‘Uber’แลกหมัด ‘ขนส่ง’ ท้ารัฐผ่าตัดใหญ่ “กม.ไดโนเสาร์”

ยังเป็น Talk of the town ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์สนั่นตามหน้าสื่อหลักและขยายกินพื้นที่สื่อในโลกออนไลน์ไม่เลิกหลังเจ้าหน้าที่ขนส่งสนธิกำลังทหารตำรวจตบเท้าปฏิบัติการในหลายพื้นที่เมืองกรุงล่อซื้อจับกุมรถโดยสารสาธารณะอูเบอร์(Uber)ที่นัยว่าเพียงวันเดียวจับกุมไปถึง 18 คันแล้วทำการเปรียบเทียบปรับ 2 ข้อหาตามพรบ.รถยนต์ 2522 ทั้งข้อหาใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่ได้จดทะเบียน และข้อหาใช้รถโดยไม่จดทะเบียนทำการบันทึกจดทำประวัติแล้วสั่งอบรมเข้มข้อกฎหมาย ก่อนที่จะขยายผลล่อซื้อตามหัวเมืองหลักทั่วประเทศ

0
291

ยังเป็น Talk of the town ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์สนั่นตามหน้าสื่อหลักและขยายกินพื้นที่สื่อในโลกออนไลน์ไม่เลิกหลังเจ้าหน้าที่ขนส่งสนธิกำลังทหารตำรวจตบเท้าปฏิบัติการในหลายพื้นที่เมืองกรุงล่อซื้อจับกุมรถโดยสารสาธารณะอูเบอร์(Uber)ที่นัยว่าเพียงวันเดียวจับกุมไปถึง 18 คันแล้วทำการเปรียบเทียบปรับ 2 ข้อหาตามพรบ.รถยนต์ 2522 ทั้งข้อหาใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่ได้จดทะเบียน และข้อหาใช้รถโดยไม่จดทะเบียนทำการบันทึกจดทำประวัติแล้วสั่งอบรมเข้มข้อกฎหมาย ก่อนที่จะขยายผลล่อซื้อตามหัวเมืองหลักทั่วประเทศ

แท้จริงแล้วปมปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และแม้จะเกิดขึ้นซ้ำซากเพียงใดขนส่งก็ยังยืนนั่งยันว่า “ผิดกฎหมาย” ไม่ยอมให้จดทะเบียนดำเนินการเป็นอันขาด ทางกลับกันขนส่งเองก็ยังแก้ไม่ตกกับการกำกับดูแลและล้มเหลวในการแก้ปัญหารถแท็กซี่ในกำกับหลายแสนคัน ทั้งพฤติกรรมปฏิเสธรับผู้โดยสาร ไล่ผู้โดยสารลงกลางทาง แสดงวาจาไม่สุภาพ ขาดวินัยที่ดีในการขับรถ โกงมิเตอร์ เอารถหมดสภาพมาวิ่ง และอื่นๆสารพัดปัญหาเกินที่ผู้โดยสารจะรับได้

จนกระทั่งUber เข้ามาเติมเต็มและตอบโจทย์การบริการที่ประชาชนเพรียกาหา อีกทั้งยังช่วยปลดล็อค“จุดบอด”และแก้ไข “ปัญหาสุดคลาสสิค”อย่างที่กล่าวมาเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ก็ดันเจอปราการเหล็กขนส่งห้ามนำรถส่วนบุคคลมาใช้รับจ้างอ้างผิดกฎหมายทั้งใช้รถผิดประเภทจนขนส่งสั่งห้ามยุติให้บริการที่สุด แม้จะมีความพยายามประชุมหาทางออกแต่ก็ล้มเหลวที่ยังไงขนส่งก็ยังยืนกรานว่า “ผิดกฎหมาย”ไม่สามารถอนุญาตได้

กลายเป็นอุปสรรคขัดลำกล้องของตัวบทกฎหมายที่ถูกสังคมตราหน้าว่า “ล้าหลัง”ตามไม่ทันเทคโนโลยุคดิจิทัล สวนทางกับแนวนโยบายการขับเคลื่อนของภาครัฐที่ตีฆ้องร้องเปล่าก้องโลกพลางเพรียกหาการนำสังคมไทยเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0แต่ทว่าแค่บริการพื้นฐานรถรับจ้างสาธารณะที่เป็นปัจจัยหลักของการเดินทางแท้ๆ ไม่ว่ารัฐ ขนส่ง กระทรวงคมนาคมก็กลับไม่มีความสามารถ(ปัญญา)ยกระดับการพัฒนาให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

มิหนำซ้ำยังคงจมปรับอยู่ในยุค 1.0 และถูกสังคมตีแสกหน้ายังนอนกอดกฎหมายยุคไดโนเสาร์เอาไว้แน่น!

ไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์เกิดขึ้นล่าสุด ที่แม้ฝ่ายขนส่งและอูเบอร์ได้นัดประชุมเพื่อหาทางออกต่อหน้าผบ.มทบ.11 ท้ายที่สุดแล้วแม้ที่ประชุมมีมติร่วมกันที่จะให้มีการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในระบบบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) อ้างขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่รองรับระบบดังกล่าว คาดจะใช้เวลาในการศึกษาและสรุปผลได้ภายใน6เดือนถึง1ปีโดยระหว่างกำลังศึกษาความเหมาะสม กระทรวงฯได้ขอความร่วมมือให้อูเบอร์ยุติการให้บริการไปก่อน ไม่งั้นจะเกิดปัญหาจับกุมและทะเลากันรายวัน ขนส่งยังย้ำชัดว่าตัวแทนอูเบอร์ก็รับปากในที่ประชุมว่าจะยุติการให้บริการ

Uberแจง “ไม่ใช่บริการแท็กซี่”ยันเดินหน้าให้บริการต่อไป

สวนทางกับคำกล่าวอ้างของนางเอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายรัฐสัมพันธ์สื่อสารองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรืออูเบอร์ ที่ระบุหลังประชุมว่าในที่ประชุมเรารับปากหรือตกลงร่วมกันเฉพาะประเด็นให้มีการศึกษาความเหมาะสมร่วมกันเท่านั้น อูเบอร์ไม่ได้รับปากเรื่องจะยุติการให้บริการตามที่กระทรวงคมนาคมระบุแต่อย่างใด โดยยืนยันที่จะเดินหน้าให้บริการต่อไป เพราะบริการของอูเบอร์ไม่ได้ผิดกฎหมาย เพียงแต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับระบบบริการร่วมเดินทางของอุเบอร์มากกว่า  ขณะที่อินโดนิเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ มีกฎหมายรองรับและสามารถให้บริการได้

“Uberไม่ใช่บริการรถแท็กซี่ แต่เป็นรูปแบบบริการใหม่ที่เรียกว่าบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) ซึ่งกฎหมายในปัจจุบันยังไม่ได้รองรับการให้บริการรูปแบบนี้ที่พึ่งพาเทคโนโลยีผ่านแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน และมีความแตกต่างจากการให้บริการขนส่งสาธารณะ จึงทำให้เราไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นรถสาธารณะได้ หวังอย่างยิ่งว่าขนส่งจะออกกฎหมายใหม่เพื่อรองรับการให้บริการในรูปแบบใหม่ที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการเดินทางที่เป็นรูปแบบบริการร่วมเดินทาง โดยแยกออกเป็นประเภทที่ 3 เพื่อสร้างางเลือกใหม่ด้านการเดินทางที่เชื่อถือได้และอำนวยความสะดวกให้แก่คนไทย”

‘คมนาคม’ ยันUberผิดกม.ชี้ไม่แก้กม.เพื่อบุคคลหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด

ฟากรัฐบาลอย่าง“พิชิต อัคราทิตย์”รมช.คมนาคมระบุว่า กระทรวงฯยืนยันการให้บริการรถแท็กซี่ส่วนบุคคลผ่านแอพพลิเคชั่นของ Uberเป็นการให้บริการที่ผิดกฎหมาย หาก Uberจะให้บริการรถแท็กซี่จะต้องอยู่บนเงื่อนไขกฎหมายภายใต้ข้อบังคับของกรมการขนส่งทางบก

“การปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขกฎหมายจะไม่แก้ไขเพื่อรองรับบุคคลหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเด็ดขาด และกระทรวงฯไม่มีนโยบายในการขัดขวางเศรษฐกิจแบ่งปัน หรือ sharing economy ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อย่างที่วิจารณ์กัน เพราะกระทรวงฯให้ความสำคัญกับบริการรถแบบใหม่ที่เกิดขึ้น โดยเน้นถึงความปลอดภัยแก่ประชาชนและประชาชนไม่เสียประโยชน์ และในอนาคตกระทรวงฯจะมีกฎหมายส่งเสริมให้รถโดยสารภายใต้ sharing economy สามารถให้บริการประชาชนได้โดยมีกฎหมายต่างหากมาดูแล ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายเดิมที่มีอยู่”

“เข้าใจว่ารถ Uberมีเจตนาดี เป็นธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้น แต่ทุกบริการมีทั้งข้อดีและเสีย ในส่วนผู้กำกับดูแลก็เข้ามาดูส่วนเสียที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน ดังนั้น หากจะให้บริการ ต้องรับประกันได้ว่าบริการแล้วประชาชนไม่เป็นอันตราย”

อจ.จุฬาฯชี้เชิงโครงสร้างภาครัฐความพร้อมทำให้ Uberถูกกฎหมาย

ด้านรศ.ดร.พนิต ภู่จินดาอาจารย์ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯกล่าวบนเวทีสัมมนาในหัวข้อ ‘แม้โลกหมุนไว แต่Uberในเมืองไทยถูกจับ’… แท็กซี่ก็ไมได้ Uberก็ถูกจับ เอาไงดี’ ว่าผมเชื่อว่าเชิงโครงสร้างภาครัฐมีความพร้อมที่จะทำให้ Uberถูกกฎหมาย ก็แค่มาออกใบขับขี่ให้ถูกต้อง เปลี่ยนทะเบียนรถให้ถูกต้อง เพื่อไปทำประกัน มีการตรวจร่างกายคนขับรวมถึงประวัติ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น โดยคนขับ Uberก็ไม่ได้ขับทั้งวัน อย่าลืมว่า Uberอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะว่ามีบริการที่ดีกว่า ภายใต้ราคาที่เท่ากัน แต่ถ้าบริการดีกว่าและราคาสูงกว่า แน่นอนว่าลูกค้าก็จะลดลง ซึ่งเขาไม่ยอมเจ๊งหรอก เขาถึงไม่ยอมเข้าสู่ระบบไง แต่รัฐบาลจะทำอย่างไรให้เขาเข้าสู่ระบบอย่างถูกกฎหมายเท่านั้นเอง

“ส่วนจะเกิดที่ประเทศไทยหรือไม่นั้น ขณะนี้ประเทศไทยถือว่าขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะอย่างมาก คนไทยพร้อมที่จะใช้ระบบขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบ แต่หากรัฐไทยยังเป็นแบบนี้คงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่เคยมีการดำเนินการ หรือเข้มงวดกับสิ่งที่อยู่ใต้กฎหมาย จนคนเบื่อ เมื่อมีบริการที่ดีกว่าแต่นอกกฎหมาย คนก็ไปใช้ จนกลายเป็นความขัดแย้งสังคมมองว่าอะไรที่อยู่กับรัฐ ซึ่งควรจะมีมาตรฐานที่ดี กลับกลายเป็นเรื่องแย่ แต่ภาคเอกชนทำแล้วดีกลับผิดกฎหมาย ซึ่งที่ถูกภาครัฐต้องทำสิ่งที่ดีให้กับประชาชน เพราะในบางเรื่องเอกชนทำไม่ได้เนื่องจากต้นทุนสูง แต่นี่คือรัฐไทย”

สำหรับ Logistics Timeแล้วทั้งหลายทั้งปวงเวลานี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลแล้วว่าจะเดินหน้าอย่างไรที่จะพลิกการบริการที่อยู่ใต้ดินให้อยู่บนดินได้ กับลีลาและปฏิบัติการตีปี๊ปรายวันว่ายังไงก็ผิดกฎหมายหากนำรถมาวิ่งก็จะล่อซื้อจับปรับเงิน ขณะที่อูเบอร์ก็ยังยืนกรานด้วยเหตุผลเดิมและจะยังเดินหน้าให้บริการต่อไป บริบทสุดท้ายก็เข้าวังวนอุบาทว์เดิมๆไม่จบไม่สิ้น และเชื่อว่าปัญหานี้จะกลายเป็นหอกข้างแคร่คอยทิ่มแทงรัฐบาลแน่หากไม่ยอมเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง

“ดูอย่างมอเตอร์ไซด์รับจ้างก็เคยเป็นของผิดกฎหมายจนคสช.เข้ามาจัดระเบียบเสร็จสรรพให้ถูกกฎหมายจนสร้างงานสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แล้ว Uberหล่ะรออะไรอยู่ และไหนๆกระทรวงคมนาคมก็เห็นดีเห็นงามกับเจตนาที่ดีของ Uberเป็นธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นตอบโจทย์และเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน ผนวกกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 อีกทั้งในอนาคตกระทรวงฯเองอ้างว่าจะมีกฎหมายส่งเสริมให้รถโดยสารภายใต้ sharing economy สามารถให้บริการประชาชนได้โดยมีกฎหมายต่างหากมาดูแล ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายเดิมที่มีอยู่ก็ช่วยกระเตงอูเบอร์ขึ้นขบวนด้วยเสียทีเหอะ ปล่อยให้ตกขบวนซ้ำซากจะเสียเวลาเปล่า”

ด้วยเหตุและผลที่สมดุลประการฉะนี้แล้วรัฐบาลรออะไรอยู่เล่า ถึงเวลาแล้วทต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม และถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องกล้าที่จะผ่าตัดใหญ่กฎหมายยุคไดโนเสาร์ เพื่อปลดล็อค “ปัญหาโลกแตกนี้” นี้เสียที!