ยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ไทย เน้นขนส่งสินค้ามากกว่าคน

ในปัจจุบันระบบการขนส่งหรือระบบโลจิสติกส์ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการ รวมไปถึงยังมีความสำคัญต่อกี่พัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง ประเทศไทยเองก็ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการพัฒนาเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ยิ่งทำให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้สามารถเชื่อมโยงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

0
3740

ในปัจจุบันระบบการขนส่งหรือระบบโลจิสติกส์ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการ รวมไปถึงยังมีความสำคัญต่อกี่พัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง ประเทศไทยเองก็ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการพัฒนาเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ยิ่งทำให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้สามารถเชื่อมโยงทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภาครัฐ ได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อใช้เป็นแม่แบบในการพัฒนาศักยภาพระบบโลจิสติกส์ของไทยให้มีความก้าวหน้าทันอารยะประเทศ พร้อมรองรับนโยบาย Thailand 4.0

รศ. (พิเศษ) ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงภาพรวมของการพัฒนาระบบโลจิสตกิส์ของประเทศไทยในอนาคต ให้ Logistics time ฟังว่า เมื่อเอ่ยถึงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ คงต้องไปดูในส่วนของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ซึ่งแผนดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับปัจจุบัน และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยจากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่าแผนพัฒนาและยุทธศาสตร์ มีการพูดถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางถนน การขนส่งทางอากาศ หรือการขนส่งทางราง เช่น การเพิ่มขีดความสามารถและความปลอดภัยของการขนส่งสินค้าสู่ประตูการค้าหลัก โดยการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ ซึ่งเป็นโครงการที่มีการพูดถึงมาอย่างต่อเนื่องและน่าจะเป็นโครงการที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด แต่ปรากฏว่าการดำเนินการมันยังคงย่ำอยู่กับที่ ไม่มีความคืบหน้าอะไรให้ได้เห็น

“สำหรับการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ตามแผนยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ ถือว่าเป็นยุคทองของการรถไฟแห่งประเทศไทย นั่นเป็นเพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครให้ความสนใจกับการขนส่งทางรถไฟมากขนาดนี้มาก่อน ดังนั้นเมื่อระบบการขนส่งทางรางถูกให้ความสำคัญเช่นนี้ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในอนาคต ควรให้ความสำคัญกับการขนส่งสินค้ามากขึ้น เพราะการขนส่งผู้คนมีอัตราการขาดทุนที่สูง แต่ในทางตรงกันข้ามการขนส่งสินค้าสร้างกำไรได้มากกว่า เพราะไหนจะมีขบวนรถไฟฟรีให้ผู้โดยสารได้ขึ้น รวมไปถึงการแข่งขันเรื่องราคากับสายการบินต้นทุนต่ำก็เป็นไปได้ลำบาก  เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้หากหวังจะเลี้ยงตัวเองให้ได้ก็ต้องเน้นไปที่เรื่องของการขนส่งสินค้า เน้นการใช้พื้นที่ของการรถไฟให้เป็นประโยชน์มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน”

เร่งพัฒนาโครงสร้าง  เพิ่มขีดความสามารถขนส่งสินค้า

ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่ออีกว่า อีกประเด็นที่ไม่พูดถึงไม่ได้เกี่ยวกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย นั่นก็คือ โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator : SRTO) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อพัฒนา และลดต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศ ประหยัดพลังงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขยายตัวของการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟในอนาคต และลดปัญหาการจราจรทางถนนที่คับคั่ง โครงการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ควรจะทำมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ที่เพิ่งจะดำเนินการนั้นเป็นเพราะโครงการนี้มีการใช้งบประมาณที่สูง ผนวกกับต้องดูความสมัครใจของการรถไฟฯ ด้วยว่าต้องการให้รางเข้าไปถึงยังท่าเรือหรือไม่ ซึ่งจะว่าไปแล้วพื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้างโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator : SRTO) มีการเตรียมเอาไว้ตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว เพียงแต่ว่าทางการท่าเรือฯ ยังไม่มีงบประมาณที่จะดำเนินการ ดังนั้นรูปแบบของระบบโลจิสติกส์ของไทยในอนาคต จะยังคงเป็นรูปแบบการขนส่งทางถนนเป็นหลักเหมือนเดิม ส่วนการขนส่งทางน้ำก็ยังคงเน้นไปในเรื่องของการส่งออกและนำเข้า ยกเว้นการขนส่งทางอากาศ ที่คาดว่าจะมีอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการขนส่งผู้คน ซึ่งดูได้จากสนามบินดอนเมืองในตอนนี้ที่มีผู้คนเข้าไปใช้บริการเพิ่มมากขึ้น

“แต่ถึงกระนั้นหากเลือกได้ว่าการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย ควรจะเป็นอย่างไร ก็มองว่า การขนส่งทางรถไฟและการขนส่งทางน้ำ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะในมุมมองของการขนส่ง ที่ไม่พูดถึงการขนส่งทางถนน เพราะปัจจุบันการพัฒนาถนนของบ้านเราดีอยู่แล้ว มีการเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด ดังนั้นหากเราจะนำงบประมาณที่จะนำไปลงทุนก่อสร้างถนนเปลี่ยนนำมาลงทุนกับการสร้างระบบรางให้มีเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ก็น่าจะเป็นผลดีต่อการขนส่งสินค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งที่ผมคิดนั่นอาจจะผิด เพราะเวลาที่ภาครัฐสร้างถนน เขาก็จะให้ความสำคัญกับการขนส่งผู้คนเป็นอันดับแรก และการขนส่งสินค้ารองลงมา ดังนั้นจึงมองว่าภาครัฐควรจะหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของการขนส่งสินค้ามากกว่าที่เป็นอยู่”

พัฒนาระบบโลจิสติกส์ไทย สนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ในด้านนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ หากถามว่าประเทศไทยเป็นไทยแลนด์อะไร ณ ตอนนี้เชื่อว่าเราเป็นได้เพียงแค่ ไทยแลนด์ 2.0 เท่านั้น แต่หากเราต้องการที่จะก้าวไปสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ให้ได้นั้น อาจจะต้องมีการท้าทาย มีของใหม่ๆ เข้ามาล่อเป้า เพราะไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่มีการพัฒนา การที่เราพูดว่า ประเทศไทยกำลังพัฒนาก้าวไปสู่การเป็น ไทยแลนด์ 4.0 นั้น พูดเพื่อให้เกิดกำลังใจในการที่จะพัฒนา จาก 100 คน อาจจะมีเพียงแค่ 2 คนเท่านั้นที่ทำ ส่วนที่เหลืออาจจะทำในรูปแบบเดิม ทั้งนี้หากจะให้ประเทศไทย เป็นไทยแลนด์ 4.0 ในทุกรูปแบบ อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งในการพัฒนาอะไรหลายๆ อย่าง แต่หากดูกันให้ดีเรื่องนี้มันเป็นแฟชั่นของทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป จีน หรือสวิสเซอร์แลนด์ เขาก็ใช้ Economy 4.0 เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้มันก็เหมือนกับเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกเขาทำกันนั่นเอง

“ดังนั้นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทยในอนาคตข้างหน้า คงจะไม่มีอะไรที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่มากนัก เพราะรูปแบบการขนส่งหลักของเราจะพึ่งพาการขนส่งทางถนนเป็นหลักอยู่แล้ว แต่ถึงกระนั้นการพัฒนาการขนส่งทางรางก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความสำคัญ เพราะอย่าลืมว่าการขนส่งสินค้า เมื่อคิดต้นทุนให้ดีจะเห็นได้ว่าการขนส่งทางรางมีความคุ้มค่ามากกว่าการขนส่งทางถนน ดังนั้นภาครัฐควรจะหันกลับมาพิจารณาให้ดีว่าควรสนับสนุนให้ความสำคัญรูปแบบการขนส่งแบบไหน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็น ไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายที่ภาครัฐกำหนดเอาไว้นั่นเอง”

อย่างไรก็ตาม  แม้รัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อยุทธศาสตร์แผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ถือเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่หากยังไม่สามารถพัฒนารูปแบบการขนส่งได้ตรงเป้า เชื่อเหลือเกินว่า ไทยแลนด์คงไม่ถึงฝั่งฝัน 4.0 อย่างแน่นอน