ไถ่บาป! ‘ทีวีดิจิทัล’

0
149

วงการโทรคมนาคม-สื่อทีวีดิจิทัลขานรับมาตรการรัฐงัด ม.44 ไถ่บาปให้ กสทช.ช่วยผู้ประกอบการก่อนตายทั้งกลม ชี้เหตุออกใบอนุญาตมาเป็นกุรุดไม่ดูตลาดแถมแผนขยายเครือข่ายเหลวไม่เป็นท่า

หลังจากที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้เรียกประชุมร่วมผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทุกช่องถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ซึ่งประสบปัญหาขาดทุนจากการดำเนินงานอย่างหนักจากการเปลี่ยนแพลตฟอร์มสื่อสารและวงการทีวี โดยจะเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกคำสั่งคสช.ตามมาตรา 44 พักชำระหนี้ให้ผู้ประกอบการ 3 ปีขณะที่ กสทช.จะออกค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินให้ 50% เป็นเวลา 24 เดือน เช่นเดียวกับ ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ทั้งเอไอเอสที่ต้องจ่ายเงินประมูลในงวดที่ 4 จำนวน 59,000 ล้านบาทและทรูจ่าย 60,000 ล้านบาทโดยให้แบ่งการชำระงวดออกเป็น 5 ปี ปีละ 10,000 ล้านบาทเศษพร้อมดอกเบี้ยนั้น

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เผยว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมเพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าความล้มเหลวของทีวีดิจิทัลส่วนหนึ่งมาจากนโยบายที่ิผิดพลาดของภาครัฐเอง ที่มีการออกใบอนุญาตไปโดยไม่ดูสภาพตลาดที่เป็นจริง ขณะที่การขยายเครือข่ายผู้ชมทีวีดิจิทัลของกสทช.เองก็ไม่เป็นไปตามแผน เพราะการแจกกล่องเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลที่ใช้งบประมาณกว่า 16,000 ล้านนั้น มีประชาชนนำคูปองมาแลกกล่องไปราว 9 ล้านเท่านั้นและติดตั้งใช้งานจริงไม่ถึงด้วย จึงทำให้การแพร่ภาพออกอากาศไม่ครอบคลุม

ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ผู้บริโภคหันไปเสพสื่อดิจิทัลและรับชมทีวีผ่านแพลตฟอร์มอื่นนั้นส่งผลกระทบต่อตลาดทีวีดิจิทัลในภาพรวม ขณะที่มาตรการช่วยเหลือของ กสทช.เองก็มีข้อจำกัดทางกฎหมาย ผู้ประกอบการไม่สามารถจะขอระงับการออกอากาศหรือคืนใบอนุญาตได้ “การเสนอให้หัวหน้าคสช.ใช้ม.44 ผ่าทางตันปัญหาให้นั้นจึงเป็นทางออกที่เหมาะสมดีกว่าที่จะปล่อยให้ผู้ประกอบการตายทั้งกลม”

ส่วนกรณีการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ประมูลคลื่น 900  เมกะเฮิร์ตซ์นั้นก็เนื่องจากการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวเป็นที่รับรู้กันดีว่าไม่ปกติ มีผู้ประกอบการโทรคมนาคมบางรายเข้ามาป่วนการประมูลและดันราคาประมูลสูงเกินความเป็นจริง ก่อนจะทิ้งการประมูลไป ทำให้ผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตไปต้องจ่ายค่าธรรมเนียมประมูลสูงเกินจริง ขณะที่ กสทช.เองก็มีข้อจำกัดในแนวทางที่จะให้ความช่วยเหลือ การใช้ม.44 ผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการสามารถยืดชำระค่าธรรมเนียมประมูลออกไปจึงเป็นหนทางเยียวยาที่เหมาะสม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ย่อมมีสภาพไม่ต่างจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล

นายสุภาพ คลี่กระจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย)กล่าวว่าการพักชำระหนี้ 3 ปี จะมีความหมายกับผู้ประกอบการมาก คือ 1.นำเงินที่จะต้องจ่ายค่างวดไปพัฒนาเนื้อหาและบุคลากร 2.ในช่วง 3 ปี ที่พักหนี้ทางช่องอนาล็อกที่ยังส่งสัญญาณอยู่คือช่อง 3 ช่อง 9 และช่อง 7 ซึ่งผู้ชมไม่ต้องติดกล่องก็สามารถดูทีวีได้ถึงวันนั้นจะต้องมาอยู่ในระบบทีวีดิจิตอลคนที่เคยดูได้ตามปกติจะดูไม่ได้ต้องมาติดกล่อง และเมื่อทุกคนมาติดกล่องจะทำให้คนดูไหลมาดูวงการทีวีดิจิตอลมากขึ้น ส่งผลถึงตัวเลขเงินโฆษณาก็จะไหลมามากขึ้นน่าจะเป็นทางอยู่รอดของวงการทีวีดิจิตอลในภาพรวม