‘การรถไฟฯ-ผู้ประกอบการโลจิสติกส์’ร่วมทดลองขนส่งสินค้าทางรถไฟ ช่วยลดต้นทุนขนส่ง

0
143

การรถไฟฯจับมือผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ร่วมทดลองขนส่งสินค้าทางรถไฟ ณ ที่หยุดรถศรีสำราญ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางรางจากโรงงานผลิตไปยังศูนย์กระจายสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟสายใต้ ช่วยแก้ไขปัญหาจราจร ประหยัดเชื้อเพลิง การลดมลพิษ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ก้าวไปสู่ศูนย์กลางโลจิสติกส์ภูมิภาค

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมานายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาระบบรางให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางรางถือเป็นระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ  ต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงาน และมีความคุ้มค่า สามารถขนส่งได้ครั้งละจำนวนมากกว่าทางถนนหลายเท่าตัว อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการช่วยเพิ่มรายได้แก่การรถไฟฯ อีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทพันธมิตรทางการค้า เพื่อทดลองเปิดเดินขบวนรถสินค้าครั้งนี้  ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การสนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าจากถนนมาสู่ระบบราง โดยมีบริษัท ไทยเรล โลจิสติกส์ จำกัด ผู้ขนส่งผลิตภัณฑ์ในเครือบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด (ผลิตภัณฑ์ตราสิงห์) นำร่องขนส่งสินค้าบนแคร่แบบเปลือยจำนวน 10 แคร่ และบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (ห้างโมเดิร์นเทรด โลตัส)  ขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ด้วยตู้สินค้าประเภทคอนเทนเนอร์อีก 10 แคร่ ซึ่งในการเดินขบวนนี้การรถไฟฯ จะมีการทดสอบกระบวนการจัดการขนส่ง วิเคราะห์ต้นทุนการขนส่ง รวมถึงวิธีการบรรจุภัณฑ์ เพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคในครั้งต่อไป

“แม้ปัจจุบันสัดส่วนการขนส่งสินค้า ส่วนใหญ่ของประเทศจะเป็นการขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุกถึง 81% และการขนส่งทางรางยังมีสัดส่วนเพียง 1.9% แต่การรถไฟฯ เชื่อมั่นว่า การขนส่งสินค้าทางรางมีโอกาสขยายตัวได้มากในอนาคต โดยมีปัจจัยสนับสนุน เช่น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูง ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งทางถนนเพิ่ม  การขนส่งทางรางจึงเป็นทางเลือกที่ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้ ประกอบกับรัฐบาล กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ มีการลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางรถไฟสายใหม่ รวมถึงมีการจัดหาหัวรถจักรรุ่นใหม่ ซึ่งจะเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งให้กว้างขึ้น ทำให้บริษัทขนส่งต่าง ๆ มีความเชื่อมั่นต่อการขนส่งสินค้าทางราง เห็นได้จากมีลูกค้าสนใจติดต่อเข้ามาเปลี่ยนโหมดมาใช้บริการขนส่งทางรถไฟอย่างต่อเนื่อง”

ท้ายนี้ การรถไฟฯ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงข่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งผู้โดยสารและสินค้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเปิดให้บริการขนส่งสินค้าหลายประเภทในหลายเส้นทาง ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาจราจร การประหยัดเชื้อเพลิง  การลดมลพิษ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งของไทยให้สามารถแข่งขันทัดเทียมกับอาณาประเทศ และก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคได้ในอนาคตอันใกล้