อุ้มแต่รายใหญ่ รายเล็ก…นอนรอวันตาย!

0
152

ผลพวงจากวิกฤติโควิด-19 พ่นพิษใส่แทบธุรกิจจนงอมพระราม หลากหลายธุรกิจหยุดชะงักการขับเคลื่อนธุรกิจหลังรัฐประกาศล็อคดาวน์จนแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัว บางรายถึงขนาดปิดกิจการ พนักงาน-ลูกกจ้างตกงาน โดยเฉพาะ“ธุรกิจรถขนส่งทั่วไทย”ที่ถือเป็นกลุ่มธุรกิจแรกๆที่ได้ผลกระทบหนักกว่ากลุ่มอื่นๆก่อนจะลุกลามบานปลายไปยังธุรกิจอื่นๆ

 ว่ากันตัวเลขความเสียหายเพียงแค่ 3 เดือนสูญรายไปเป็นหมื่นล้าน ทำเอาเถ้าแก่เท่านั้นที่หายใจไม่ทั่วท้อง เพราะต้องทนแบกต้นทุนบานเบอะ จอดทุกคันจอดสงบนิ่งไม่ต้องพูดถึงรายได้จะนำมาหล่อเลี้ยงธุรกิจ  ผู้ประกอบการเอกชนวอนรัฐเร่งหามาตรการช่วยพยุงธุรกิจ

เมื่อภาครัฐเปิดทางให้ผู้ประกอบการรับเยียวยาจากผลกระทบ ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย(สปข.) ในฐานะหัวหมู่ทะลวงฟันรวบรวมพลพรรคยื่นข้อเสนอให้กับกรมการขนส่งฯเพื่อรับมาตรการเยียวยาตามที่รัฐเปิดกว้าง

ทว่า จนแล้วจนรอดจาก 1 เดือน 2 เดือนจะปาเข้าไป 4 เดือนแล้ว ยังไร้สัญญาณจากกรมขนส่งฯ จนกระทั่งล่าสุด (13 ก.ค.2563) นายกสมาคมฯ พร้อมด้วยสมาชิกกว่า 50 รายตบเท้ารัวๆบุกกรมฯหวังทวงถามมาตรการเยียวยากับท่านอธิบดีให้มันรู้ดำรู้แดงว่าเกิดอะไรขึ้นถึงไร้การเยียวยาจากกรมฯ

ธุรกิจเสียหายหมื่นล้าน พนักงานไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นคนระส่ำ

ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร เปิดเผยว่าผลพวงจากวิกฤติโควิดเล่นงาน ตัวเลขกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยกเลิกการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยทั้งหมด ส่งผลให้ธุรกิจเสียหาย ขาดรายได้ตลอด 3 เดือนนับตั้งแต่มกราคม-มีนาคม เป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ยอดบิลต่างๆ ที่มีการวางบิลนับตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อนจ่ายเงินปีนี้ ไม่สามารถรับเงินสดให้เป็นรายได้เข้าบริษัทได้ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังกลุ่มพนักงานในส่วนต่างๆ ทั้งพนักงานขับรถ ช่างผู้ดูแลรถ ตลอดจนพนักงานในออฟฟิศและส่วนอื่นๆ รวมแล้วทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 50,000 คน

“ทั้งหมดนี้จึงเป็นผลของความเดือดร้อนแก่ตัวผู้ประกอบการและกลุ่มลูกจ้างภายในบริษัททั้งหมดที่ต้องสูญเสียรายได้และต้องหยุดงานไปชั่วขณะจากวิกฤติที่เกิดขึ้น อีกทั้งพนักงานส่วนที่จ่ายเงินประกันสังคมอย่างถูกต้องแต่ต้องได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ ยังไม่ได้รับการเยียวยาช่วยเหลือแต่อย่างใด จึงอยากให้นำเงินบางส่วนจากกองทุนประกันสังคมมาดูแลพนักงานบริษัทตามระบบที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน”

ยื่น 3 มาตรการวอนรัฐเยียวยา

นายกสมาคมฯ สปข.ย้ำว่า 3 มาตรการที่เราได้ยื่นให้กับภาครัฐผ่านกรมขนส่งฯนั้น  คือ 1.ให้กลุ่มผู้ประกอบการสามารถยื่นขอ Soft Loan จากะนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการปล่อยกู้สินเชื่อจากภาครัฐดอกเบี้ยต่ำได้ โดยผุ้ประกอบการที่ยื่นกู้สามารถใช้ทะเบียนรถเป็นหลักค้ำประกันแทนการยื่นหลักทรัพย์ที่จะต้องเป็นเรื่องของที่ดินเพียงอย่างเดียว พร้อมทั้งเสนอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องออกมาตรการให้บริษัทไฟแนนซ์ลิซซิ่งรถยนต์ทุกๆ สังกัดช่วยเหลือเยียวยาและผ่อนปรนการชำระค่างวดรถยนต์ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการที่ยังไม่มีรายได้ในขณะนี้ได้

2.ยกเว้นค่าต่อภาษีรถยนต์ประจำปี, ค่าประกันภัยรถยนต์ และ GPS สำหรับรถยนต์ที่จอดสนิทไม่ได้ใช้งานในช่วงวิกฤตินี้ ซึ่งหากสถานการณ์ต่างๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือ หากรถขนส่งคันใดมีการขับเคลื่อนเดินทางในระหว่างนี้ ทางกรมการขนส่งทางบกก็สามารถเรียกเก็บค่าภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้ตามเดิม

3. ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจ้างงานการเดินรถที่ใช้สำหรับกักตัวผู้ที่เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เพื่อให้ผู้ประกอบการเดินรถภาคเอกชนมีรายได้ท่ามกลางวิกฤติ พร้อมส่งเสริมงบประมาณบางส่วนให้สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทยสามารถจัดฝึกอบรมเสริมทักษะ Re-skill และ Up-skill ให้แก่พนักงานขับรถและพนักงานบริการในส่วนต่างๆ ได้

4 เดือนผ่านไร้มาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม

ดร.วสุเชษฐ์ ระบุว่าก่อนหน้านี้ได้พยายามดำเนินการด้วยการทวงถามทางเอกสารมาโดยตลอด แต่ไม่เคยได้รับการเหลียวแล ผู้ประกอบการรถโดยสารนำเที่ยวมีสัญญาณเตือนถึงความเดือดร้อนมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วจนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดโควิดเป็นวงกว้างในช่วงเดือนมีนาคม และรัฐบาลสั่งล็อคดาวน์ประเทศจนถึงเวลานี้เป็นเวลากว่า 4 เดือนแล้ว ที่ผู้ประกอบการไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างจริงใจจากภาครัฐ

“เราเข้าใจถึงปัญหาความเดือดร้อนที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก แต่การออกโครงการช่วยเหลือต่างๆ เห็นได้ชัดว่าเป็นการช่วยอุ้มรายใหญ่เป็นหลัก ในขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กของไทยนอนรอวันตาย รวมถึงความล่าช้าของกระบวนการทำงานของระบบราชการ สมาคมฯได้ทำหนังสือขอความช่วยเหลือไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก ตลอดระยะที่ประสบปัญหา ทางสมาคมฯ พยายามหารือกับทางกรมฯตลอด ทั้งทางตรงและการเข้าพบส่วนตัว แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม”

อย่าให้ผู้ประกอบการไทยต้องตายสนิท

นายกสมาคมฯ สปข.กล่าวต่อว่าวันนี้ทางสมาคมฯ พร้อมด้วยผู้ประกอบการกว่า 50 ราย ขอเป็นตัวแทนผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะทั่วประเทศ เข้าพบท่านอธิบดีกรมฯ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร โดยข้อเรียกร้องที่ทางสมาคมฯ ได้นำเสนอและมีการหารือกับกรมการขนส่งทางบกมาโดยตลอด ซึ่งหวังว่าจะได้รับการพิจารณา

“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านจะเห็นใจผู้ประกอบการคนไทย ที่ผ่านมาเราได้สูญเสียไปมากแล้ว และยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะกลับมาดีขึ้นอีกเมื่อไหร่ อยากให้ภาครัฐฯ ช่วยเราอย่างจริงใจ ตอนนี้ผู้ประกอบการแบกรับภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก หลายรายประกาศปิดกิจการ อย่าให้ผู้ประกอบการไทยต้องตายสนิทเลย”

หากเป็นไปตามที่นายกสมาคมฯได้ร่ายมาแล้วล่ะก็ เป็นที่น่าเห็นใจสำหรับผู้ประอบการรายเล็กจริงๆ ก็ไม่ทราบได้ว่ากระบวนการพิจารณาและเงื่อนไขในการรับเยียวยาจากกรมฯวิจิตรพิสดาร หรือเกิดอะไรขึ้น?ทำไมผู้ประกอบการยื่นมาตรกการเยียวยาเข้ามาเพื่อรัฐจะรับพิจารณาช่วยเหลือในส่วนที่กรมฯมีอำนาจและรับผิดชอบ พูดมาแล้วรับปากแล้วแต่ไม่สนใจใยดีและช่วยเหลือเยียวยาทุกกลุ่ม ก็อย่าหล่นวาจาอะไรออกมาเลย

เพราะมันเสียเวลาและความรู้สึกเปล่าๆปลี้ๆ!