ถึงเวลาวัด KPI ผู้ให้บริการขนส่งทางราง…?

0
492

ตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ที่รัฐบาลพล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้เร่งรัดดำเนินการเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น ไทยแลนด์ 4.0”  ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศก้าวข้ามกับดักของประเทศรายได้ปานกลางหรือ Middle Income Trap

นอกจากจะพัฒนาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่จะส่งเสริมการค้าการลงทุน อีกทั้งยังช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีการปรับตัวที่ดีขึ้นอีกด้วย

ดร. สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI ได้กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ ภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยว่า ถือได้ว่ามีความคืบหน้าเป็นไปตามแผนที่ทางรัฐบาลได้วางกรอบไว้ อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยโครงการพื้นฐานทางด้านคมนาคม หากจะแยกออกมาให้ชัดเจนก็สามารถแบ่งได้เป็น รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าในเขตเมือง และมอเตอร์เวย์ 2 สายทางได้แก่ เส้นทางบางประอิน-นครราชสีมา และเส้นทางกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี

ทั้งนี้หากมองภาพรวมของโครงการในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดจะเห็นได้ว่ายังมีความเกิดความล่าช้าอยู่ในทุกโครงการ เช่น มอเตอร์เวย์ 2 สายที่ในปัจจุบันมีการดำเนินการก่อสร้างไปแล้วในระดับหนึ่ง  สายทางที่มองว่ายังมีปัญหาความล่าช้าอยู่บ้างก็คงเป็นมอเตอร์เวย์เส้นทางสายกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ที่อาได้รับผลกระทบในเรื่องของงบประมาณก่อสร้าง รวมไปถึงในเรื่องของการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม  แต่ในภาพรวมยังถือว่าสามารถดำเนินการไปได้ตามแผนที่วางไว้

“เท่าที่ทราบมา มอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สายทาง ทางกรมทางหลวงตั้งเป้าที่จะเปิดใช้เส้นทางในช่วงปลายปี 2562 หรือต้นปี 2563 แต่จากการสังเกตการณ์พบว่าโครงการดังกล่าวมีความเป็นไปสูงที่จะล่าช้าเสร็จไม่ทันตามกำหนด แต่ก็คงจะไม่เกิน 2-3 เดือนอย่างแน่นอน ซึ่งถือว่าเป็นปกติของการก่อสร้าง”

 ชี้ !! โครงสร้างระบบรางล่าช้า แต่ยังอยู่ในวิสัยที่รับได้

ส่วนการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการนี้เกิดความล่าช้าเกือบทั้งหมด เพราะมีปัจจัยหลายด้านที่เป็นตัวแปรสำคัญไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเข้าพื้นที่โครงการของผู้รับเหมาที่เมื่อเปิดประมูลประกวดราคาช้าก็จะทำให้เข้าพื้นที่ช้าตามไปด้วย รวมไปถึงเรื่องของการเวนคืนที่ดิน และสิ่งที่คาดการณ์ไม่ถึงอีกมากมาย เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างที่มีการยกเลิกการประกวดราคาในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้ทำให้โครงการดังกล่าวต้องพับโครงการแต่อย่างไร เพราะหลังจาก “ซุปเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง” เข้ามาดำเนินการ ก็เริ่มทยอยประกวดราคาโครงการกันใหม่

“สำหรับการตั้งซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้างขึ้นมาก็ เพื่อเป็นการตรวจสอบวิธีการประกวดราคาโครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลให้การดำเนินการรถไฟทางคู่ล่าช้าไปบ้าง แต่ก็จะเป็นช่วงเวลาเพียงเล็กน้อย 1-2 เดือนเท่านั้น ซึ่งในการตั้งซูเปอร์บอร์ดเข้ามาตรวจสอบและวางกรอบการประกวดราคารถไฟทางคู่ ก็เพื่อให้ทำการดำเนินการในทุกขั้นตอนโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับ”

ทางด้านโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร หากวิเคราะห์ดูแล้ว กระบวนการประมูลโครงการก่อสร้าง การประมูลสัญญาก่อสร้าง สามารถดำเนินการตามแผนได้ดีในระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากโครงการรถไฟฟ้าสีต่างๆ เริ่มออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าส่วนนี้จะสามารถดำเนินการได้ตามแผนที่รัฐบาลวางเอาไว้

อีกโครงการสำคัญและเป็นโครงการที่อยู่ในความสนใจของประชาชน นั่นก็คือ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ที่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่เห็นว่าจะมีการดำเนินการไปอย่างไร แม้รัฐบาลคาดหวังกับโครงการดังกล่าวว่าจะสามารถก่อสร้างได้ค่อนข้างไว แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 253 กิโลเมตรก็ยังไม่มีความชัดเจนในตัวโครงการว่าจะดำเนินการเป็นอย่างไร

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการเหล่านี้มีรายละเอียดที่ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเจรจาตกลงทำความเข้าใจในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องแบบในการก่อสร้าง และเรื่องขบวนรถที่จะนำมาใช้ ซึ่งเท่าที่ทราบว่าก็กำลังทยอยดำเนินการ ซึ่งอาจจะไม่ได้เร็วอย่างที่คาดการณ์กันเอาไว้ รวมไปถึงการก่อสร้างก็อาจจะไม่ได้เป็นไปตามแผน 100% ดังนั้นจากที่กล่าวมาทั้งหมดของโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศไทย สรุปได้ว่าเกือบทุกโครงการมีความล่าช้าอย่างแน่นอน แต่ก็ยังอยู่ในวิสัยที่ยอมรับได้

“เพราะฉะนั้นในส่วนของโรดแม็ปโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยเฉพาะในส่วนของแผนปฏิบัติการ Action Plan ด้านคมนาคมที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ที่มีการอัดเม็ดเงินลงทุนไปทั้งสิ้นกว่า 893,776.09 ล้านบาทในการดำเนินเร่งด่วน 6 กลุ่ม จำนวน 36 โครงการ ถือว่าเป็นโครงการเมกะโปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของไทย ที่กล่าวได้ว่าสามารถดำเนินการไปตามแผนที่วางเอาไว้ได้ราว 70-80%  ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ”

EEC เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากเรื่องการเดินตามแผนที่วางไว้ อีกเรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหน่อยไปกว่ากันก็คือ โครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ในส่วนนี้เป็นการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานอย่างสมดุล โดยมีการพัฒนาให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและพัฒนาเขตเมืองใหม่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต  หากโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลดำเนินการก่อสร้าง สามารถเชื่อมโยงระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์เข้าไว้ด้วยกัน ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์และผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ

โดยจะเห็นได้ว่าจากแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ให้ความสำคัญไปในเรื่องของการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางเป็นหลัก ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตจะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอีกมาก แต่ยังมีสิ่งที่น่ากังวลอีกก็คือ เรื่องของการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการลงทุนในระบบทางคู่ ที่เมื่อมองประสิทธิภาพในการใช้งานจะมีสัดส่วนที่สูงขึ้นกว่าเดิมหรือไม่? การใช้งานในที่นี้หมายความถึงจะมีรถไฟวิ่งหรือไม่ และเมื่อรถไฟวิ่งแล้วจะทำให้ต้นทุนการขนส่งถูกลงหรือไม่อย่างไร ตรงนี้เป็นคำถามที่ต้องนำไปคิดต่อว่าจะดำเนินการบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าวได้อย่างไร?

“สิ่งที่ควรอยู่ในแผนงานของรัฐบาลก็คือ หากสร้างรถไฟทางคู่เสร็จแล้ว การใช้งานทางคู่จะเป็นอย่างไร หัวรถจักร ขบวนรถไฟเพียงพอกับการใช้งานหรือไม่ หากไม่พอต้องลงทุนเพิ่มหรือไม่ การรถไฟสามารถให้บริการเองเพียงรายเดียวได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะให้เอกชนเข้ามาร่วมดีหรือไม่ ”

ถึงเวลาคิด…ปลดล็อกผูกขาดกิจการรถไฟ

ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอยังกล่าวด้วยว่า แม้การรถไฟแห่งประเทศไทย จะเป็นหน่วยรัฐเพียงรายเดียวที่มีอำนาจในการบริหารจัดการการขนส่งทางราง แต่ด้วยโรดแม็ปที่รัฐบาลมุ่งพัฒนาโครงสร้างด้านคมนาคมโดยเฉพาะเรื่องการขนส่งทางราง  เห็นว่าการบริหารงานภายใต้บังเหียนของการรถไฟไม่น่าจะมีประสิทธิภาพสูงไปกว่าที่เป็นอยู่ได้ ดังนั้นคงเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐต้องเก็บไปคิดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อดี หรือควรจะให้รัฐบาลปลดล็อคให้เอกชนสามารถเข้ามาเป็นผู้ร่วมบริหารจัดการ ตรงนี้เป็นการบ้านที่หนักหน่วงที่ทั้งรถไฟไทยและรัฐบาลน่าจะเก็บไปขบคิดให้ “ตกผลึก” เพื่อการพัฒนาระบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“คงต้องจับตามองในเรื่องของประสิทธิภารในการดำเนินการของการรถไฟจะเป็นอย่างไร สามารถตอบสนองต่อผู้ใช้บริการ และตอบสนองกับความต้องการในการขนส่งสินค้าได้ดีขนาดไหน เพราะเมื่อมีการพัฒนาทางรถไฟให้เป็นรางคู่ ย่อมจะทำให้ระบบการขนส่งทางรางมีประสิทธิภาพเพิ่มมากการเดินทางของผู้โดยสารต่อไปก็น่าจะดีขึ้นตามไปด้วย”

แม้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมโดยส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่มีการดำเนินการวางแผนหรือมีการศึกษามาก่อนแล้วก็ตาม แต่เรื่องที่ควรจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ ก็คือเรื่องของการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ที่จะสามารถใช้งานในโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างมีประโยชน์ เพื่อทำให้ระบบในการจัดการในโครงการต่างๆ เหล่านั้นมีประสิทธิภาพในการใช้งานได้สูงสุด เพื่อประโยชน์ของงประชาชนและประเทศชาตินั่นเอง….