ดร.ธนิต โสรัตน์ : อภิโปรเจ็กต์คลองไทย – แลนด์บริดจ์ เชื่อม 2 ฝั่งทะเลภาคใต้

0
705

 ท่ามกลางวิกฤตระดับโลกเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งเศรษฐกิจโลกและของไทยชะงักงันยกระดับไปถึงถดถอย องค์กรการค้าโลก (WTO) ประเมินว่าการค้าโลก 1 ใน 3 หายไปมูลค่ามหาศาลประมาณ 283.5ล้านล้านบาท  ด้วยสภาวะแบบนี้โครงการลงทุนระดับเมกะใหญ่ ๆ ต่างชะลอตัวรอท่าทีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

 ดร.ธนิต โสรัตน์  รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย   เปิดเผยถึงทิศทางประเทศไทยท่ามกลางไวรัสโควิด-19หลังจากนี้ ว่า   เศรษฐกิจไทยจะอิงกับการค้าระหว่างประเทศในสัดส่วนที่สูง   ดัชนีเศรษฐกิจทุกรายการร่วงหมดประเมินว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจากจีดีพี ที่หดตัวอาจสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท    ยังไม่รวมงบกระตุ้นเศรษฐกิจเฟสแรก 2.0 ล้านล้านบาท   ซึ่งรัฐบาลกำลังหาเงินเข้ามาโปะ ความสูญเสียทางเศรษฐกิจยังมาจากธุรกิจเอกชนเฉพาะภาคท่องเที่ยวหายไปไม่น้อยกว่า 1.9 ล้านล้านบาท และการเสียรายได้จากการว่างงาน รวมกันอีก 6.0 แสนล้านบาท ความเสียหายจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก

ปัดฝุ่น “คลองไทย” ใครได้-เสีย เอาให้ชัด !

 อย่างไรก็ตาม  ท่ามกลางความมืดมนมีการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานที่เรียกว่า “อภิโปรเจ็กต์ระดับโลก” ออกมาสองโครงการต่างแข่งขันชิงธงจองพื้นที่ก่อสร้างเป็นการสวนกระแส  รวมถึงความไม่แน่นอนของเสถียรภาพรัฐบาลและแรงกดดันการเมืองนอกสภาที่ยกระดับไม่ใช่แค่เด็ก ๆ ออกมาเล่นสนุกรายวัน ส่วนการชุมนุมใหญ่เมื่อวันเสาร์ที่ 19 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา เป็นแค่ยกสองยังมีต่ออีกยาว กลับมาที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานลองส่องกล้องเข้าไปดูว่ามีอะไรบ้างเริ่มจากโครงการแรกซึ่งจองกฐินมาอย่างยาวนานคือ        

 “การขุดคอคอดกระ” หลังจากมีการเสนอความเหมาะสมเป็นสิบเส้นทางมาลงตัวที่แนว 9A เริ่มจากอำเภอสิเภาจังหวัดตรังไปออกอ่าวไทยที่อำเภอระโหนดเหนือทะเลสาบสงขลาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “โครงการพัฒนาคลองไทย” “Thai Canal” ไม่ใช่โครงการใหม่ผลักดันมาตั้งแต่นายกฯทักษิณ ชินวัตร มาจนถึงยุคคสช. มีกลุ่มสนับสนุนล้วนเป็นอดีตระดับบิ๊ก   มีทั้งนักการเมืองตั้งแต่ระดับชาติไปจนถึงระดับท้องถิ่น   แต่เบื้องหลังเป็นกลุ่มทุนจีนที่เป็นสปอนเซอร์  ซึ่งโครงการนี้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “ไห่หนาน” เป็นเส้นทางสายไหมทางทะเลของจีนเป็นคลองลัดระดับนานาชาติ  เชื่อมชายฝั่งทะเลอันดามันกับทะเลจีนใต้     

 รายละเอียดโครงการจะมีการถมเกาะขนาดใหญ่  2 เกาะสร้างท่าเรือน้ำลึกใหญ่เทียบเท่ากับสิงคโปร์ อนุกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร์ที่รับลูกไปศึกษาเพื่อที่จะให้มีการสำรวจและขุดคลองไทย ทราบว่าจะทำให้มีการจ้างงานในพื้นที่ถึง 16 ล้านตำแหน่งเกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานที่มีงานทำทั้งประเทศ และยังบอกว่าจะทำให้มีรายได้ต่อปีถึง 4 ล้านล้านบาท   มูลค่าเท่ากับนำสินค้าส่งออก 12 อันดับแรก มารวมกัน ที่กล่าวนี้เป็นด้านดี  ซึ่งแลกด้วยอายุสัมปทาน 100 ปี ที่ต้องเข้าใจว่า

 “การลงทุนของจีนไม่เหมือนกับชาติใดในโลกเพราะจะแบบเหมาเข่งมาพร้อมกับการส่งออกคนจีนจำนวนมากออกมาทำมาหากินแบบถาวรเหมือนกับที่เกิดในสปป.ลาว, ประเทศแทบแอฟริกาตอนนี้กำลังลุกเข้าไปในศรีลังการวมถึงกัมพูชา อย่าลืมว่าสิ่งที่จีนหวังจะได้คือพัฒนาถมทะเลสร้างเกาะใหม่  เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวของจีน ทราบว่าอาจจะมีการสร้างสนามบินในพื้นที่”

ธนิต กล่าวว่า  สิ่งที่ต้องศึกษาให้ดีและรอบคอบ  นั่นคือ สภาพแวดล้อม   เนื่องจากการขุดคลองกว้างเกือบ 600 เมตรยาว 135 กิโลเมตรดินตะกอนที่ขุดเอามาถมทะเลได้ 2 เกาะที่อยู่ในสัมปทานของจีนรวมกันขนาดน้อง ๆ เกาะภูเก็ต ลองหลับตาดูว่า ดินตะกอนที่ฟุ้งกระจายจะกระทบอะไรบ้างสำหรับชาวบ้านในพื้นที่คงมองเป็นโอกาสที่จะฟื้นเศรษฐกิจเพราะแค่ยางพารา ปาล์มน้ำมันราคาเอาแน่เอานอนไม่ได้ ราคาที่ดินคงจะพุ่งนายหน้าที่ดินคงรวยกันความเป็นอยู่คงจะดีขึ้น

“ไม่ต้องคิดไกลลองไปถามคนแถวจังหวัดระยองว่ามีท่าเรือใหญ่ ๆ และนิคมอุตสาหกรรมหลายสิบแห่งชีวิตของพวกเขา รวยขึ้นมากน้อยเพียงใด แต่เรื่องพวกนี้ทุกคนก็มีสิทธิคิดเพราะเห็นประโยชน์ใกล้ตัวส่วนที่จะให้ชาติใดมาลงทุน  หรือมาฉกฉวยผลประโยชน์ระดับชาติเป็นสิ่งไกลตัวมองไม่เห็นงานนี้จึงไม่ขอขัดลาภใครแค่ฝากเอาไปคิดเท่านั้น”

แลนด์บริดจ์สุ่มเสี่ยง สินค้าแค่ 2 แสนตู้ ไม่โดนธุรกิจเรือ 

 ธนิตกล่าวต่ออีกว่า   อีกโครงการสด ๆ ร้อน ๆ พึ่งออกมาจาก ครม.  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยการผลักดันของกระทรวงคมนาคม  คือโครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) จากท่าเรือระนองไป อ.หลังสวน จ.ชุมพร   ซึ่งจะสร้างเป็นท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ระยะทาง 120 กิโลเมตร โครงการนี้อย่าไปเข้าใจว่าจะสร้างสะพานข้ามจังหวัดยาว ขนาดนี้แต่หมายความว่า  จะเป็นการเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ  เพื่อให้เรือจากฝั่งหนึ่งเอาสินค้าลงใส่รถไฟหรือรถเทนเลอร์ลากไปอีกฝั่งหนึ่งของฝากทะเล

 โดยจะมีเรือข้ามสมุทรอีกลำมาจอดรอแล้วแล่นไปแหลมฉบังหรือไปที่หมายปลายทาง  เพื่อไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา โครงการแลนด์บริดจ์เป็นลักษณะ “Intermodal Transport” คือเป็นการผสมผสานการขนส่งทั้งเรือเดินสมุทรและการขนนส่งทางบกจะมีการสร้างทางรถไฟและมอเตอร์เวย์ โดยหวังว่าจะให้เกิดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในพื้นที่

 โครงการนี้ต่างกับโครงการคลองไทย  ซึ่งใช้เงินมากกว่า 2.29 ล้านล้านบาท ผู้ลงทุนคงไม่มีใครนอกจาก รัฐวิสาหกิจของจีน แต่โครงการแลนด์บริดจ์อาจใช้เงิน 5-6 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนในประเทศรัฐ-เอกชนในลักษณะ “PPP” ผลกระทบด้านนิเวศน์สิ่งแวดล้อมคงไม่มาก ประเด็นอยู่ที่จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด  เพราะสินค้าในภาคใต้รวมกันปีหนึ่งมีประมาณแค่ 2.0 แสนคอนเทนเนอร์คงไม่พอที่เรือพาณิชย์ข้ามสมุทรจะเข้ามา   ตัวอย่าง  เห็นชัดเจนจากท่าเรือระนองลงทุนไปหลายปีไม่ไปถึงไหนแต่ละปีมีสินค้าประมาณ 4,400 ตู้ไม่คุ้มทุน

แนะ 2 อภิโปรเจ็กต์  ใช้สติไตร่ตรองก่อนลุย    

 อีกทั้งระยะเวลาที่เรือจะประหยัดได้จากการที่ไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา เพื่อมาเปลี่ยนเรือที่สิงคโปร์หรือมาเลเซียอาจร่นระยะเวลาเพียง 8-10 ชั่วโมงเป็นตัวเงินประมาณไม่เกินครึ่งล้านบาท เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องยกขึ้นยกลง แล้วมากองหน้าลานเฉพาะค่ารถบรรทุกระนอง-ชุมพร เที่ยวละ 12,000-13,000 บาทแล้วยังเสียค่าเรือต่อไปแหลมฉบัง ดูยังไงก็ไม่คุ้ม ต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากท่าเรือหนึ่งไปอีกท่าเรือหนึ่งด้วยเรือสินค้าขนาดใหญ่ระดับหมื่นตู้คอนเทนเนอร์ไม่ใช่เรือลากหรือ “เรือเอี่ยมจุ๊น” เรือพวกนี้เขามีตารางเรือแน่นอนค่าใช้จ่ายต่อวันอย่างน้อย 14,000เหรียญสหรัฐต่อวันเวลาจึงต้อง “เป๊ะ ๆ”

 “ เอาว่า ในช่วงเศรษฐกิจแย่ ๆ การเมืองไม่เป็นใจยังมีคนที่อยากจะลงทุนหากเป็นจริงดังที่คุยไว้และเป็นประโยชน์คุ้มค่าของประเทศเมื่อแลกกับสิ่งที่สูญเสียก็ทำไป แต่ต้องมีการประชาสัมพันธ์บอกกล่าวชาวบ้านให้รู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขาและถิ่นที่อยู่-สิ่งแวดล้อม-ระบบนิเวศน์ ทั้งทางแผ่นดินและทะเลจะเปลี่ยนไป ไม่ใช่มา

  “บอกแต่ด้านดี ๆ ขณะที่ประชาชนก็ต้องใช้ปัญญาตรึงตรองไม่ใช่จะไปเชื่อเขาซะทุกอย่าง แต่ที่แน่ ๆ โครงการพวกนี้คงจะเป็นลักษณะการศึกษาแต่ที่จะเกิดเร็ว ๆ นี้คงต้องรอวิกฤตโควิดให้ผ่านพ้นไปก่อนอาจใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไปเพราะทั้งจีนและไทยเศรษฐกิจช้ำทั้งนั้น  แต่ที่ช้ำในคงเป็นรัฐบาลเพราะมีแต่เรื่องวุ่น ๆ เท่านั้น” ธนิตกล่าวในที่สุด