บังคับติด GPS แค่…โยนหินถามทาง!?

0
366

ควันหลงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”เดินทางไปมอบนโยบายให้กับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 1 ในนโยบายที่เรียกเสียงฮือฮาและกลายเป็น Talk of the town

นั่นก็คือการสั่งการให้กรมขนส่งฯไปดำเนินการศึกษาต่อยอดการใช้ GPS กับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลทุกคันจากปัจจุบันที่บังคับกับรถ 4 ประเภท ได้แก่ รถบรรทุก รถตู้โดยสาร รถรับจ้างสาธารณะ และรถโดยสารขนาดใหญ่ หวังลดการเกิดอุบัติเหตุและปัญหาอาชญากรรม

ทันทีที่ไอเดียสุดบรรเจิดนี้ถูกตีแผ่เป็นผ่านโลกข่าวสารออนไลน์ ด้วยไอเดียกระฉูดแตกบวกด้วยแรงโน้มถ่วงโซเชียลมีเดีย เป็นพลังมหาศาลดูดพลเมืองโลกโซเชียลแห่กดไลท์กดแชร์พลางกระทืบคอมเม้นต์สุดเผ็ดร้อนและแสบสันต์อัดเจ้าของไอเดียซะงอมพระราม

ความคิดเห็นส่วนใหญ่จะถูกมองว่าเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนกับห้วงภาวะขาลงเศรษฐกิจไทย เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มเอกชนหรือไม่ และไม่คิดว่าการติด GPS แล้วจะตอบโจทย์การลดอุบัติเหตุ-ปัญหาอาชญการมได้จริงหรือเปล่า?

งอมไม่งอมถัดมาอีกหนึ่งวันท่านรมว.คมนาคมมิอาจต้านแรงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนผ่านโลกออนไลน์ได้ จนต้องโยนผ้าขาวบอก “ไม่พูดแล้ว ยอมแล้ว”พร้อมโยนเผือกร้อนให้กับอธิบดีกรมการขนส่งทางบก จิรุตม์ วิศาลจิตรเคลียร์หน้าเสื่อแทน

โดยอธิบดีกรมขนส่งฯแก้ต่างหวังดับปมร้อนที่ถูกวิจารณ์ยับในโลกโซเซียล ชี้แนวคิดดังกล่าวขนส่งฯอยู่ในขั้นตอนเตรียมศึกษาการความเป็นไปได้กับการติดตั้ง GPS ในรถทุกประเภทตามกรอบเวลา 1 ปี ขนส่งฯจะเปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน เพื่อพิจารณาผลกระทบ-ความเป็นไปได้-ความเหมาะสมในทุกมิติ และคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคล ย้ำเพื่อความปลอดภัย และต้องไม่เป็นภาระประชาชน

จากนั้นต้องมาตัดสินใจอีกครั้งว่าจะเดินหน้าต่อหรือ…หยุดตรงนี้ที่เธอประเทศไทย!?

รัฐแค่…โยนหินถามทาง?

ดร.ชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย(TTLA) ได้สะท้อนมุมมองถึงประเด็นดังกล่าวในฐานะนักวิชาการและอีกฐานะคือผู้ประกอบการขนส่งที่เคยมีประสบการณ์จากการถูกบังคับให้ติด GPS ในรถบรรทุกว่าความส่วนตัวผมมองว่าเป็นแนวคิดที่ดี ก็เหมือนกับเหตุผลที่กรมฯบังคับรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะต้องติดนั้นแหล่ะ แต่คราวนี้มันเป็นรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้มหาศาลในประเทศไทย

“อย่างแรกประชาชนก็ต้องมองก่อนแหล่ะว่าการจะไปติดตั้ง GPS มันคือภาระค่าใช้จ่ายที่เขาต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เราในฐานะที่ถูกบังคับมาก่อนก็พอเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกดีว่ายังไงแม้จะเป็นแนวคิดที่ดีมีประโยชน์ด้านการลดการเกิดอุบัติเหตุ ป้องกันการโจรกรรมตามที่กรมฯได้ระบุเหตุผลเอาไว้ แต่จะทำได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งผมมองว่ารัฐน่าจะแค่โยนหินถามทางมากกว่า”

ดร.ชุมพล ระบุอีกว่าใม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นได้ ลำพังแค่การบังคับในส่วนรถบรรทุกที่มีจำนวนแค่ 1 ล้านคันก็ยังถูกรุมเร้าด้วยสารพัดปัญหาและต้องใช้เวลาพอสมควร แต่นี่รถยนต์และจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมีจำนวนหลายสิบล้านคันจะบังคับยังไงไหว เพราะมันมีผลกระทบต่อคนหมู่มาก รัฐต้องคิดให้รอบคอบและต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดี

เคลียร์ให้ชัดติดแล้ว ‘ลดอุบัติเหตุ-ปลอดภัย’จริงหรือ?

เมื่อถามว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่นั้น ดร.ชุมพล สะท้อนมุมมองว่ากรมฯก็สามารถอ้างเหตุผลความจำเป็นได้เพื่อความปลอดภัยคนหมู่มาก ก็ต้องยอมเสียความเป็นส่วนตัวไปบ้าง แต่กรมฯเองก็ต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้เห็นว่าแนวคิดนี้มันสามารถช่วยสร้างความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุได้จริงหรือไม่อย่างไร

“กรมฯต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์มาแสดงให้ประชาชานได้เห็นชัดว่าเมื่อติด GPS แล้วสถิติการเกิดอุบัติเหตุมันลดลงหรือไม่และความปลอดภัยมันเพิ่มขึ้นจากเดิมหรือไม่ เหมือนกับการติดในรถบรรทุกแล้วบอกว่าจะปลอดภัย ถึงวันนี้ผมก็ยังมองไม่ออกมามันปลอดภัยจริง”

ดร.ชุมพล กล่าวต่อว่าทุกอย่างต้องวัดด้วยข้อมูลและข้อเท็จริงที่หวังผลเกิดได้จริงหากติด GPS ผมมองว่ามันต้องอยู่ที่กลไกว่าเมื่อติด GPS แล้ว ข้อมูลและพฤติกรรมคนขับที่ได้จากรวบรวมจากการติด GPS ถูกขมวดหรือประมวลผลและบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัย เหล่านี้คือสิ่งที่ภาครัฐต้องตอบประชาชนให้ชัดว่าจะเอาข้อมูลจากการติด GPS เข้าสู่วิธีการการบริหารจัดการความปลอดภัย นี่คือสิ่งที่ประชาชนอยากรู้ถึงแนวทางที่จะหวังผลได้จริงจากแนวคิดหรือมาตรการที่ภาครัฐจะบังคับ

สร้างภาระปชช.ส่วนมาก เอื้อประโยชน์เอกชนบางกลุ่ม?

ดร.ชุมพล ย้ำว่าถ้าภาครัฐไม่สร้างความกระจ่างในข้อมูลเชิงประจักษ์ให้กับประชาชนแล้ว ภาครัฐเองก็ต้องเคลียร์ตัวเองแหล่ะรัฐไปสร้างหรือเอื้อประโยชน์มหาศาลให้กับเอกชนผู้ขายและบริการติดตั้ง GPS ค่าเครื่องเท่าไหร่และไหนจะค่าบริการรายเดือนอีกเท่าไหร่ จำนวนรถยนต์และจักรยานยนต์ส่วนบุคคลในไทยก็หลายสิบล้านคัน คิดเฉพาะค่าบริการรายเดือน(แอร์ไทม์)ไม่รวมค่าเครื่อง GPS ก็หลายพันล้านแล้วในแต่ละเดือน

“คนได้ประโยชน์มหาศาลไม่กี่กลุ่ม แต่ประชาชนผู้ใช้ที่เขามองว่าเขาต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มหลายสิบล้านคน เพื่อแลกกับความปลอดภัยแล้วภาครัฐมีอะไรรับประกันได้ว่าติด GPS แล้วจะช่วยสร้างความปลอดภัย นี่คือคำถามที่กรมฯต้องตอบประชาชนได้กระจ่าง เพราะภาระมันเพิ่มขึ้นแล้ว”

ดร.ชุมพล สรุปทิ้งท้ายว่ายกตัวอย่างกับการบังคับรถบรรทุกจำนวน 1 ล้านติด GPS วงเงินที่สะพัดในแวดวง GPS กว่าหมื่นล้านมันก่อให้เกิดประโยชน์ในแง่ความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด กรมฯช่วยแจงให้ประชาชนรับทราบบ้างก็ดี

“ถ้ากรมฯบอกได้ว่าจากการบังคับรถบรรทุก 1 ล้านคันให้ติดไปแล้วมันเกิดสัมฤทธิ์ผลได้จริง จากนั้นค่อยขยับไปบังคับรถอีกหลายสิบล้านคัน หากเป็นอย่างนี้ผมว่าประชาชนจะยอมรับได้ แต่ตรงกันข้ามแค่รถบรรทุก 1 ล้านคันรัฐเองก็ยังไม่สามารถตอบได้ กับการดันทุรันไปบังคับใช้กับอีกหลายสิบล้านคันผมว่ายากมากๆ”