สรุปสถิติอุบัติเหตุ 7 วันอันตราย “เสียชีวิต 478 บาดเจ็บ 4,128”

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมในพิธีปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2560

0
161

 

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปลอดภัยคมนาคม เป็นประธานร่วมในพิธีปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2560 ที่ตั้งขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมและการดำเนินตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ระหว่างวันที่ 29 – 4 มกราคม 2560 โดยมี นายสุธี มากมี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีฯ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ตัวแทนภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมพิธีปิด ในวันที่ 5 มกราคม 2560 ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (29 ธ.ค. 59 – 4 ม.ค. 60) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,919 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 478 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 4,128 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 36.59 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 31.31 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.82 รถปิคอัพ ร้อยละ 8.00 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 61.78 ถนนทางหลวง ร้อยละ36.92 ถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.49 จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮองสอน ยะลา ระนอง และสตูล จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานีและเชียงใหม่ (152 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี (33 ราย)

สำหรับข้อมูลปริมาณรถ พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2559 – 4 มกราคม 2560 มีปริมาณรถบนท้องถนนทั้งขาเข้าและขาออกกรุงเทพฯ จำนวน 11,053,835 คน เมื่อเทียบกับปีใหม่ 59 มีการเดินทางเพิ่มขึ้นคิดเป็น ร้อยละ 12.31 ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ ขบ. ทล. ทช. หน่วยงานในสังกัดฯ เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยเพื่อรองรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้จะถึงนี้ ได้แก่ เร่งรัดการติดตั้งระบบ GPS รถตู้ทุกคันให้แล้วเสร็จใน มี.ค. 60 ตรวจสภาพรถตู้ทุกคันอย่างเข้มงวด โดยบูรณาการระหว่างหน่วยงานจัดให้มีหน่วยเคลื่อนที่หรือเพิ่มสถานที่ตรวจสภาพให้เพียงพอและทั่วถึง ให้รถตู้ทุกคันต้องเข้าใช้ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารตามที่คณะทำงานการจัดระเบียบแก้ไขปัญหารถตู้ฯ ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด จัดทำประวัติผู้ประกอบการ พขร. และพิจารณาปรับแก้กฏหมาย การเพิ่มโทษและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ พร้อมทั้งเร่งรัดให้ปรับปรุงสภาพทางกายภาพของเส้นทางสัญจร ถนนสายต่างๆ ในความรับผิดชอบ จัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงผิวทาง ดำเนินการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมีคุณภาพสูงมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลความปลอดภัย และให้จัดจุดพักรถเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาอ่อนเพลียหรือหลับในขณะขับรถ เป็นต้น