“ดาบสองคม” ผุดซูเปอร์บอร์ดคุมจัดซื้อ ตอกย้ำนโยบาย Drifting Policy

0
257

 ทันทีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ใช้อำนาจตาม ม.44 ออกคำสั่ง คสช.ที่10/2560 ล้างบางคณะกรรมการ(บอร์ด)การรถไฟแห่งประเทศไทย และปลด “นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร” พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฯก่อนแต่งตั้ง อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง เป็นรักษาการผู้ว่าการการรถไฟฯ

ทั้งยังออกคำสั่งคสช.ที่ 11/2560 จัดตั้งคณกรรมการชุดพิเศษ(ซูเปอร์บอร์ด) ขึ้นมากำกับการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการที่มีมูลค่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไปเพื่อป้องกันการทุจริต โดยมีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เป็นประธาน ให้คณะกรรมการชุดพิเศษเข้าไปดูขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการที่เข้าข่าย

ประเดิมด้วยการสั่งให้สแกนโครงการประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ 7 สายทางของการรถไฟฯ มูลค่านับแสนล้านบาท

โดยเหตุผลของการออกคำสั่งม.44ล้างบางบอร์ดและฝ่ายบริหารการรถไฟฯหนนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคมชี้แจงว่า เนื่องจากมีข้อเร้องเรียนเกี่ยวกับขบวนการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 สายทางระยะทางรวม 668 กิโลเมตร มูลค่ารวม 9.58หมื่นล้านบาท    รวมทั้งขบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ส่อแวว “ล็อกสเปกซ์”  เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทผู้รับเหมาบางราย

ขณะที่โครงการที่ดำเนินการไปแล้วเช่น ทางคู่ เส้นทางจิระ-ขอนแก่น ก็พบปัญหาการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า เส้นทางโครงการสร้างปัญหาลากผ่านหมู่บ้านทำให้หมู่บ้านแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคมต้องลงไปแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

ขณะที่ นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม ระบุว่าการรื้อการประมูลอาจทำให้โครงการมีความล่าช้าออกไปบ้าง แต่ก็จะสร้างความโปร่งใส เพื่อส่งเสริมให้เกิดความคุ้มค่าทั้งงบประมาณและระยะเวลาในดำเนินงาน ส่วนจะมีการประกาศยกเลิกโครงการทางคู่ 7 เส้นทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)มูลค่ารวม 1.36 แสนล้านบาทหรือไม่เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับฯ จะเป็นผู้พิจารณา

“หากคณะกรรมการเห็นว่าควรยกเลิกทั้ง 7 โครงการ แม้จะมี 2 โครงการที่เปิดประมูลไปแล้วก็สามารถทำได้ ซึ่งตามปกติสัญญาจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐนั้น มีการเปิดช่องให้มีการบอกเลิก สัญญาได้อยู่แล้วหากตรวจสอบพบว่ามีข้อกังวลเรื่องความไม่โปร่งใส หรือมีข้อร้องเรียน ความไม่เป็นธรรม แต่จต้องมีเหตุผลชี้แจงได้ว่ายกเลิกเพราะสาเหตุอะไร แต่หากไม่ต้องการยกเลิก ก็อาจจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบางส่วนของโครงการก็ได้” นายพิชิต กล่าวและว่ารัฐบาลยังเห็นว่าปริมาณและคุณภาพโครงการจัดซื้อจัดจ้างของร.ฟ.ท.ในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตมาก จึงกังวลว่าการบริหารจัดการรูปแบบเดิมของร.ฟ.ท.อาจไม่สามารถรองรับโครงการเมกะโปรเจกช์ที่มีความซับซ้อนและใช้เงินลงทุนจำนวนมากได้ จึงควรปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น 

   “ดาบ 2 คม”  ซูเปอร์บอร์ดคุมจัดซื้อจัดจ้าง  

 แม้หลายฝ่ายต่างออกมาขานรับการใช้อำนาจพิเศษ ม.44 ของนายกฯและหัวหน้าคสช.ทั้งต่อการล้างบางบอร์ดและฝ่ายบริหารการรถไฟฯ รวมทั้งการจัดตั้ง “ซุปเปอร์บอร์ด” ขึ้นมากำกับดูแลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการประมูลจัดซื้อโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของบรัฐ โดยเฉพาะการประเดิมโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ มูลค่ากว่าแสนล้านบาทนี้ โดยคาดหวังว่าจะทำให้เส้นทางการดำเนินโครงการเหล่านี้มีความโปร่งใส

แต่สำหรับ LOGISTICS TIME แล้ว กลับมองตรงข้าม  ความคาดหวังของรัฐที่ต้องการให้ซูเปอร์บอร์ดเข้ามาควบคุมดูแลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดความโปร่งใสที่ว่านั้น มันอาจเป็น “ดาบ 2 คม ”ที่ทำให้ดำเนินการโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐ รวมทั้งโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 7 สายทางและที่จะมีตามมาอีกในอนาคตนั้นต้องล่าช้าหรือถึงขั้นสะดุดตอมากขึ้นไปอีก!

เพราะหากทุกฝ่ายจะได้ย้อนรอยไปถึงการดำเนินงานของรัฐในช่วงก่อนหน้าไม่ถึง 2 เดือนนั้นจะเห็นว่า หัวหน้าคสช.เองก็เพิ่งมีคำสั่งคสช.ที่ 70/2559 ลงวันที่ 7 ธันวาคม สั่งยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 48/2557 ที่ให้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ไปก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุผลที่ว่ามีความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานตรวจสอบทุจริตองค์กรอื่นๆที่มีอยู่แล้ว และยังพบด้วยว่าที่ผ่านมาการทำงานของ คตร.นั้นถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีส่วนทำให้การดำเนินโครงการลงทุนต่าง ๆของรัฐโดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจ็กต์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกระตุ้นการลงทุนทั้งหลายประสบกับความล่าช้า

การที่หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งจัดตั้ง “ซูเปอร์บอร์ด” คุมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ใหม่ขึ้นมา โดยให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีอำนาจล้นฟ้าในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ ของภาครัฐที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท  ตั้งแต่กระบวนการร่างเงื่อนไข Term of Reference : TOR  กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง  การกำหนดราคา และสามารถเร่งรัดติดตาม ประเมินผลโครงการจนถึงระยะเวลาสิ้นสุดสัญญา รวมไปถึงพิจารณายกเลิกการประมูลได้เลยนั้น จึงแทบจะไม่แตกต่างไปจากการ “รื้อฟื้น” บทบาทของ คตร.ขึ้นมานั่นเอง แถม”ซูเปอรบอร์ด” ชุดนี้ยังทรงอำนาจมากกว่า คตร.เดิมที่มุ่งตรวจสอบการดำเนินโครงการต่าง ๆ ว่ามีการทุจริตหรือไม่ เพราะสามารถลงไปล้วงลูกโครงการประมูลต่าง ๆ ตั้งแต่การริเริ่มกระบวนการจัดทำร่างเงื่อนไขทีโออาร์ได้เลยไปจนถึงการสั่งล้มประมูลในโครงการที่ได้ประมูลไปแล้ว

ในสภาวการณ์ที่การรถไฟฯเองก็ขาดหัวขบวนในการขับเคลื่อน จำเป็นต้องอาศัยบอร์ดรถไฟฯ เข้ามาดำเนินการต่าง ๆ ด้วยตนเองนั้น เมื่อนายกฯตั้งซูเปอร์บอร์ดลงมากำกับดูแลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทุกกระเบียดนิ้วเช่นนี้ จะยิ่งทำให้ฝ่ายบริหารรถไฟระมัดระวังตนเองมากขึ้น และคงไม่มีใครอยากเอาคอไปพาดเขียงด้วยแน่ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จากนี้ไปเราจะเห็นฝ่ายบริหารรถไฟฯโยนทุกเรื่องไปให้ซูเปอร์บอร์ดพิจารณาอนุมัติให้ก่อน หากไฟเขียวกลับมาจึงค่อยมาดำเนินการ  ซึ่งนั่นจะกลายเป็นว่าการดำเนินโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐนับจากนี้ ทั้งในส่วนของรถไฟรางคู่ หรือโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือโครงการอื่น ๆ ของรัฐจะยิ่งเผชิญแรงกดดันจากการตรวจสอบที่ทำให้โครงการเหล่านี้ล่าช้ายิ่งกว่าเดิม”

เป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นการดำเนินนโยบาย Drifting Policy ที่ทำให้เศรษฐกิจไทย “ควงสว่าน” และทำให้การดำเนินโครงการเมกะโปรเจ็กต์ทั้งหลายต้อง “ย่ำกับที่”!!!!