ขสมก.หักดิบ!ช ทวี ยกเลิก E-Ticket อ้างเครื่องไม่เสถียร

0
307

ขสมก.ยกเลิก ช ทวี คู่สัญญาโครงการเช่าเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์(E-Ticket) อ้างเครื่องไม่เสถียร ชี้หากคู่สัญญาจะฟ้องร้องก็เป็นไปตามสิทธิ์ เบนเข็มจับมือแบงก์กรุงไทยนำเครื่อง EDC มาใช้รับชำระค่าโดยสารบนรถโดยสารของ ขสมก.ทุกคันแทน ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2562 เป็นต้นมา

นายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการ ผอ.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเช่าระบบอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) บนรถเมล์ 2,600 คัน โดยมีบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO เป็นคู่สัญญา ว่าทางมติบอร์ดขสมก. เห็นชอบให้ยกเลิกสัญญาดังกล่าว เพราะบริษัทคู่สัญญาไม่ดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องตามสัญญา TOR ทั้งที่ขสมก.ให้เวลาเกือบ 1 ปี เกรงว่าหากมีการนำมาใช้จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ โดยทางขสมก.จะแจ้งบอกเลิกสัญญากับบริษัทคู่สัญญาอย่างเป็นทางการภายใน 1- 2 วันนี้ ส่วนบริษัทจะฟ้องร้องอย่างไรก็เป็นไปตามสิทธิ์ ส่วนกรณีขสมก.ได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยนำเครื่อง EDC มาใช้รับชำระค่าโดยสารบนรถโดยสารของ ขสมก.ทุกคัน ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2562 เป็นต้นมานั้น นายประยูร ระบุว่าความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปเพื่อรองรับการใช้สิทธิบริการรถโดยสารของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกรุ่น ที่ได้สิทธิในการใช้บริการรถ ขสมก. โดยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องแจ้งจุดหมายปลายทางที่จะลงแก่พนักงานเก็บค่าโดยสาร เพื่อให้พนักงานระบุค่าโดยสารบนเครื่อง EDC ให้ตรงกับอัตราค่าโดยสารตามจุดหมายปลายทางที่จะลง ก่อนนำบัตรไปแตะที่หน้าจอบนเครื่อง EDC เพื่อให้เครื่องหักค่าโดยสารออกจากวงเงินในบัตร ซึ่งพนักงานเก็บค่าโดยสารจะคอยให้คำแนะนำวิธีการใช้งานแก่ผู้ใช้บริการ

สำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถใช้บริการโดยชำระค่าโดยสารด้วยเงินสด ส่วนผู้ใช้บริการที่มีบัตรโดยสารล่วงหน้า สามารถใช้บัตรดังกล่าวได้ตามปกติ อีกทั้งขสมก.และธนาคารกรุงไทย กำลังจะมีการพัฒนาเครื่อง EDC ให้สามารถรองรับการชำระค่าโดยสารผ่านระบบ QR Code และบัตร EMV ของธนาคารต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารของ ขสมก.ในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ โครงการเช่าระบบอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) และเครื่องเก็บค่าโดยสาร (Cash box) บนรถโดยสารจำนวน 2,600 คัน ที่ทาง ขสมก. ได้ทำสัญญากับ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) มูลค่าโครงการ 1,665 ล้านบาท ระยะสัมปทาน 5 ปี โดยเมื่อปี 2561 ขสมก.ก็ได้ทำการยกเลิกบริษัทเอกชนดังกล่าวไปแล้วกรณีเครื่องเก็บค่าโดยสาร(Cash box) อ้างเครื่องไม่เสถียรระบบใช้งานไม่ได้จริง และล่าสุด ตามมาด้วยการยกเลิกเครื่อง E-Ticket ด้วยเหตุผลเดียวกัน