นำร่องจ่ายค่าโดยสาร ‘ไร้เงินสด’ บนรถเมล์สาย 510

0
362

ขสมก. จับมือกรุงไทย นำร่องจ่ายค่าโดยสารไร้เงินสดบนรถเมล์สาย 510 เริ่มขายบัตร 2 เม.ย. นี้ ราคา 40 บาท ก่อนใช้งานจริง 9 เม.ย. 62 พร้อมประเมินผลรับฟังทุกคอมเม้นต์จากผู้โดยสารให้สอดคล้องบริการ ยันอนาคตรถเมล์ทุกคันต้องไม่รับเงินสด

นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ และรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. และ นายกิตติพัฒน์ เพียรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.ธนาคารกรุงไทย ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เรื่องการให้บริการรับชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสด

นายประยูร เปิดเผยว่า ขสมก.ได้เปิดตัวรถเมล์ไร้เงินสดเป็นสายแรกของประเทศไทย ถือว่าเป็นการยกระดับเข้าสู่ระบบขนส่งดิจิทัลรองรับแผนพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ซึ่งจะเป็นระบบใช้บัตรดิจิทัลชำระค่าโดยสารซึ่งจะไม่มีการใช้เงินสดอีกต่อไป ซึ่งในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงไทยในการลงทุนติดตั้งระบบและเครื่องอ่านบัตร โดยจะเป็นการทดลองนำร่องบนรถโดยสารปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) สาย 510 มธ.ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จำนวน 38 คัน เป็นระยะเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.-9 มิ.ย.นี้ สำหรับเหตุผลที่เลือกใช้สายนี้นำร่องเพราะส่วนใหญ่ผู้โดยสารกว่า 90% เป็นลูกค้าประจำสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ไม่ยาก

นายประยูร กล่าวต่อว่า สำหรับการซื้อบัตรนั้นมีราคาขั้นต่ำที่ 50 บาท เริ่มจำหน่ายวันที่ 2 เม.ย. นี้ โดยระยะแรกจะเป็นช่วงโปรโมชั่นเติมแค่ 40 บาท และได้รับโบนัสเงินเพิ่มอีก 10 บาท ให้กับผู้โดยสารที่ซื้อบัตรครั้งแรกจะได้รับสิทธิ์นี้ทุกราย ส่วนการเติมเงินบัตรมี 3 วิธี คือ เติมเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้งของทุกธนาคาร เติมเงินผ่านตู้เอทีเอ็มของทุกธนาคาร และเติมเงินผ่านเคาท์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา โดยไม่กำหนดขั้นต่ำวงเงินในการเติมเงิน และเติมเงินได้สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท ทั้งนี้มีโปรโมชั่นหากผู้โดยสารเติมเงินครั้งละ 1,000 บาท จะได้รับเงินในบัตรเพิ่ม 50 บาท รวม 1,050 บาท โดยบัตรนี้มีอายุการใช้งาน 5 ปี แต่บัตรนี้จะใช้ได้เฉพาะ 2 เดือนที่ทดลองใช้เท่านั้นถ้ากรณีผู้โดยสารใช้เงินในบัตรไม่หมดสามารถไปขอคืนเงินได้ที่ธนาคารทุกสาขา

นายประยูร กล่าวต่อว่า ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถชำระค่าโดยสารผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDC ได้ในรูปแบบต่างๆ คือ 1. บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3 ประเภท ได้แก่ บัตรฯ รุ่นแรก เวอร์ชั่น 2.0, บัตรฯ  ที่ลงทะเบียนกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เวอร์ชั่น 2.5 และ บัตรฯ เวอร์ชั่น 4.0 นอกจากนี้ยังชำระค่าโดยสารด้วยบัตรเดบิตและบัตรเครดิตแบบไร้สัมผัส (Contactless) ของธนาคารต่างๆ รวมทั้งชำระค่าโดยสารด้วยระบบคิวอาร์โค้ด และชำระค่าโดยสารด้วยบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ของ ขสมก. ซึ่งธนาคารกรุงไทยจะเป็นผู้ผลิตให้ประมาณ 10,000 ใบ โดยผู้ใช้บริการสามารถซื้อบัตรโดยสารดังกล่าวได้บนรถเมล์สาย 510 และจุดจำหน่ายตั๋วโดยสารของ ขสมก. ตรงป้ายรถเมล์ใหญ่ๆ เช่น อนุสาวรีย์ชัยฯ บีทีเอสจตุจักร ดอนเมือง และ ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต

นายประยูร กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีข้อกังวลผู้โดยสารขาจรสาย 510 ที่ไม่ตอบโจทย์ในการเดินทางนั้น สาย 510 รถเมล์ทั้ง 38 คัน มีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 10,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารประจำประมาณ 90% ซึ่งผู้โดยสารขาจรไม่ค่อยมี แต่หากผู้โดยสารขาจรสามารถเลือกเดินทางด้วยรถเมล์ที่วิ่งเส้นทางเดียวกันได้ เช่น สาย 29 และ สาย ปอ.29 อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าในอนาคต ขสมก. ต้องใช้ระบบจ่ายค่าโดยสารแบบไร้เงินสดบนรถเมล์ทุกคัน ดังนั้นโครงการนี้จะนำร่องเพื่อขอประเมินผล กระแสตอบรับ และปัญหาที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งพิจารณาปรับลดวงเงินในบัตรที่มีข้อเสนอจะขอเริ่มต้นที่ค่าโดยสารของสาย 510 คือ 11-23 บาทตามระยะทางด้วย เพื่อนำมาปรับให้สอดคล้องกับการใช้บริการของผู้โดยสารต่อไป

ส่วนผู้ใช้บริการสามารถใช้บัตรโดยสารล่วงหน้า อาทิ ตั๋วรายเดือน รายสัปดาห์ บัตรนักเรียน และบัตรนักศึกษา เดินทางได้ตามปกติ