1ก.ย.นี้เริ่มเฟส2 เปิด6เส้นทางสปีด120กม./ชม.ลุยเปิดต่ออีก8เส้นทางในเฟส3-4

0
279

“ศักดิ์สยาม”เผยคืบหน้าขยายเส้นทางอนุญาตให้รถวิ่งได้ 120 กม./ชม.ในเฟส 2 ลั่น 1 ก.ย.นี้เปิด 6 เส้นทางรวม 132 กม.1 ม.ค.65 ลุยเปิดเฟส3ในอีก 5 เส้นทางระยะทางรวม  55 กม.และ 1 เม.ย.65 เปิดวิ่งเฟส 4 ในอีก 3 เส้นทางระยะทางรวม48.5กม.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามผลการเปิดใช้เส้นทางที่อนุญาตให้รถวิ่งได้ 120 กม./ชม. และความคืบหน้าการขยายเส้นทางเปิดใช้ในเฟส 2 ว่า กรมทางหลวง ได้นำเสนอผลการใช้งานของประชาชนในเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วง บางปะอิน – อ่างทอง ที่ได้เปิดใช้ไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ซึ่งผู้ขับขี่ได้มีการใช้ความเร็วตามความเร็วจำกัดในแต่ละช่องทางดีขึ้น โดยตรวจสอบจากสัดส่วนยานพาหนะที่วิ่งด้วยความเร็วที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดในแต่ละช่องทาง พบว่ามีการฝ่าฝืนการใช้ความเร็วในแต่ละช่องจราจรลดลง เทียบกับก่อนการบังคับใช้ความเร็ว 120 กม./ชม.ทั้งนี้ กองบังคับการตำรวจทางหลวงได้รายงานว่า ในช่วงเส้นทางดังกล่าวมีการบังคับใช้กฎหมายและมีการออกใบสั่งแก่ผู้ฝ่าฝืนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ในการประชุมได้มีการกำหนดแผนที่จะเปิดเส้นทางที่อนุญาตให้ประชาชนผู้ขับขี่ใช้ความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. ในช่องทางขวาสุดเพิ่มเติมอีก โดยมีเส้นทางตามแผนรวมระยะทางทั้งสิ้น 246 กิโลเมตร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ระยะที่ 2 จะเปิดให้ใช้ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป จำนวน 6 สายทาง ประกอบด้วย

•1)  ทล. 1 (สนามกีฬาธูปะเตมีย์ – ประตูน้ำพระอินทร์) กม. 35+000 – กม. 45+000 จ.ปทุมธานี ระยะทาง 10 กิโลเมตร

•2)  ทล. 1 (หางน้ำหนองแขม – วังไผ่) กม. 306+640 – กม. 330+600  จ.นครสวรรค์ ระยะทาง 23.96 กิโลเมตร

•3)  ทล. 2 (บ่อทอง – มอจะบก) กม. 74+500 – กม. 88+000 จ.นครราชสีมา ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร

•4)  ทล. 32 (อ่างทอง – โพนางดำออก) กม. 50+000 – กม. 111+473  จ.อ่างทอง, จ.สิงห์บุรี ระยะทาง 61.473 กิโลเมตร

•5)  ทล. 34 (บางนา – ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) กม. 1+500 – กม. 15+000 จ.สมุทรปราการ ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร

•6)  ทล. 304 (คลองหลวงแพ่ง – ฉะเชิงเทรา) กม. 53+300 – กม. 63+000 จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 9.7 กิโลเมตร

ระยะที่ 3 จะเปิดให้ใช้ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป จำนวน   5 สายทาง ประกอบด้วย

•1) ทล. 4 (เขาวัง – สระพระ) กม. 160+000 – กม.167+000 จ.เพชรบุรี ระยะทาง 7 กิโลเมตร

•2) ทล. 4 (เขาวัง – สระพระ) กม. 172+000 – กม.183+500 จ.เพชรบุรี ระยะทาง 11.5 กิโลเมตร

•3) ทล. 9 (บางแค – คลองมหาสวัสดิ์) กม. 23+000 – กม. 31+872 เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 8.872 กิโลเมตร

•4) ทล. 35 (นาโคก – แพรกหนามแดง) กม. 56+000 – กม. 80+600  จ.สมุทรสงคราม ระยะทาง 24.6 กิโลเมตร

•5) ทล. 219 (สตึก – หัวถนน) กม. 108+500 – กม. 122+000 จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร

ระยะที่ 4 จะเปิดให้ใช้ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป จำนวน    3 สายทาง ประกอบด้วย

•1) ทล. 1 (หนองแค – สวนพฤกษาศาสตร์พุแค) กม. 79+000 – กม. 105+000 จ.สระบุรี ระยะทาง 26 กิโลเมตร

•2) ทล. 347 (เทคโนโลยีปทุมธานี – ต่างระดับเชียงรากน้อย) กม. 1+000 – กม. 11+000 จ.ปทุมธานี ระยะทาง 10 กิโลเมตร

•3) ทล. 219 (สตึก – หัวถนน) กม. 122+000 – กม. 134+500 จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 12.5 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังรายงานเพิ่มเติมด้วยว่ากรมทางหลวงได้ส่งเจ้าหน้าที่ส่วนกลางไปสำรวจผลการปรับปรุงสภาพทางกายภาพทั้ง 6 สายทางในเฟส2ว่าการติดป้าย และเครื่องหมายจราจรตรงตามตำแหน่งที่กำหนดไว้และเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติหรือไม่ เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มความมั่นใจในการใช้งานอย่างสมบูรณ์

ขณะเดียวกันได้เรียกฝ่ายกฎหมายมาหารือเพื่อเตรียมออกประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินให้มีผลบังคับใช้ความเร็วใน 6 สายทางเพิ่มเติม รวมทั้งประสานตำรวจทางหลวง และตำรวจในพื้นที่ล่วงหน้า2 สัปดาห์ก่อนออกประกาศมีผลบังคับใช้ เพื่อเตรียมความพร้อมและเกิดแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คาดว่าจะออกประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินในราชกิจจานุเบกษาทั้ง 6 สายทางเฟส2ได้ภายในเดือน ส.ค.นี้ และมีผลบังคับใช้เฟส2ตั้งแต่วันที่ 1ก.ย.64