ทอท. ชี้แจงมาตรการด้านการรักษาความปลอดภัย ในการปฏิบัติตามมาตรฐาน ICAO

0
165

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่า ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ได้เข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัย (Universal Security Audit Programme–USAP) ณ ท่าอากาศยานของ ทอท.ได้เน้นย้ำ ให้ท่าอากาศยานทุกแห่งตระหนักและปฏิบัติตามขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดตามแนวทางการควบคุมรักษาความปลอดภัยที่รัฐกำหนดและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

นิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.

มาตรการที่สำคัญหัวข้อหนึ่งคือ การตรวจค้นสัมภาระหรือสิ่งของที่จะบรรทุกไปกับอากาศยาน โดยท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ ทอท.จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 มาตรา 60/17 และข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 83 ว่าด้วยการตรวจค้นเพื่อรักษาความปลอดภัยในการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ ในการตรวจค้นผู้โดยสาร ผู้ประจำหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานที่จะขึ้นอากาศยาน รวมถึงสิ่งใดๆ ที่บุคคลดังกล่าวจะนำขึ้นอากาศยาน รวมทั้งตรวจค้นสัมภาระหรือสิ่งของที่จะบรรทุกไปกับอากาศยาน เมื่อมีความสงสัยว่าสิ่งใดเป็นที่ซ่อนอาวุธ วัตถุระเบิด หรือวัตถุอันตรายอื่นใดต้องเปิด และแยกสิ่งนั้นออกไปตรวจค้น เพื่อไม่ให้ปะปนกับสิ่งของอื่นๆ และหากตรวจค้นบุคคลและสิ่งใดๆ แล้ว “ไม่ผ่าน” ตามมาตรการที่กำหนดจะถูกปฏิเสธไม่ให้ผ่านจุดตรวจค้นไปได้

ซึ่งในพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ.2497 ยังได้กำหนดว่าหากผู้ใดขัดขวางหรือหลีกเลี่ยงการตรวจค้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยของเหลว เจล สเปรย์หรือวัตถุและสารอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ได้ถูกจัดอยู่ในรายการวัตถุต้องห้ามดังกล่าว และในการดำเนินการนำของเหลว เจล สเปรย์หรือวัตถุและสารอื่นๆ ซึ่งมีลักษณะ คล้ายคลึงกันขึ้นบนอากาศยาน ต้องปฏิบัติตามประกาศกรมการขนส่งทางอากาศ เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการนำของเหลว เจล สเปรย์ หรือวัตถุและสารอื่นๆ ซึ่งลักษณะคล้ายคลึงกันขึ้นในห้องโดยสารอากาศยาน ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 โดยการออกประกาศดังกล่าวของรัฐ เป็นไปตามมาตรการด้านการรักษาความปลอดภัยที่ ICAO แนะนำให้รัฐภาคีถือปฏิบัติ

เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในรัฐภาคีของ ICAO มีพันธะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของ ICAO ดังนั้นจึงต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัย ให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบที่รัฐออกมาอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อเป็น การสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้แก่ประเทศต่างๆ ที่จะมาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการบิน