จริงหรือ?รถบรรทุกสินค้า “ต้นตอรถติด-มลภาวะ-อุบัติเหตุ”

0
711

หากไม่นับประเทศลิเบียดินแดนแห่งสงครามด้วยแล้ว ประเทศไทยคือ “เบอร์หนึ่งโลก”ครองแชมป์เป็นประเทศที่มีสถิติอัตราการตายบนท้องถนนมากที่สุด ตามสถิติที่น่าตกใจพบว่าเมื่อปี 2559 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนราว 22,000 ราย ข้ามมาปี  2561 ทะลุถึง 22,491 ราย เฉลี่ยวันละ 50 – 60 ราย ข้อย้ำวันละ 50-60 ราย

ยังไม่เหมารวมถึงมีผู้ที่ไปเข้ารับการรักษาที่ รพ. จากกรณีรถชนประมาณ 1 ล้านคน และกลายเป็นผู้พิการราว 6 หมื่นคนต่อปี ได้เห็นตัวเลขเป็นประจักษ์พยานเยี่ยงนี่แล้วก็ไม่น่าแปลกใจหรอกว่าไทยจะทะยานเป็นเบอร์หนึ่งโลก

ปมร้อนกระแทกใจและอารมณ์คนไทยทั้งประเทศนี้ ไม่ใช่ว่าประเทศไทยเองจะนิ่งดูดายแล้วไม่ทำอะไรเลย เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้คลอดมาตรการต่างๆตลอดถึงการผนึกสารพัดความร่วมมือกับทุกภาคีเครือข่ายหวัง “ปลดแอก” เรื่องนี้สุดลิ่มทิ่มประตู ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายชนิด “เข้มข้น”มากน้อยเพียงใด จนแล้วจนรอดก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ขณะที่รถบรรทุกขนส่งสินค้าแม้จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ทว่า อีกด้านก็ยังตกเป็น “แพะรับบาปสังคม”ทั้งในมุมสร้างปัญหารถติด ปล่อยมลพิษทางอากาศ บ่อเกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรง ว่ากันว่ามูลค่าความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจตกปีละ 1 แสนล้านบาทเลยทีเดียว         

รถบรรทุกสินค้า ก่อเกิดปัญหาจราจร

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วงอย่างมาก และยิ่งเพิ่มความสูญเสียอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากอุบัติเหตุอันเกิดจากรถบรรทุกขนส่ง หลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเร่งหาแนวทางแก้ไขอย่างบูรณาการ หวังช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุและลดการสูญเสียบนท้องถนนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  

“ระบบการขนส่งสินค้าในบ้านเราปัจจุบันกว่า 80 % ยังเน้นไปที่การขนส่งทางบกทางถนนเป็นหลัก แม้จะเข้าใจและรับรู้ว่าเป็นโหมดการขนส่งทางบกนี้มีต้นทุนสูงก็ตาม เนื่องจากการพัฒนาการขนส่งผ่านระบบรางหรือรถไฟทางคู่ยังล่าช้าอยู่ และไทยเองยังไม่มีบริษัทเข้ามาบริหารจัดการด้านระบบการขนส่งที่เป็นมืออาชีพมากนัก”

ผศ.ดร.ธนวรรธน์  ระบุอีกว่าผลจากการที่รถบรรทุกสินค้าต่างขนส่งสินค้าทางบกกันมาก ก็ย่อมก่อให้เกิดปัญหาการจราจร และอื่นๆตามมา คิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมปีละ 1 แสนล้านบาท

“ยังไม่รวมผลกระทบความสูญเสียจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกรณีรถบรรทุกสินค้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รถติดยาวนาน โดยเฉพาะในพื้นที่ไกล้ๆสถานีขนส่งสินค้าต่างๆ ทำให้ประชาชนทั้งที่เป็นบริษัทขนส่งรถบรรทุกสินค้าเองก็มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มเติมอีกด้วย”

ค่าเฉลี่ยรถใหญ่ปล่อยมลพิษมากกว่ารถเล็ก

จากปัญหาที่นี้สังคมต้องการให้มีหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนประเมินผลกระทบระบบเศรษฐกิจเกี่ยวกับรถบรรทุกในหลายๆมิติ คาดว่าจะมีมูลค่าผลกระทบมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งภาคส่วนต้องบูรณาการความร่วมมือกันอย่างจริงจังและเข้มแข็ง ไม่ควรปล่อยปัญหานี้ให้ยืดเยื้อไปโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

“เมื่อมีการเพิ่มปริมาณรถบรรทุกจำนวนมากขึ้นทุกปี ก็ยิ่งจะสร้างมลพิษต่ออากาศและสุขภาพประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้ๆถนน มีปัญหาสุขภาพและต้องการจ่ายค่ารักษาสุขภาพ ภาครัฐเองก็ใช้งบประมาณที่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวปีละไม่ต่ำกว่า 6 พัน-1 แสนล้านบาท เนื่องจากค่าเฉลี่ยการปล่อยมลพิษรถบรรทุกสินค้าจะมีมากกว่ารถยนต์ทั่วไป”

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ย้ำด้วยว่าจากการศึกษาช่วงที่ผ่านมา พบว่าต้นทุนระบบโลจิสติกส์บ้านเราอยู่ที่ประมาณ 12-13 ของจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่า 2 ล้านล้านบาทจากมูลค่าจีดีพี 15-16 ล้านล้านบาท หากคิดเฉพาะต้นทุนโลจิสติกส์ทางบก ทั้งจากรถบรรทุกขนาดใหญ่และรถบรรทุกขนาดเล็กคิดเป็นมูลค่าต้นทุน 1.6 ล้านล้านบาท

“เนื่องจากสภาพการขนส่งในไทยผ่านระบบการขนส่งทางบกสะดวกที่สุด และบริษัทผู้ผลิตสินค้าหรือกิจการต่างๆส่วนมากจำเป็นต้อนมีรถขนส่งสินค้าเป็นของตัวเองก็ยิ่งทำให้มีปริมาณรถบรรทุกเพิ่มขึ้นตลอด ทั้งรถขนาดเล็กและขนาดใหญ่”

“ระบบราง”ตอบโจทย์ลดต้นทุนการขนส่งมากสุด  

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ ยังสะท้อนมุมมองต่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางด้วยว่าการขนส่งทางรางหรือผ่านรถไฟทางคู่ ถือว่าเป็นการขนส่งที่ประหยัดต้นทุนได้มากที่สุด ลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และอุบัติเหตุได้ดีที่สุด แต่คาดว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้า ไทยน่าจะพัฒนาระบบรางได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเวลานี้การรถไฟกำลังเดินหน้าก่อสร้างรถไฟทางคู่เชื่อมโยการขนส่งทั่วประเทศ

“เวลานี้ต้องการให้มีการลงทุน หรือส่งเสริมบริษัทจัดการระบบขนส่งมืออาชีพเข้ามาจำนวนมาก ก็จะช่วยแก้ปัญหาระบบโลจิสติกส์ได้ระดับหนึ่ง เพราะผู้บริการดังกล่าวจะมีวิธีจัดการระเบียบรถขนส่งได้ดีกว่าบริษัททั่วไป”

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ธนวรรธน์ สรุปปิดท้ายว่าภาครัฐเองก็ต้องขับเคลื่อนนโยบายเพื่อลดปัญหานี้อย่างจริงจัง และที่สำคัญบริษัทต่างๆทั้งผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการขนส่งทั่วไป และบริษัทจัดการระบบขนส่งมืออาชีพ ควรเร่งลดการใช้รถบรรทุกที่จะสร้างมลพิษมากๆ

“อีกทั้งยังต้องอบรมพนักงานขับรถบรรทุก ปลูกจิตสำนึกที่ดีต่ออาชีพและความรับผิดชอบต่อสังคม และเช็คสภาพรถอย่างต่อเนื่องเพราะจะช่วยลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ และปัญหามลพิษได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย”