ขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน อีกหนึ่งนโยบายสะท้อน Drifting Policy

0
492

เป็นอีกเรื่องที่รัฐบาล “ลุงตู่” เสียรู้คลัง

ด้วยความเป็นนายทหารมืออาชีพที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เลยทำให้นายกฯ หวังพึ่ง “ทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นหัวหน้าทีม เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาหลายต่อหลายนโยบายต้องถูกแทรกแซง เผชิญแรงเสียดทาน

อย่างนโยบายปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ ทลายเครือข่ายทัวร์ศูนย์เหรียญที่ทำลายภาพพจน์การท่องเที่ยวไทยที่รัฐบาลงัด ม.44 ดำเนินการปราบปรามอย่างจริงจังนั้น ก็เผชิญกับแรงเสียดทานจากเครือข่ายกลุ่มธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำและสัมปทานร้านปลอดภาษี ที่นัยว่ามีการอุปโลกน์ข้อมูลนักท่องเที่ยวได้โยกย้ายไปทัวร์ยุโรปและเพื่อนบ้าน

แต่ด้วยความมุ่งมั่นของรัฐก็ไดพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ได้ทำให้การท่องเที่ยวไทยทรุดฮวบจนกอบกู้ไม่ได้ ล่าสุดสถานการณ์ท่องเที่ยวจากจีนเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติและทะยานกลับขึ้นมาเป็นบวกอีกครั้งแล้ว พร้อมกับความคาดหวังที่รัฐบาลเชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวในปีนี้จะกลับมาเป็นกลไกหลักของการขับเคลื่อนประเทศได้อีกครั้ง

แต่กระนั้นก็ดูเหมือนนโยบายดังกล่าวกำลังเผชิญกับแรงเสียดทานอย่างหนักจากการดำเนินนโยบายด้านการเงินการคลังของรัฐที่กำลังจ่อ “ถังแตก” จนต้องวิ่งวุ่นหาแหล่งเงินรายได้ที่จะเข้ามาปิดหีบงบประมาณรายจ่ายที่นัยว่าอยู่ในภาวะขาดดุลงบประมาณมากที่สุดเป็นประวัติการณ์

จนล่าสุดกระทรวงการคลังตัดสินใจงัดมาตรการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเชื้อเพลิงการบินหรือน้ำมันเครื่องบินกันดื้อๆ จากที่เคยจัดเก็บอยู่ลิตรละ 20 สตางค์ต่อลิตร ขึ้นมาพรวดเดียวถึง 4 บาทต่อลิตร และจัดเก็บน้ำมันหล่อลื่น 5 บาทต่อลิตร จากเดิมที่ไม่มีการจัดเก็บมาก่อน

ยังผลให้ธุรกิจสายการบินน้อยใหญ่ระส่ำ และส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปยังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยโดยตรง โดยล่าสุด บิ๊ก “ไทยแอร์เอเชีย” นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ได้ออกโรงสับนโยบายรัฐและกระทรวงการคลังต่อการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินในครั้งนี้ว่า ไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการสายการบินโดยตรง ยังเป็นการดำเนินการที่สวนทิศทางนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาลโดยตรงอีกด้วย

โดยนายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินเป็น 4 บาทต่อลิตร จากเดิมเก็บที่ 20 สตางค์ต่อลิตร ส่วนน้ำมันหล่อลื่นถูกจัดเก็บลิตรละ 5 บาท จากเดิมไม่มีเก็บนั้น แม้จะส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มปีละประมาณ 8 พันล้าน แต่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทำให้ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งถือเป็นต้นทุนหลักของการประกอบกิจการบินนั้นพุ่งสูงขึ้นทันที  และคงจะทำให้สายการบินต่างๆ ประกาศบวกเพิ่มค่าธรรมเนียมเซอร์ชาร์จน้ำมันเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

ในส่วนของไทยแอร์เอเชียนั้น มีต้นทุนน้ำมันปีนี้ เพิ่มขึ้นอีก 1,500 ล้านบาท  และทำให้สัดส่วนต้นทุนน้ำมันปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 35% จากสัดส่วนเดิม 33% ทำให้สายการบินมีความจำเป็นต้องประกาศปรับราคาบัตรโดยสารเส้นทางบินในประเทศ ในอัตรา 150 บาทต่อคนต่อเที่ยวบิน สำหรับเส้นทางบินภายในประเทศมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่วนสายการบินนกแอร์ และไทย ไลอ้อนแอร์ มีผลตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ขณะที่สายการบินบางกอก แอร์เวย์ส ปรับเพิ่มขึ้น 200 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560

“ปัจจุบันราคาน้ำมันอากาศยานโลกอยู่ที่ 65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หากปรับขึ้นไม่เกิน 3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก็คงไม่มีการปรับราคาตั๋วเพิ่มขึ้นอีก  แต่หากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่านี้ ก็ยอมรับว่ามีความจำเป็นว่าอาจจะต้องปรับเพิ่มขึ้นอีกเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง นอกจากนี้ผลพวงจากการปรับขึ้นค่าโดยสารภายในประเทศยังจะทำให้ตั๋วเครื่องบินภายในประเทศ มีราคาพอๆ กับราคาตั๋วเครื่องบินเดินทางไปกลุ่มประเทศกัมพูชา สปป.ลาว พม่า  เวียดนาม หรือซีแอลเอ็มวี  แล้วที่นี้ คิดว่านักท่องเที่ยวตลาดคนไทยจะไปเที่ยวไหนมากกว่ากัน เพราะจริงๆ แล้ว ปรับเพิ่มขึ้น 10-20 บาท ก็มีผลต่อราคาตั๋ว และการท่องเที่ยวในประเทศโดยตรงแล้ว แต่นี่ขึ้นมา  150  บาท ถือว่าสวนทางกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยอย่างสิ้นเชิง” นายธรรศพลฐ์ กล่าว

ขณะที่ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวยอมรับว่า ผลจากมาตรการดังกล่าวมีผลต่อการท่องเที่ยวในประเทศ แต่ในแง่การแข่งขันทางธุรกิจสายการบิน เห็นว่าไม่มีใครเสียเปรียบ เพราะถูกปรับขึ้นเป็นหน้ากระดาน อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจภาพรวมด้วย เพราะรัฐบาลไม่ได้ปรับขึ้นภาษีนี้มานานแล้ว อาจจะให้มีผลกระทบบ้างในช่วงนี้ แต่เมื่อปรับขึ้นแล้ว ก็ต้องหาทางแก้ไข และช่วยเหลือกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดแง่มุมทางรัฐบาลก็มีรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น แม้ทางภาคการท่องเที่ยวอาจจะสูญเสียรายได้ภายในประเทศไปบ้าง