ขร.เยี่ยมชม“วิทยาลัยฯชลบุรี-พนัสฯ”ร่วมหารือการพัฒนาบุคลากร-นวัตกรรมระบบรางประเทศ

0
281

ขร.นำคณะเยี่ยมชมวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ศูนย์หลักขับเคลื่อนศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา กลุ่มขนส่งระบบรางของประเทศไทย และเยี่ยมชมโรงงานพนัสฯผู้นำธุรกิจผลิตยานยนต์เพื่อการขนส่งและโลจิสติกส์ไทย เพื่อร่วมหารือการพัฒนาบุคลากร-นวัตกรรมระบบรางของประเทศ พร้อมเร่งผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมระบบรางของคนไทยอย่างเป็นรูปธรรม

นายกิตติพันธ์  ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่ากรมฯได้นำคณะเจ้าหน้าที่ ขร. เข้าเยี่ยมชมศูนย์จัดการเรียนการสอน สาขาวิชาเทคนิคควบคุมและซ่อมบำรุงระบบขนส่งทางราง วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี โดยมีนายนิทัศน์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ให้การต้อนรับ ซึ่งขร.ในฐานะหน่วยงานภาครัฐด้านระบบขนส่งทางรางที่มีบทบาทและภารกิจ ในการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการขนส่งทางราง ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัย มาตรฐานการบำรุงทาง มาตรฐานการประกอบกิจการ มาตรฐานผู้ประจำหน้าที่ รวมทั้งการกำกับติดตามดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาระบบขนส่งทางรางอย่างยั่งยืน

“ขร.จึงให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาด้านระบบขนส่งทางราง เพื่อเป็นแนวทางในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศ และเป็นไปตามมาตรฐานที่ ขร .กำหนด โดยวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ถือเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบขนส่งทางราง เนื่องจากวิทยาลัยฯ อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ปัจจุบันกำลังมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง และได้รับมอบหมายจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้เป็นศูนย์หลักในการขับเคลื่อนศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (Center of Vocational Manpower Networking Management : CVM) กลุ่ม ขนส่งระบบรางของประเทศไทย”

จากนั้นคณะได้เดินทางต่อเพื่อเข้าหารือและเยี่ยมชมโรงงานบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด เพื่อรับฟังการบรรยายแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานด้านระบบขนส่งทางราง และหารือถึงแนวทางการพัฒนานวัตกรรมระบบขนส่งทางรางของประเทศ ซึ่งหลังจากรับฟังการบรรยายได้เห็นว่า บ.พนัสฯ จำกัด มีประสบการณ์ในการผลิตยานพาหนะเทรลเลอร์มานานกว่า50ปี รวมทั้งมีการผลิตแคร่ส่งไปยังประเทศออสเตรเลีย และมีผลิตรถขนส่งทางรางในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะรถไฟพลังงานไฟฟ้า (EV train) หรือ BEMU รวมถึงรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคม และเป็นการสนับสนุนนโยบาย Thai First ที่ต้องการจะลดต้นทุนในการนำเข้าชิ้นส่วนระบบขนส่งทางราง โดยการสนับสนุนให้มีการผลิตชิ้นส่วนในประเทศแทน (Local Content) ทั้งนี้ ขร.จะเร่งผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมระบบรางของคนไทยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป