ทย.เด้งรับนโยบาย“เที่ยวเมืองรอง”ปรับโฉมสนามบินภูมิภาครับนักท่องเที่ยว

0
204

กรมท่าอากาศยาน เด้งรับนโยบาย “ท่องเที่ยวเมืองรอง” เร่งปรับโฉมสนามบินภูมิภาครับนักท่องเที่ยว เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก-จัดโปรโมชั่น“ ลดค่าแลนด์ดิ้ง-ค่าพีเอสซี-ค่าใช้พื้นที่” 50-85% ล่อใจสายการบิน มั่นใจผู้โดยสารผ่านเข้า-ออกโตเฉลี่ยกว่าปีละ 4-7% ส่วนโอนย้าย 4 สนามบินไปทอท.โยนกฤษฎีกา
นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองทางกรมท่าอากาศยานในฐานะที่รับผิดชอบสนามบินภูมิภาค  28 แห่งได้มีการจัดรายการส่งเสริมการตลาด (โปรโมชั่น) การใช้สนามบินให้กับสายการบินต่างๆ ที่มีการเปิดเส้นทางบินตรงใหม่ไปยังสนามบินของ ทย. เป็นระยะเวลา 3 ปีจากที่เริ่มทำการบิน
โดยแผนส่งเสริมการตลาดสนามบินในภูมิภาคดังกล่าวประกอบไปด้วย 1. สายการบินจะได้รับส่วนลดค่าบริการขึ้น-ลงอากาศยาน (Landing Fee) ในอัตรา 50%-85% ตามขั้นบันไดในช่วง 3 ปี 2.ส่วนลดการเข้าเช้าใช้พื้นที่บริเวณสนามบินที่ขึ้น-ลง 50% ทันที่ตลอดอายุ 3 ปี และ 3.ผู้โดยสารในเส้นทางบินต่างประเทศจะได้รับส่วนลดค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน ลง 50% ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการขอใช้สนามบินของ ทย.ดังกล่าว
“ทย. มั่นใจว่าจะทำให้มีปริมาณผู้โดยสารผ่านเข้า-ออกสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบเติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากว่า 4%-7%/ปี จากเดิมสนามบิน ทย. มีปริมาณผู้โดยสารผ่านเข้า -ออกปีละ 19 ล้านคน  ขณะที่อัตราการเติบโตผู้โดยสารผ่านสนามบินทย.โตเฉลี่ยปีละ 4% โดยล่าสุดได้มีสายการบินแอร์เอเซียจากมาเลเซีย ขอเปิดเส้นทางบินตรง กัลลาลัมเปอร์-หัวหิน ,สายการบินไทยแอร์เอเซีย ขอทำการบินเส้นทางบินระหว่างภูมิภาค เช่น หัวหิน-เชียงใหม่ เป็นต้น และสายการบินนกแอร์ มาขอเส้นทางบินใหม่ๆ
นอกจากนั้น ยังมีสายการบินต่างประเทศจากโปแลนด์ขอบินตรงมายังสนามบินกระบี่ สายการบินจากจีนคือคุณหมิงแอร์ไลน์ ขอบินตรงมาลงยังโคราช ,สายการบินลัคกี้แอร์ และสายการบินจากจีนใหม่อีก 2-3 สายการบินเสนอขอเปิดเส้นทางบินใหม่มายังไทยอีกหลายแห่ง เป็นต้น
ส่วนความคืบหน้าการโอนย้ายสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบทย.จำนวน 4 แห่งคือ สนามบินอุดรธานี ,สนามบินสกลนคร,สนามบินตากและสนามบินชุมพร ไปอยู่ในความรับผิดชอบ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)(ทอท.)นั้น นางอัมพวัน กล่าวว่า ทาง ทย.อยู่ในขั้นตอนการสรุปรายละเอียดทั้งหมด เพราะมีบางประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับข้อระเบียบ บังคับทางกฎหมาย จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยทย. จะต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอความคิดเห็นจากกฤษฎีกาก่อน เนื่องจากข้อมูลบางอย่างยังไม่เคยมีใครปฎิบัติมาก่อน