“Trade Logistics Symposium 2019”กูรูระดับโลกแนะวิธีเพิ่มศักยภาพโลจิสติกส์ยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

0
122

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.) กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ระดับโลกร่วมเจาะลึกสถานการณ์และทิศทางโลจิสติกส์ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกเพื่อเป็นความรู้ให้กับผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ของไทย ในงาน Trade Logistics Symposium 2019 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด Transform and Collaborate towards Greater Success

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจบริการ ได้จัดงาน Symposium ภายในงานแสดงสินค้าโลจิสติกส์(TILOG-LOGISTIX) ต่อเนื่องทุกปี โดยปีนี้จัดในวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ที่ไบเทค บางนา เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านธุรกิจบริการโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ ระหว่างวิทยากรผู้มีความรู้ ประสบการณ์ และมีบทบาทสำคัญในวงการโลจิสติกส์การค้าจากประเทศต่างๆ กับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออก ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในแวดวงอุตสาหกรรมธุรกิจของไทย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาบุคลากรในสายงานโลจิสติกส์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีวิสัยทัศน์ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและยกระดับการบริการสู่มาตรฐานสากล

“Trade Logistics Symposium 2019 จัดขึ้นภายใต้แนวคิดTransform and Collaborate towards Greater Success หรือการพลิกโฉมองค์กรและทำงานร่วมกันเพื่อความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ที่อยู่ในวงการโลจิสติกส์เกิดความร่วมมือกัน และมีความรู้ความเข้าใจว่า Disruptive Technologyที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคืออะไร และจะนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพลิกโฉมองค์กรให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน และทิศทางแนวโน้มของอุตสาหกรรมธุรกิจ
โลจิสติกส์ในอนาคต” นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าว

Symposium ปีนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมาร่วมบรรยาย 6 ท่าน ได้แก่

“นายเอ็ดวิน ฟาน โพเอลเจอร์”รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารงานสารสนเทศ ลินฟอกซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป ผู้ให้บริการโลจิสติกส์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย บรรยายเรื่อง การใช้ประโยชน์จาก IoTเพื่อนำเสนอข้อมูลที่มีความก้าวหน้าด้านการขนส่งและโลจิสติกส์และสารสนเทศด้านมาตรฐานคุณภาพ(Leveraging IoT to deliver advanced transport and logistics data and quality benchmarking information)โดยมีเนื้อหาครอบคลุมเกี่ยวกับวิธีการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันขององค์กรภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาสร้างนวัตกรรมและโชลูชันชั้นสูง เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการทำงานของโซ่อุปทาน และช่วยให้พนักงานทำงานได้สะดวกปลอดภัยมากขึ้น

นายคัทสึฮิโกะ อุเมะทสึประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส ยามาโตะโฮลดิ้ง และประธาน ยามาโตะโกลบอลโลจิสติกส์ ผู้ให้บริการจัดส่งอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในตลาดอาเซียนและตลาดเกิดใหม่ ในหัวข้อบรรยายการขนส่งสินค้าข้ามแดนและตลาดเกิดใหม่: ความสำคัญและความซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซ(Cross-Border Logistics and Emerging Markets : its importance and intricacies in relation to e-Commerce)

ที่ปรึกษาอาวุโสด้านโลจิสติกส์ของสวิสล็อกเซาท์อีสต์เอเชีย ผู้ให้บริการโซลูชั่นระบบอัตโนมัติชั้นนำของโลก นายดิกสัน โยว”มาให้ข้อมูลเรื่องคลังสินค้าอัจฉริยะ: การเดินทางสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยใช้โซลูชั่นหุ่นยนต์และการขับเคลื่อนข้อมูล(Smart Warehousing : Our Journey into Industry 4.0 using robotic & data driven solutions) โดยเปิดเผยถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในระบบคลังสินค้าเพื่อทำให้เป็นคลังสินค้าอัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มความรวดเร็ว และลดความซับซ้อนในโซ่อุปทาน

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก“นายฌอน คูลีย์บรรยายเกี่ยวกับ โซ่อุปทานในอนาคต : ระบบอัตโนมัติ การตอบสนองความเป็นส่วนตัว การตอบสนองความเป็นท้องถิ่น (The Future Supply Chain:  Automated, Personalised, Localised) ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งทิศทางและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโซ่อุปทาน และการเลือกลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาระบบโซ่อุปทาน และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้คน

กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็มพาวเวอร์แอสโซซิเอตส์ และประธานคณะกรรมการโลจิสติกส์ หอการค้าอังกฤษในฮ่องกง นายมาร์ค มิลลาร์มาแบ่งปันความรู้ด้านระบบนิเวศโซ่อุปทานกับการทำงานร่วมกัน (Supply Chain Ecosystems: Collaboration)แนะแนวทางการพัฒนากลุยทธ์โซ่อุปทานเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขันในโลกที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกันมากขึ้น และชี้ให้เห็นแง่มุมที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศโซ่อุปทานของโลก เพื่อให้ธุรกิจสามารถทำงานร่วมกัน เติบโตไปด้วยกัน และอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

“นางสาวอปรรณา สักเซนา”หัวหน้าฝ่ายธุรกิจขนส่ง ลาซาด้า อีโลจิสติกส์ อินโดนีเซีย บรรยายเรื่องการจัดส่งที่รวดเร็ว: ควรจะเร็วเท่าไรและทิศทางในอนาคตจะเป็นอย่างไร(Fast delivery: How fast does it need to be and where is it headed) กล่าวถึงปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จในธุรกิจจัดส่งสินค้า ซึ่งนอกจากการส่งมอบที่ตรงเวลาแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการที่ผู้ให้บริการจำเป็นต้องคำนึงถึง  

“นับเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการที่ได้มาเรียนรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรชั้นนำระดับโลกที่มีข้อมูลเชิงลึกและมีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีโลจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทานมานานหลายทศวรรษซึ่งกรมฯ หวังว่าผู้ร่วมงานจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ และแข่งขันได้ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าวในตอนท้าย