เลื่อนมาตรฐานไอเสียยูโร 5-6 ใครได้-เสีย?

0
2743

หากโรคอัลไซเมอร์ไม่ลักพาตัวไปเที่ยวที่ไหนซะก่อนคงพอจำกันได้กับปัญหาฝุ่น PM2.5 เมื่อครั้ง(ปลายปีที่แล้ว)แผ่ปกคลุมน่านฟ้าหลายพื้นที่ในเขตกทม.และปริมณฑลแล้ว อีกทั้งยังแผ่ครอบคลุมไปอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ขมวดเป็นพลานุภาพปกคลุมม่านตาภาครัฐจนพร่ามัว-มั่วตุ้มในการแก้ไขปัญหาอย่างไร้หางเสือ ร้อนไปถึงนายกฯลุงตู่ถึงขนาดได้โพสต์ข้อห่วงใยลงในเฟสบุ๊กพร้อมสั่งการให้ตำรวจเร่งรัดออกข้อกำหนดสั่งห้ามใช้รถที่ปล่อยควันดำ รถที่ถูกจับจะต้องถูกขึ้น watch list เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถเพื่อต่อทะเบียน

จากนั้นกรมขนส่งฯก็ออกโรงเด้งรับนายกฯลุงตู่ทันควัน พร้อมประกาศเข้มมาตรการล้อมคอกฝุ่น PM2.5 เต็มอัตราศึก ปูพรมตั้งด่านตรวจจับควันดำ”รถบรรทุก-รถโดยสาร”แทบทุกตารางเมตรทั่วกรุง-ปริมณฑลเข้มข้นทะลวงไส้แตกไปทั่วประเทศทั้งในวันธรรมดาและวันหยุดราชการ หากตรวจพบค่าควันดำเกินมาตรฐาน (เกินกว่า 45 %) จะลงโทษเปรียบเทียบปรับ 5 พันบาท และพ่นสี“ห้ามใช้”เด็ดขาด

ว่ากันว่าแหล่งที่มามลพิษฝุ่น PM 2.5 1.ไอเสียดีเซลจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ 52% การเผาชีวมวล จากการเผาในที่โล่งแจ้ง 35% ฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง 8%4 จากข้อมูลจะพบว่าต้นเหตุหลักๆ คือ ไอเสียดีเซล จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ จะด้วยจากอะไรก็แล้วแต่ไม่ว่าจะการดัดแปลงรถยนต์ หรือคุณภาพน้ำมันรวมไปถึงมาตรฐานรถยนต์ EURO

จนกระทั่งกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตฯเดินหน้าผลักดันในเรื่องนี้ เสนอภาครัฐให้บังคับมาตรการขยับมาตรฐานไอเสียรถยนต์ใหม่จากปัจจุบันในไทยยังคงใช้มาตรฐาน EURO ขณะที่ยุโรปนำหน้าไปถึง EURO 6 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งประเทศไทยล้าหลังกว่าเขาถึง 12 ปี ทั้งนี้ เพื่อหวังแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เล่นงานประชาชนคนไทยจนงอมพระนาม

กระทั่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวแผนปฎิบัติการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เห็นชอบแนวทางบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 5 ภายในปี 2564และบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 6 ภายในปี 2565 บังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไป

สะดุดตอ!จมปรักฝุ่น PM 2.5 ต่อไป

ทันที่ครม.ไฟเขียวกับมาตรการดังกล่าว ทำให้ประชาชนคนไทยเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ไม่ต้องทนทุกบ์และจมปรับอยู่กับปัญหาฝุ่น PM2.5 อีกต่อไป ทว่า ความฝันอันสูงสุดกลับต้องสะดุดตออีกครั้งเมื่อกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตฯกลับเสนอให้รัฐบาลขยับมาตรฐานไอเสียรถยนต์ใหม่ออกไปก่อน

 จากเดิมรถยนต์ที่ขายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นไปต้องผ่านมาตรฐานระดับยูโร 5 และปี พ.ศ. 2565 เป็นยูโร 6 (โดยไม่แบ่งว่าเป็นกลุ่มรถเล็ก คือ เก๋ง ปิกอัพ หรือรถใหญ่ คือ รถบรรทุก) ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 หวังช่วยลดมลพิษ และฝุ่นพิษ PM2.5

โดยอ้างเหตุผลว่าการพัฒนาและปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินในการลงทุนอีกมหาศาล ที่สำคัญการพัฒนามาตรฐานรถยนต์และมาตรฐานนํ้ามันควรจะไปควบคู่กัน ขณะที่กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันก็อ้างยังไม่พร้อมการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานดังกล่าว อันเป็นผลจากการวิกฤติโควิดมีการล็อกดาวน์ปิดสนามบิน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาประเทศไทยเพื่อตรวจงานปรับปรุงโรงกลั่นไทยได้

อีกทั้งการลงทุนทุกโรงกลั่นมูลค่ารวมกว่า 5 หมื่นล้านบาทต้องล่าช้าออกไป “เพื่อขอความเห็นใจรัฐบาลผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานให้พิจารณาข้อบังคับดังกล่าว”

ล่าสุด (20 ก.ค.63)ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานมีความเห็นชอบให้เลื่อนมาตรฐานไอเสียรถยนต์ ยูโร 5 ยูโร 6 ออกไป แต่ไม่ขยับระยะเวลาไปไกลตามที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ร้องขอโดยยึดหลักตามมติ ครม.เดิม คือไม่แบ่งแยกรถเล็ก-รถใหญ่ และการขยับมาตรฐานจาก ยูโร 5 ไปเป็นยูโร 6 ยังคงห่างกัน 1 ปี

“สาระสำคัญให้รถยนต์มาตรฐาน ยูโร 5 เลื่อนออกไปเป็น ปี 2567 (เดิม พ.ศ. 2564) และ ยูโร 6 เป็นปี 2568 (เดิม พ.ศ. 2565) หรือขยับช้าออกไปอีก 3 ปี ส่วนมาตรฐานนํ้ามันยูโร 5 ยังคงเดิมที่ 1 มกราคม 2567 ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอมติอย่างเป็นทางการ(มีหนังสือเวียน) จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป”

ค่ายรถดีเซลวิ่งฝุ่นตลบ ปมเลื่อนมาตรฐานไอเสียยูโร 5

ประเด็นมาตรฐานรถยนต์ยูโร 5 และ ยูโร 6 กลายเป็น Talk of the town มาตั้งแต่ปี 2558  ผสมโรงกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ถูกหยิบยกมาผลักดันให้มีความชัดเจน เสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และหารือในละเอียดกับบรรดาค่ายรถยนต์จบปลายปี 2562 จนออกมาเป็นมติครม.มีผลบังคับใช้ ยูโร 5 ในปี 2564 และ ยูโร 6 ในปี 2565

ทำท่าว่าจะดีที่ไหนได้พอเข้าปี 63 กลับมีบางค่ายรถยนต์พยายามขอเลื่อนมาตรฐานไอเสียนี้ออกไปอีก โดยอ้างข้อจำกัดในเรื่องราคาที่ไม่สามารถปรับให้สมดุลกับมาตรฐานไอเดียได้ หรือแม้กระทั่งความไม่พร้อมของน้ำมันตามมาตรฐาน แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงานระบุว่า

“อีซูซุ มิตซูบิชิ นิสสัน ฟอร์ด เป็นแกนนำที่ขอเลื่อนการใช้มาตรฐานไอเสียรถยนต์ ยูโร 5 ยูโร 6 ออกไป แต่การประชุมล่าสุดของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีความเห็นให้ขยับแผนออกไปเพียง 3 ปี เป็นระยะเวลาสั้นกว่าที่ร้องขอ และไม่แบ่งเป็นกลุ่มรถเล็ก-รถใหญ่”

สรุปแล้วสังคมกังขาว่าฝ่ายไหนกันแน่ไม่มีความพร้อม?รัฐบาลเอง หรือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ทว่า ดูทิศทางลมแล้วงานน่าจะเข้าที่ฝ่ายกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์มากกว่า ต้องออกมาให้คำตอบสังคมว่าที่ไม่พร้อมเพราะเรื่องกำหนดราคาไม่ได้ หรือมีอะไรที่มากกว่านั้น?

 อนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้า จวกค่ายรถอ้างข้างๆคูๆ

ขณะที่ดร.ยศพงษ์​ ลออนวล อนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้าในคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าถ้ามาตรฐานไอเสียรถยนต์ต้องเลื่อนออกไป ตามความต้องการของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ มลพิษ PM 2.5 จะอยู่กับคนไปอีกกว่า 10 ปี หรือเทียบกับยุโรปที่เป็นยูโร 4 ตั้งแต่ ปี 2548 และยูโร 5 ปี 2552 และยูโร 6 ปี 2558 ส่วนประเทศไทย รถใหญ่ยังเป็น ยูโร 3 รถเล็ก ยูโร 4 หากเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีกเท่ากับไทยจะล้าหลังมาก

“ค่ายรถยนต์จะมาอ้างเรื่องราคาในการปรับมาตรฐานไอเสียไม่ได้ เพราะต้นทุนระบบการบำบัดเป็น ยูโร 6 เมื่อ 14 ปีที่แล้วอยู่ที่ 20,000 บาท/คัน ดังนั้นถึงวันนี้ต้นทุนต้องถูกลงไปอีก และอย่าอ้างเรื่องนํ้ามันไม่พร้อม เพราะประเทศไทยมีรถ ยูโร 5 และ ยูโร 6 ขายแล้วหลายรุ่นหลายยี่ห้อ(เช่น อีโคคาร์ และรถยุโรป) สามารถใช้งานได้ทั่วไป”

สรุปประชาชนคนไทยยังต้องรอต่อไป และคงต้องจมปรักแสบตาแสบจมูกกับปัญหาฝุ่น PM2.5 กันต่อไปอย่างน้อย 3 ปี เผลอๆพอใกล้ๆอาจเผชิญโรคเลื่อนต่อไปอีก็เป็นได้ สุดท้ายแล้วก็ประชาชนและประเทศชาตินี่แหล่ะที่เสียโอกาสเสียประโยชน์

จริงหรือไม่จริง…บรรดาค่ายรถทั้งหลายแหล่?