สินค้าผ่านแดน…อีกนโยบาย Drifting Policy !

0
604

ขณะที่รัฐบาลตีปี๊บโชว์ผลงานหลังการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ครึ่งทางของไทยปี 2559 ขยายตัวไปแล้ว 3.4% แม้หลากหลายสำนักจะพากันถอดใจ ปีนี้แค่ประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวไปได้สัก 2.5-3% ก็ดีถมถืดไปแล้ว จากแรงกดดันรอบด้านที่กำลังถั่งโถมเข้าใส่ 

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ยังคงแสดงความมั่นใจจะสามารถผลักดันการส่งออกให้ขยายตัว ได้ตามเป้าหมาย 5% โดยมีแผนจะรุกตลาดการค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาด CLMV ไหนจะขานรับการจัดตั้ง “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ไฟเขียวจัดตั้งสำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมไปก่อนหน้า

แต่ก็ให้น่าแปลกใจวันวานก็เพิ่งเห็น จักรกฤษฎิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ ออกมาโอดครวญหลังจากกรมธนารักษ์เปิดให้เอกชนเข้ายื่นประมูลพัฒนาพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 3 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ จ.หนองคาย จ.ตราด และ จ.มุกดาหาร โดยรัฐจะให้สิทธิพิเศษทางภาษี (บีโอไอ) พร้อมจัดบริการโครงสร้างพื้นฐานการอำนวยความสะดวกด้านภาษีศุลกากร สรรพากร ให้ครบครัน

แม้จะมีผู้แสดงความสนใจกันคึกคัก แต่ถึงวันประมูลจริงนั้นกลับไร้เงาผู้เข้าประมูล บางแห่งกมีเพียงรายเดียวเท่านั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่อีก ทำความความฝันที่จะปลุกตลาดการค้าชายแดนรุกตลาดเพื่อนบ้าน CLMV กลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง GMS หรือจะปลุกเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อเชื่อมโยงการค้า การลงทุนไปยังเพื่อนบ้านจ่อจะไปเกิดเอาชาติหน้า  

ล่าสุดนี้ กลุ่มผู้ประกอบการสินค้าผ่านแดนก็เพิ่งจะออกโรงโวยรัฐกำลังไล่ทุบธุรกิจค้าผ่านแดนหรือนำผ่าน และตลาดการค้าชายแดนชนิด “ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต” เพราะมีการตีความสินค้าผ่านแดนเสมือนการนำเข้า-รีเอ็กซ์ปอร์ต แถมรัฐยังไปฟื้นสินบนนำจับศุลกากรที่ไปซุกไว้ในกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์เข้า ให้อีก!

เรื่องอย่างนี้ “ไม่มีไฟ มันไม่มีควัน” หรอกครับ ฯพณฯ ท่านนายกฯ ประยุทธ์ จัทร์โอชา ที่เคารพ! 

โดย นายพัชรดิษฐ์ สินสวัสดิ์ นายกสมาคมตัวทนออกของรับอนุญาตไทย ได้ออกโรงเปิดเผยเรื่องที่กำลังจะทำให้เส้นทางการปลุกตลาดการค้าชายแดน และป้ัน “โลจิสติกส์ ฮับ” ของประเทศไทยเป็นไปได้แค่ฝัน ก็เพราะ 2 หน่วยงานรัฐ อย่างกระทรวงพาณิชย์ และกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ไปซุ่มเงียบทำคลอดกฎหมายที่กำลังทำลายนโยบายของรัฐข้างต้นโดยตรง

จะเป็นการทำคลอดกฎหมายด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือรู้อยู่เต็มอกแต่แกล้งทำไม่รู้หรือไม่อย่างไรก็ไม่อาจจะทราบได้  แต่ 2 กฎหมายที่ผู้ประกอบการกล่าวถึงก็ถูกทำคลอดออกไปเงียบๆ เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา 

โดยในส่วนของกรมศุลกากรได้แก้ไขกฎหมายศุลกากรปี 2469 ในส่วนของคำนิยามสินค้าผ่านแดนตามมาตรา 58 ให้อำนาจเจ้าพนักงานศุลกากรสามารถที่จะเข้าไปตรวจค้น ยึด และอายัดหรือริบของโดยไม่ต้องมีหมายค้น หากเชื่อได้ว่า สินค้าของผ่านแดนที่นำเข้ามาเป็นของต้องห้ามหรืออาจเป็นภัยต่อความมั่นคง

ทั้งยังออกประกาศศุลกากรที่ 210/2558 ลงวันที่ 30 กันยายน 58 กำหนดขั้นตอนการดำเนินพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าผ่านแดนที่อ้างว่าเพื่อให้ เป็นไปตามข้อตกลงการค้าเสรีและแกตส์ รวมทั้งให้สอดรับกับการแก้ไขกฎหมายมาตรา 58 ข้างต้น โดยมีการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้นำของเพื่อการผ่านแดน หรือการถ่ายลำออกนอกราชอาณาจักร ไม่ว่าจะดำเนินการเอง หรือผู้รับมอบอำนาจจะต้องยื่นใบขนสินค้าตามแบบ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด มีการกำหนดเงื่อนเวลาให้ของต้องส่งออกภายใน 90 วันนับแต่วันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร หากผู้ขอผ่านแดนไม่ส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าของผ่านแดนนั้นไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดให้ดำเนิน การกับของผ่านแดนดังกล่าวตามระเบียบว่าด้วยของตกค้าง

“การออกประกาศศุลกากรที่จะให้ริบของผ่านแดน โดยถือเสมือนเป็นของตกค้างเป็นการออกประกาศที่ขัดแย้งกับกฎหมายศุลกากรเอง ยังถือเป็นการออกประกาศเกินขอบเขตกฎหมายศุลกากรที่ขัดต่อพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ไทยมีอยู่ ถือเป็นภัยคุกคามต่อธุรกิจสินค้าผ่านแดน และถือเป็นการละเมิดพันธะกรณีระหว่างประเทศโดยตรงอีกด้วย” 

14057415661405741744ln20150709120139_77278

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เองก็มีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.58 ที่ให้เพิ่มนิยาม “การนำผ่าน” ให้หมายรวมถึงนำและส่งสินค้าผ่านราชอาณาจักรด้วยไม่ ว่าจะมีการพักสินค้า เปลี่ยนถ่ายยานพาหนะ หรือเปลี่ยนภาชนะบรรจุเพื่อประโยชน์ในการขนส่ง โดยอ้างว่าเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งยังเพื่อป้องกันการลักลอบส่งออกหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร

ประเด็นสำคัญของการแก้ไขครั้งนี้อยู่ที่มาตรา 16 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการตรวจค้น สถานที่ผลิตหรือจัดเก็บสินค้าหรือยานพาหนะของผู้ประกอบการส่งออก นำเข้าหรือนำผ่าน รวมไปถึงการตรวจยึด จับกุม และริบของกลาง การฟ้องร้องดำเนินคดีได้เช่นเดียวกับเจ้าพนักงานศุลกากร ซึ่งถือเป็นการออกกฎหมายที่ซ้ำซ้อนกับที่กรมศุลกากรดำเนินการอยู่ กลายเป็นการสร้างฐานอำนาจใหม่ที่ทำให้ผู้ประกอบการนำเข้า ส่งออก หรือผู้ประกอบการนำผ่านต้องตกอยู่ในสภาพหวาดวิตก เพราะอาจถูกเจ้าหน้าที่ทั้งศุลกากรและพาณิชย์เวียนเทียนกันมาตรวจสอบสถาน ประกอบการ หรือโรงพักสินค้าได้ทุกเมื่อ

ที่สำคัญมีการซ่อนเนื้อหา “รางวัลสินบนนำจับ” ที่เคยเป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ใต้โต๊ะของเจ้าหน้าที่ศุลกากร จนภาครัฐมีนโยบายให้ลดเลิกเพื่อขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นก่อนหน้านี้ แต่ล่าสุดกลับมีการนำเอาสินบนนำจับที่ว่านี้ไปซุกอยู่ในกฎหมายของกระทรวง พาณิชย์แทน

”ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์มีมุมมองว่า ไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการค้าผ่านแดน แต่สมาคมยืนยันว่าการค้านำผ่านหรือสินค้าผ่านแดนนั้น แม้ผู้ชื่้อ-ผู้ขายจะอยู่ต่างประเทศและใช้ไทยเป็นแค่เมืองท่าผ่านเข้า-ออก แต่ไทยก็ได้รับประโยชน์จากสินค้าผ่านแดน การขนส่งสินค้าหรือโรงพักสินค้าและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ปีละนับแสนล้านบาท เอาแค่เฉพาะสินค้าผ่านแดนไปยังสปป.ลาว แต่ละปีก็มีมูลค่ามากกว่า 70,000 ล้านบาทแล้ว”

ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าผ่านแดน และสมาคมที่เกี่ยวข้องจึงต้องการให้รัฐเร่งดำเนินการพิจารณาทบทวนประกาศ ศุลกากร ตลอดจนการแก้ไขกฎหมาย 2ฉบับข้างต้น เพราะกฎหมายดังกล่าวไม่เพียงเป็นอุปสรรคและภัยคุกคามต่อธุรกิจสินค้าผ่านแดน ยังกระทบต่อตลาดการค้าชายแดน และนโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนที่รัฐมีเป้าหมายจะผลักดันให้ ได้ถึง 1.7 ล้านล้านบาท รวมทั้งนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นโลจิสติกส์ ฮับ โดยตรงอีกด้วย

ถือเป็นเผือกร้อนสำคัญที่ไม่รู้นายกฯ “บิ๊กตู่” จะล่วงรู้หรือไม่ เรื่องใหญ่ประมาณนี้ผ่านสายตาหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอย่าง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไปได้อย่างไร ซึ่งหากเป็นจริงดั่งที่ผู้ประกอบการดาหน้าออกมาแฉโพยก็เห็นทีไม่เพียงจะ กระทบเส้นทางปลุกตลาดการค้าขายแดน เส้นทางการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน   ยังอาจทำให้เส้นทางป้ันโลจิสติกส์ ฮับของประเทศไทยเป็นได้แค่ฝัน