อาจารย์จุฬาฯแฉ ‘คค.สนข.’ ป่าหี่ถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟไทย-จีน?

0
327

ยังร้อนระอุแดดและถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักต่อเนื่องสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนหลังนายกฯประยุทธ์ งัดม.44 ผ่าทางตัน ล่าสุด ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรมการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟสบุ๊กเพจ Assistant Professor Pramual Suteecharuwat,Ph.D ระบุการถ่ายถอดเทคโนโลยีระหว่างไทยอลัจีนในโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยมีเนื้อหา ดังนี้

วันที่ 23 มิถุนายน 2560

18 นาฬิกาเศษ ที่ห้องอาหารของโรงแรมที่พักภายในรั้วของมหาวิทยาลัยการคมนาคมแห่งกรุงปักกิ่ง (Beijing Jiaotong University) ประเทศจีน ภายหลังจากเสร็จสิ้นการฟังบรรยายเรื่อง Technology of Railway Operations Management ซึ่งผู้เขียนและคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งบุคคลากรฝ่ายปฏิบัติการจากรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง รวมจำนวน 25 คน กำลังรับประทานอาหารร่วมกัน

สมาชิกทั้งหมดได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข) ผ่านกระบวนการคัดเลือกซึ่งประสานงานไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เมื่อราวเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ให้มาร่วมกิจกรรมสัมมนา “2017 Seminar on Railways for Thai Lecturers” นัยว่าเพื่อให้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบรางของประเทศจีน โดยผู้ร่วมกิจกรรมทั้งหมดมาจากหลากหลายสาขา หลากหลายความชำนาญ บ้างก็มีพื้นฐานทางวิศวกรรม บ้างก็ไม่มี

ในความเข้าใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดเชื่อว่า กิจกรรมสัมมนาในครั้งนี้รัฐบาลจีนเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย เพื่อกระตุ้นการรับรู้ให้กับฝ่ายไทย รวมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องเทคโนโลยีระบบรางของจีน ไม่ได้มุ่งเน้นทักษะความชำนาญทางเทคนิค และเท่าที่ทราบการสัมมนาในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกันมาแล้วหลายครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ กันไป ในรอบที่ผู้เขียนเข้ามาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เน้นคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยไทย

กิจกรรมเริ่มต้นกันตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีกำหนดการสัมมนา 21 วัน แต่ละวันมีทั้งฟังบรรยาย (ซึ่งก็รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง เนื่องจากมีรายละเอียดไม่เฉพาะเพียงเชิงยุทธศาสตร์ แต่บางหัวข้อก็มีเนื้อหาไปที่กระบวนการทำงานในภาคสนาม วิทยากรบ้างท่านก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ (ใช้ล่ามในการบรรยาย) บ้างท่านก็เหมือนจะบรรยายให้หมดๆ เวลาไปโดยไม่มีทักษะการสอนในระดับนานาชาติ แต่บางท่านก็ถ่ายทอดมุมมองทางวิชาการได้อย่างน่าสนใจครับ) บางวันก็มีกิจกรรมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ (ซึ่งก็มีทั้งห้องปฏิบัติการที่ตั้งใจอธิบายรายละเอียด และห้องปฏิบัติการที่ดูเหมือนเอาเด็กเฝ้าแล็บที่พูดภาษาอังกฤษไม่คล่องมาพาไปชมกิจกรรมแบบผ่านๆ) และบางวันเมื่อฝนตก ทำอะไรไม่ได้ ก็พาพวกเราไปนั่งรถชมเมืองปักกิ่ง

เรื่องสนุกที่พวกเราทั้ง 25 คน พูดคุยกันอยู่บ่อยๆ ในระหว่างที่กระแสความต้องการให้มีการดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรถไฟฟฟ้าความเร็วสูงจากประเทศจีนสู่ประเทศไทย คือ รัฐบาลจะนับกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีไหม

หากคำตอบคือ “ใช่” นี่ก็คงจะเป็นอีกหนึ่งปาหี่ระดับชาติที่หลอกลวงประชาชน และสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารประเทศในขณะนี้ไม่มีความเข้าใจในเรื่องกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่มียุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ทั้งไม่น่าจะได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบโครงการขนาดใหญ่ระดับแสนล้านบาทแบบนี้

อย่างไรก็ดี พลันที่ผู้เขียนเห็นข้อความที่ส่งเข้ามาใน Line กลุ่มมิตรสหายที่สนใจปัญหาเรื่องระบบขนส่งทางรางร่วมกัน มีเนื้อหาว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร แถลงข่าวชี้แจงการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ณ ห้องราชดำเนิน กระทรวงคมนาคม เนื้อความยาวยืด ที่สะดุดตาที่สุดก็อยู่ในข้อที่ 6. ซึ่งกล่าวถึงกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งผู้เขียนตลอดจนเหล่าผู้ร่วมอาชีพวิศวกรในประเทศไทยกำลังให้ความสนใจ ว่าโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ในครั้งนี้กำลังมีโอกาสอย่างสูงที่ไทยจะได้รับเทคโนโลยีการผลิตจากจีน

เนื้อความในแถลงข่าวส่วนนั้นมีอยู่ว่า “การถ่ายทอดเทคโนโลยี ประเทศไทยได้จัดส่งบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงที่จีนแล้ว จำนวน 250 คน และในเดือนมิถุนายน 2560 ได้จัดส่งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวน 25 คน เข้ารับการฝึกอบรมที่จีน”

เป็นข้อความส่วนที่เรียกเสียงฮาจากบรรดาสมาชิกอาจารย์ผู้ร่วมโต๊ะสนั่นหวั่นไหว จนชาวจีนอื่นๆ ในห้องอาหารพร้อมใจกันหันขวับมามองว่าโต๊ะกลุ่มคนไทยกำลังสนุกอะไรกัน

ผู้เขียนมีโอกาสแสดงความเห็นเรื่อง “กระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี” มาหลายปี ทั้งการบรรยาย การจัดสัมมนา การเชิญผู้แทนประเทศต่างๆ มาบรรยาย รวมทั้งเคยมีโอกาสเขียนบทความหลายเรื่อง ว่าด้วยแนวทางการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีที่นานาประเทศกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ “ของแถม” โดยมีการวางระบบไว้อย่างรัดกุมเพื่อเป้าหมายคล้ายกัน คือ ยกระดับขีดความสามารถในการผลิตของประเทศ โดยอาศัยการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าใช้เงินภาษีของราษฎรทั้งประเทศ อาทิ ประเทศจีนที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งจากเยอรมัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จนสามารถพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นของตัวเองได้ภายในระยะเวลาเพียง 1 ทศวรรษ และมีเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงในปัจจุบันเกือบ 2 หมื่นกิโลเมตร ประเทศเกาหลีใต้ที่รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากฝรั่งเศส จนกลายเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีอันดับ 4 ของโลก และประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างมาเลเซียที่อาศัยการกำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อผ่านโปรแกรม “ICP – Industrial Collaboration Program” โดยความดูแลของหน่วยงานเฉพาะกิจ “TDA – Technology Depository Agency” ซึ่งอยู่ใต้กระทรวงการคลัง จนทำให้เกิดอุตสาหกรรมประกอบและผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าหลายบริษัท

แน่นอนว่า เมื่อประเทศไทยกำลังจะลงทุนในระดับแสนล้านบาทกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ไทย-จีน หรือแม้แต่ ไทย-ญี่ปุ่น การพัฒนาโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างมียุทธศาสตร์ จะทำให้เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะก้าวกระโดดไปสู่ยุคสมัยของการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องการเทคโนโลยีและทักษะการผลิตในขั้นสูง

แต่หากกระทรวงคมนาคมจะเพียงอาศัยจังหวะนี้ “มั่วนิ่ม” โดยอ้างว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรถไฟฟ้าความเร็วสูง ผู้เขียนก็คงจะขอลุกขึ้นยืน ใช้สิทธิ์ของความเป็นประชาชนคนไทย และเป็นอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัยที่ต้องรับผิดชอบถ่ายทอดความรู้ให้กับอนุชนรุ่นใหม่ๆ ว่า “ไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคม” ครับ