาแย่ง “สนามบินกระบี่”ของ ทย.ที่มีรายได้รวมหลักร้อยล้านไปบริหารเอง อ้างเหตุผลสุดคลาสสิคทำตาม “ยุทธศาสตร์ชาติ”

ทั้งที่สนามบินกระบี่เป็นเหมือนผู้นำครอบครัวของ ทย. หาเงินมาเลี้ยงสนามบินอื่นๆ สร้างรายได้ปีที่แล้วถึง 55% หรือ 469 ล้านจากรายได้ทั้งหมด 852 ล้าน ถ้าอุ้มแม่ของเขาไปแล้วลูกๆสนามบินที่เหลือจะอยู่ยังไง? ต้องหาเงินแบบเลือดตาแทบกระเด็นขนาดไหน? หรือทอท.มีใบสั่งจากใครมา?

ทุ่มทุน 1.2 หมื่นล้านเสริมศักยภาพ 4 สนามบิน

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ทอท. ระบุว่า บอร์ดทอท.มีมติเห็นชอบปรับแผนการขอรับโอน 4 สนามบินใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นขอรับโอนสนามบินกระบี่ สนามบินบุรีรัมย์ สนามบินตาก และสนามบินอุดรธานี

“วัตถุประสงค์การปรับแผนครั้งนี้ เพราะต้องการให้สนามบินรอง เพิ่มศักยภาพอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือและใต้ ซึ่งสนามบินเชียงใหม่กับสนามบินภูเก็ตค่อนข้างแน่นมากแล้ว และไม่สามารถรอการพัฒนาสนามบินภูเก็ต 2 และสนามบินเชียงใหม่ 2 ได้ เนื่องจากใช้เวลา 3-5 ปีกว่าจะเปิดบริการ โดยจะเสนอเรื่องเข้าสู่กระทรวงคมนาคม ก่อนนำเสนอขอความเห็นชอบต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป”

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ทอท.สำทับอีกว่า เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจะเดินหน้าลงพื้นที่สำรวจวงเงินลงทุนปรับปรุงสนามบินให้รองรับนักท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ควบคู่ไปกับวางยุทธศาสตร์การตลาด เบื้องต้นคาดว่า ต้องใช้เงินลงทุนในการพัฒนาศักยภาพทั้ง 4 สนามบิน ประมาณ 1.1 – 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อปรับปรุงอุปกรณ์ภาคพื้น อาคารผู้โดยสาร รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

ทย.ค้าน“ทอท.”ฮุบกระบี่ ห่วงกระทบอีก 24 แห่ง

ทันทีที่บอร์ดทอท.ประกาศเปรี้ยง!ฟากทย.ก็ออกโรงค้านทันควัน แจงยิบหากครม.อนุมัติจะกระทบต่อการบริหารจัดการและซ่อมบำรุง 24 แห่งที่เหลือ โดยแหล่งข่าวจากกรมท่าอากาศยานรายงานว่าการโอนท่าอากาศยานในสังกัด 4 แห่งของทย.ให้ทอท. โดยขอเปลี่ยนจากสนามบินสกลนครเป็นสนามบินกระบี่นั้น กรมฯเห็นว่าหากครม. มีมติมอบความรับผิดชอบจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการและซ่อมแซมบำรุงรักษาในอีก 24 ท่าอากาศยานที่เหลือ

“ปัจจุบัน ทย. มีรายได้จากการให้บริการท่าอากาศยานภูมิภาคทั้ง 28 แห่งในปี 2561 เป็นเงินจำนวน 852,466,789 บาท โดยรายได้หลักมาจากการดำเนินงานของท่าอากาศยานกระบี่ ในปี 2561 เป็นเงินจำนวน 469,408,760 บาท คิดเป็น 55.05%  ประกอบกับท่าอากาศยานเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ให้บริการประชาชนครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ และรัฐบาลได้ให้งบประมาณลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ไปมากแล้วเพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการ เช่น การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และการขยายลานจอดอากาศยานซึ่งกำลังดำเนินการอยู่”

อีกทั้งในปีงบประมาณ 2563  ทย.ได้ขอรับงบประมาณในการก่อสร้างทางขับขนานด้วย รวมงบประมาณทั้งสิ้นในการพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่เป็นจำนวน 6,000 กว่าล้านบาท ซึ่งคาดหวังว่าจะนำรายได้ที่จัดเก็บเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานโดยรัฐบาลมีแนวโน้มจะลดภาระงบประมาณในส่วนนี้ของ ทย.ลง  
 
เร่งปรับโครงสร้างเงินฯ ลดพึ่งพางบประมาณรัฐ

แหล่งข่าวระบุอีกว่ารายได้จากการดำเนินการของ ทย. รวมทั้งรายได้จากการดำเนินงานของท่าอากาศยานกระบี่ ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศกำหนดให้กรมฯ สามารถนำรายได้จากกาให้บริการท่าอากาศยานเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานเพื่อใช้ในการบริหารจัดการและซ่อมแซมบำรุงรักษาท่าอากาศยาน

“การซ่อมบำรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ลิฟท์ บันไดเลื่อน สายพานลำเลียงซึ่งมีข้อขัดข้องไม่สามารถตั้งงบประมาณไว้ล่วงหน้าได้ รายได้ที่เข้าสู่กองทุนจึงเป็นกลไกในการบริหารจัดการท่าอากาศยานให้สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างสะดวกรวดเร็วทันต่อการให้บริการผู้โดยสาร”  

ประกอบกับขณะนี้ ทย.อยู่ในระหว่างจัดทำโครงสร้างเงินทุนหมุนเวียนเพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการพึ่งพางบประมาณของรัฐปีละ 1,000 ล้านบาท และใช้สำหรับแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของผู้โดยสารในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เพียงพอ การซ่อมบำรุงล่าช้าและการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานสนามบิน

โอด!แบกไม่ไหวภาระบริหาร-ซ่อมบำรุงอีก 24 สนามบิน

ดังนั้น ทย.จึงขอสอบถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในผลกระทบที่เกิดขึ้นอีกทั้ง คำขอของพื้นที่ในการสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ที่ห่างไกลอาจจะต้องขอทบทวนหรืออาจจะมีขึ้นได้ยาก  

เนื่องจาก ทย. ไม่สามารถรับภาระในการบริหารจัดการและซ่อมบำรุงท่าอากาศยานที่เหลือทั้ง 24 แห่งได้ ทย. อาจเสนอกระทรวงคมนาคม ให้พิจารณาเรื่อง management contract หรือ PPP เพื่อความโปร่งใส  ดังนั้น กรมท่าอากาศยาน จึงไม่เห็นด้วยในการส่งมอบการบริหารจัดการท่าอากาศยานกระบี่ให้ ทอท. เนื่องจากมีผลกระทบในทางลบต่อประชาชนและผู้ใช้บริการท่าอากาศยานต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้การส่งมอบพื้นที่ 4 สนามบินกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ ยืนยันว่า จะไม่มีความล่าช้าในยุคการทำงานของตน คาดว่าจะเสนอ ครม.เรื่องโอน 4 สนามบินได้ภายในปีนี้

“ส่วนประเด็นการคัดค้านจากทย.กับทางทอท.นั้น ตอนนี้กำลังเตรียมเชิญทั้ง 2 หน่วยงานมาจับเข่าเคลียร์ใจกัน ซึ่งยังเป็นเรื่องของมติบอร์ด ทอท.พิจารณาเท่านั้น หลังจากนี้จะต้องมาหารือเพื่อสรุปกันอีกครั้ง เรื่องสนามบินกระบี่ เป็นเรื่องที่บอร์ด ทอท. พิจารณา ซึ่งถ้า ทย.ไม่เห็นด้วยก็อยู่ที่ ทย. ว่าจะให้เหตุผลว่าอะไร และที่ไม่ให้เพราะอะไร คนที่ตัดสินใจคือ ทย. เพราะเขาเป็นเจ้าของ ต้องมาคุยกัน ตอนนี้ยังไม่ได้คุยกันเลย”

ผลสุดท้ายแล้ว ประเด็นร้อนทะลุน่านฟ้าไทยนี้จะลงเอ่ยอย่างไร? แต่เวลานี้สังคมได้พิพากษาทอท.ไปแล้วว่า “ผู้ใหญ่รังแกเด็ก?”หรือ ทอท.ตั้งใจเปิดศึกรังแกเด็ก

เพราะ..มีใบสั่งจากใคร?