ขร.เผยสงกรานต์ 65 ปชช.แห่ใช้ระบบรางทะลัก 3.267 ล้านคน

0
56

ขร.สรุปข้อมูลการเดินทางทางรางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 65 สะสมครบ  7 วัน ( 11-17 เมษายน 2565) รวม 3.267 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ 64  กว่า 1 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.43 มีอุบัติเหตุทางรางรวมจำนวน 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ผู้บาดเจ็บ 1 ราย  และรถไฟฟ้าขัดข้องรวม 2 ครั้ง เฉพาะ 17 เม.ย.มีผู้โดยสารเดินทางด้วยระบบรางรวมจำนวน 410,546 คน  

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์  รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565  ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2565 รวม 7 วัน มีประชาชนใช้บริการระบบราง รวมทั้งสิ้น 3,267,068  คน (แบ่งเป็น รถไฟระหว่างเมือง 288,027 คน และระบบรถไฟฟ้า 2,979,041 คน)  เพิ่มขึ้นจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2564 ที่ผ่านมา (10-16 เมษายน 2564 ) จำนวน 1,004,957 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.43 (สงกรานต์ 2564 จำนวน 2,262,111 คน แบ่งเป็น รถไฟระหว่างเมือง 226,121 คน และระบบรถไฟฟ้า 2,035,990 คน) ประกอบด้วย

1) รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีผู้ใช้บริการรวม 288,027 คน  น้อยกว่าประมาณการ 343 คน คิดเป็นร้อยละ 0.12 (ประมาณการ 288,370 คน) แต่เมื่อเทียบกับเทศกาลสงกรานต์ 2564 ที่ผ่านมา พบว่า เพิ่มขึ้น 61,906 คน  หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.38 (สงกรานต์ 2564 มีประชาชนใช้บริการรถไฟ 226,121 คน) แบ่งเป็น ผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 126,914 คน และผู้โดยสารเชิงสังคม 161,113 คน  มีผู้โดยสารขาออกสะสม 141,672 คน และผู้โดยสารขาเข้า 146,355 คน  โดย รฟท. ได้จัดเพิ่มตู้พ่วงไปกับขบวนรถไฟทางไกล และจัดขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสารในเส้นทางกรุงเทพ-อุบลราชธานี-กรุงเทพ เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่-กรุงเทพ เส้นทางกรุงเทพ-ศิลาอาสน์-กรุงเทพ และเส้นทางกรุงเทพ-อุดรธานี-กรุงเทพ รวม 13  ขบวน โดยตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 ให้บริการเดินรถสามารถรองรับผู้โดยสารที่เดินทางได้อย่างเพียงพอและไม่มีผู้โดยสารตกค้าง ซึ่งพบว่า สายใต้มีผู้ใช้บริการมากสุดถึง 94,893 คน (ผู้โดยสารขาออก 47,390 คน ผู้โดยสารขาเข้า 47,503 คน) รองลงมาคือสายตะวันออกเฉียงเหนือ 78,017 คน (ผู้โดยสารขาออก 37,284 คน ผู้โดยสารขาเข้า 40,733 คน) สายเหนือ 62,411 คน (ผู้โดยสารขาออก 31,244 คน ผู้โดยสารขาเข้า 31,167 คน) สายตะวันออก 34,892 คน (ผู้โดยสารขาออก 16,760 คน ผู้โดยสารขาเข้า 18,132 คน) และสายมหาชัย/แม่กลอง 17,814 คน  (ผู้โดยสารขาออก 8,994 คน ผู้โดยสารขาเข้า 8,820 คน)

2) ระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (รวมรถไฟฟ้าชานเมือง(สายสีแดง)) สะสม 7 วัน  มีผู้ใช้บริการ 2,979,041 คน-เที่ยว  มากกว่าประมาณการ 365,474 คน-เที่ยว หรือมากกว่าร้อยละ 13.98 (ประมาณการ 2,613,567 คน-เที่ยว) แต่เมื่อเทียบกับเทศกาลสงกรานต์ 2564 ที่ผ่านมา พบว่า เพิ่มขึ้น 943,051 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.32 (สงกรานต์ 2564 มีประชาชนใช้บริการระบบรถไฟฟ้า 2,035,990 คน) ประกอบด้วย Airport Rail Link 159,971 คน สายสีแดง 41,117 คน สายฉลองรัชธรรม(สีม่วง) 102,913 คน สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) 770,833 คน และรถไฟฟ้าบีทีเอส (สีเขียวและสีทอง) 1,904,207 คน

สำหรับด้านความปลอดภัย ช่วง 7 วัน (11-17 เมษายน 2565) ตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2565 ที่ผ่านมา มีเหตุอันตรายทางรางรวม 6 ครั้ง (ขบวนรถไฟชนคน 2 ครั้ง ชนรถจักรยานยนต์ 1 ครั้ง ผู้โดยสารพลัดตกขบวนรถ 1 ครั้ง คนร้ายปาของแข็งใส่ขบวนรถ 1 ครั้ง  และขบวนรถเบียดกัน 1 ครั้ง ) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และผู้บาดเจ็บ 1 ราย  และมีรถไฟฟ้าขัดข้องรวม 2 ครั้ง ส่งผลให้ขบวนรถล่าช้ารวม 4 เที่ยว (เทศกาลสงกรานต์ 2564 มีเหตุอันตรายทางรางจำนวน 8 ครั้ง (ขบวนรถไฟชนคน 4 ครั้ง ชนสัตว์ 3 ครั้ง และผู้โดยสารพลัดตกขบวนรถไฟ 1 ครั้ง)   มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 3 ราย ส่วนระบบรถไฟฟ้าเกิดเหตุขัดข้อง 3 ครั้ง)

ทั้งนี้ เมื่อวาน (17 เมษายน 2565) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ 2565 มีประชาชนมาใช้บริการระบบรางรวมจำนวน 410,546 คน (ลดลงจากวันที่ 16 เมษายน 2565 จำนวน 1,944 คน หรือลดลงร้อยละ 0.47) แบ่งเป็น รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 44,466 คน และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) จำนวน 366,080 คน   โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.รถไฟของ รฟท. จำนวน 44,466  คน (เพิ่มขึ้นจาก 16 เมษายน 2565 จำนวน 4,242 คนหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.55) แบ่งเป็น ผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 21,660 คนและเชิงสังคม 22,806 คน  โดยมีผู้โดยสารขาออกจำนวน 16,509 คน (เพิ่มขึ้นจากวันที่ 16 เม.ย.65 จำนวน 878 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.62) และผู้โดยสารขาเข้า 27,957 คน (เพิ่มขึ้นจากวันที่ 16 เม.ย.65 จำนวน 3,364 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.68) โดยพบว่า สายใต้มีผู้ใช้บริการมากสุดถึง 13,869 คน (ผู้โดยสารขาออก 5,885 คน ผู้โดยสารขาเข้า 7,984 คน) รองลงมาคือสายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 13,612 คน (ผู้โดยสารขาออก  4,213 คน ผู้โดยสารขาเข้า 9,399 คน) สายเหนือ 9,988 คน (ผู้โดยสารขาออก 3,539 คน ผู้โดยสารขาเข้า 6,449 คน) สายตะวันออก 4,637 คน (ผู้โดยสารขาออก 1,712 คน ผู้โดยสารขาเข้า 2,925 คน) และสายมหาชัย/แม่กลอง 2,360 คน (ผู้โดยสารขาออก 1,160 คน ผู้โดยสารขาเข้า 1,200 คน) โดย รฟท.ได้จัดขบวนพิเศษช่วยการโดยสารจำนวน 5 ขบวน (ขาออก 1 ขบวน เส้นทางกรุงเทพ-อุบลราชธานี และขาเข้า 4 ขบวน เส้นทางเชียงใหม่-กรุงเทพ ศิลาอาสน์-กรุงเทพ อุบลราชธานี-กรุงเทพ และอุดรธานี-กรุงเทพ มีผู้โดยสารใช้บริการขบวนรถพิเศษช่วยการโดยสาร 5 ขบวน รวมจำนวน 2,478 คน

 2.ระบบรถไฟฟ้า จำนวน 366,080 คน (ลดลงจาก 16 เมษายน 2565 จำนวน 6,186 คน หรือลดลงร้อยละ 1.66) ประกอบด้วย รถไฟฟ้า Airport Rail Link จำนวน 21,808 คน  รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง)  จำนวน  6,054 คน รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) จำนวน 12,626 คน  รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) จำนวน  90,430 คน และรถไฟฟ้าบีทีเอส (สีเขียวและสีทอง) จำนวน  235,162 คน   โดยผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าจัดขบวนรถไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ ไม่มีขบวนรถเสริม

สำหรับด้านความปลอดภัยประจำวันที่ 17 เมษายน 2565 พบว่า หน่วยงานผู้ให้บริการระบบรางดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่( Covid-19) อย่างต่อเนื่อง  ไม่มีเหตุอันตรายต่อการเดินรถไฟ และไม่มีรถไฟฟ้าขัดข้อง