ปิดฉากหรู Panus LogTech ปี 3 “ชิปป๊อป”ผงาดแชมป์ประเภทนิติฯ“I’Rice Logisฯ”สอยประเภทนิสิตฯ

0
254

ปิดฉากลงอย่างงดงามตามท้องเรื่องพร้อมแชมป์แต่ละประเภทสำหรับโครงการ Panus Thailand LogTech Award 2019 เวทีเฟ้นสตาร์ทอัพด้านธุรกิจโลจิสติกส์ (LogTech) รายแรกประเทศไทย ภายใต้คอนเซ็ปต์สุดเก๋ ‘The Adventures in Logistics’ “ชิปป๊อป”ผงาดแชมป์ประเภทนิติฯ พ่วงสิทธิ์เหินฟ้าไปศึกษาดูงานโลจิสติกส์ที่เยอรมนี ส่วน“I’Rice Logis Tech”สอยประเภทนิสิตฯ

โครงการ Panus Thailand LogTech Award 2019 จัดขึ้นเป็นที่ 3 แล้ว โดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ยักษ์ใหญ่ตลาดผู้ผลิตยานยนต์ภาคขนส่งและโลจิสติกส์เมืองไทย และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พุ่งชนเป้าหมายหนุนแนวคิดธุรกิจ เบ้าหลอมเทคโนโลยีและนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ เพื่อยกระดับและต่อยอดให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศไทยแข็งแกร่งและก้าวหน้าขึ้นสู่ระดับสากลได้

คุณเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และรองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า โครงการฯนี้ได้ริเริ่มขึ้นและดำเนินโครงการต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้สนใจในประเภทนิติบุคคลหรือบุคคลทั่วไป และประเภทนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้ใช้และแชร์ความคิดความสามารถ สร้างสรรค์เชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เป็นประโยชน์ด้านโลจิสติกส์ (Logistics) ทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตอบสนองนโยบายรัฐในยุค Thailand 4.0 พร้อมผลักดันแนวคิดพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ไทยสู่สากล และในปีนี้มีแนวคิดการประกวด “The Adventures in Logistics” เพื่อเน้นย้ำให้ทุกคนเข้าใจ ไม่ว่าจะแนวคิดหรือธุรกิจแบบใดก็ตาม สามารถมาร่วมผจญภัยในโลก PANUS Logistics ได้ เพราะโลจิสติกส์ ไม่ใช่เพียงเรื่องการขนส่งเท่านั้น แต่รวมถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม หรือแนวคิดธุรกิจ ที่จะสามารถตอบโจทย์และยกระดับโลจิสติกส์ได้

จากการคัดเลือกผลงานในปีนี้ พบว่ามีผู้ส่งผลงานเข้ามาเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป จำนวน 30 ผลงาน และประเภทนิสิตและนักศึกษาระดับอุดมศึกษา จำนวน 29 ผลงาน ทำให้เห็นว่าผลงานที่ส่งเข้าประกวดนั้นอย่างในประเภทนิสิตและนักศึกษา มีแนวคิดที่หลากหลาย และเฉียบแหลมมากขึ้น ขณะที่ประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไปเอง มีเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่าสามารถพัฒนาโลจิสติกส์ได้อย่างชัดเจนเพิ่มมากขึ้นทุกปี สร้างความยินดีเป็นอย่างยิ่งแก่ศูนย์บ่มเพาะฯ สวทช. ที่ได้เริ่มโครงการฯ มาตั้งแต่เมื่อปี 2560 นับตั้งแต่วันที่ทางบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ได้เข้ามาหารือเรื่องการจัดโครงการ Panus Thailand LogTech Award

คุณเฉลิมพล ย้ำอีกว่าทั้งหมดนั้นเป็นความตั้งใจจริงของคุณพนัส วัฒนชัย ที่ต้องการจะสนับสนุนแนวคิดธุรกิจของนิสิตนักศึกษา รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สตาร์ทอัพมี เพื่อให้เทคโนโลยีเหล่านั้นสามารถยกระดับและต่อยอดให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศไทยแข็งแกร่งและก้าวหน้าขึ้นสู่ระดับสากลได้ นอกจากรางวัลในการประกวดแล้ว ทางบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ยังได้มอบโอกาสแก่ผู้ชนะแบบนิติบุคคลไปศึกษาดูงานโลจิสติกส์ระดับสากลที่ประเทศในเยอรมันอีกด้วย เพื่อสามารถนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดพัฒนาธุรกิจของตน อีกทั้งยังจัดตั้งกองทุน Panus Logistics Innovation Fund เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยได้มีโอกาสขยายธุรกิจให้เติบโตมากยิ่งขึ้น”

ขณะที่คุณพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ผู้นำตลาดในภาคธุรกิจขนส่งมากว่า 50 ปี กล่าวว่าปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วที่เราได้จัดมา ซึ่งเป็นที่น่ายินดีในทุกปีมีผู้ให้ความสนใจในโครงการและร่วมสมัครกันเป็นจำนวนมากขึ้น ๆ ซึ่งปีนี้มีผู้ร่วมสมัครทั้งสองประเภทกว่า 70 ราย โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกผู้ผ่านเกณฑ์ในรอบคัดเลือกใบสมัครทั้งสองประเภทเป็นจำนวนทั้งสิ้น 20 ทีม และแต่ละทีมได้ผ่านการ Coaching ในเรื่องของโลจิสติกส์ และวิธีการนำเสนอบนเวทีในวันกิจกรรม LogTech Boot Camp มาแล้ว

“ความคาดหวังและความคิดเกี่ยวกับการพัฒนา LogTech ในประเทศไทยนั้นได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าแข่งขันที่ให้ความสนใจในการประกวด LogTech มากขึ้น ตอกย้ำอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีผู้เข้าใจและให้ความสำคัญมากขึ้นทุก ๆ ปี และจากผลงานของผู้เข้าประกวดใน 3 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นพัฒนาการอย่างเป็นรูปธรรม และก้าวกระโดดในการผลักดันอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของประเทศอย่างเห็นได้ชัด”

 อย่างไรก็ดี คุณพนัส สรุปปิดท้ายว่าจากผลตอบรับที่ดีขึ้นต่อเนื่องทุกปีของโครงการฯนี้ เราเชื่อมั่นว่าปีถัดไปจะมีผู้มีสมัครเข้าร่วมประกวดมากยิ่งขึ้น และการประกวดก็จะมีความเข้มข้นมากขึ้นด้วยเช่นกัน ที่สำคัญบริษัทพนัสฯจะไม่หยุดยั้งที่จะสร้างและสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยได้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถตอบรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่เติบโตขึ้นได้อย่างครบวงจรต่อไป”

สำหรับทีมที่ชนะเลิศในแต่ละประเภทมีดังต่อไปนี้

ประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป ผลปรากฏว่าทีมชิปป๊อปจากบจก.ชิปป๊อปกับผลงาน Online Logistic Booking ผงาดแชมป์คว้าเงินรางวัล 100,000 บาท และโล่รางวัลไปครอง อันดับสองเป็นของทีม OZT Robotics จากบจก.โอแซดที โรโบติกส์ กับผลงานโดรนไม่มี GPS เพื่อเช็คสต๊อกอัตโนมัติ คว้าเงินรางวัล 50,000 บาทและโล่รางวัล ส่วนอันดับสามตกเป็นของทีม Airtalk  จากบจก.ไอเวิร์ค อินเตอร์แอ็คทีฟ กับผลงาน Airtalk-Logistic Collaboration คว้าเงินรางวัล 30,000 บาทและโล่รางวัล

นอกจากนี้ ทีมผู้ชนะเลิศอันดับ 1-3 ของประเภทนิติบุคคลและบุคคลทั่วไป ยังได้สิทธิ์เหินฟ้าไปศึกษาดูงานโลจิสติกส์ที่ประเทศเยอรมนีอีกด้วย

ส่วนประเภทประเภทนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ทีม I’Rice Logis Tech ม.ศิลปากร กับผลงานแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้าวและส่งมอบข้าว สอยรางวัลชนะเลิศไปครองพร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท และโล่รางวัล อันดับสองเป็นของทีม LM_GetA สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นกับผลงาน Auto Trolley พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท และโล่รางวัล ส่วนอันดับสามตกเป็นของทีม EnergyEN ม.หอการค้าไทยกับผลงาน Blue Box พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท และโล่รางวัล



CR.ภาพประกอบจากสวทช.