ว่าแต่เขา…อิเหนา(รฟม.)เป็นเอง!

0
82

ท่าจะเอาไม่อยู่แล้วจริงๆ  …

กับวิกฤติสถานการณ์ “โควิด-19” ของประเทศไทยที่ในวันนี้กล่าวได้ว่าใกล้ “กรุงแตก” แล้วจริงๆ ด้วยยอดผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตที่ทะลักเป็นปรอทแตก จนรัฐบาล และ “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (ศบค.)” เอาไม่อยู่

แม้ ศบค.จะ “ทิ้งไพ่ตาย” ขยายมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่แพร่ระบาดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจาก 10 จังหวัด เป็น 13 และ 29 จังหวัดล่าสุด ประกาศเคอร์ฟิวห้ามประชาชนเคลื่อนย้ายและเดินทางเข้า-ออก ห้ามจัดกิจกรรมอะไรต่อมิอะไรไปแล้ว แต่ก็หาได้หยุดการระบาดของเชื้อไวรัสมรณะลงไปได้

ยอดผู้ติดเชื้อล่าสุดยังคงพุ่งทะลักเกิน 17,000-18,000 รายต่อวัน ชณะมีผู้เสียชีวิตทุบสถิติทุบสถิติเป็นรายวันเกินระดับ 100- 150 รายเช่นกัน จนเมรุวัดต่างๆ รับไม่ไหว คนป่วยเริ่มล้นทะลักออกมารักษากันนอกห้องฉุกเฉิน หรือเรามีการตายข้างถนนกันแล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารสถานการณ์โควิดของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

ท่ามกลางวิกฤติของประเทศที่ทุกอณูของระบบเศรษฐกิจกำลังล่มสลายอยู่ กลับไม่น่าเชื่อว่า นักการเมืองและข้าราชการประจำยังคงฉวยโอกาส “หากินบนซากศพ” หากินบนความย่อยยับของระบบเศรษฐกิจกันได้ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามสวมสิทธิ์ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนที่ศูนย์บางซื่อ ที่ถูกจับได้คาหนังคาเขานับเป็นพันๆ คนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

รวมทั้งกรณีล่าสุดที่ “องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)” หรือ ACT ออกมาแฉความไม่ชอบมาพากลในการประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ มูลค่ากว่า 1.28 แสนล้านบาทของ “การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)” ที่มีการเล่นแร่แปรธาตุประเคนงานก่อสร้างไปให้กลุ่มผู้รับเหมายักษ์ที่ร่วมกัน “ฮั้วประมูล” กันอย่างโจ๋มครึ่มาหรือไม่?

มีอย่างที่ไหนโครงการประมูลก่อสร้างรถไฟสายเหนือและอีสาน ที่มีมูลค่ากว่า 1.28 แสนล้านบาท กลุ่มผู้รับเหมายักษ์ที่เข้าร่วมประมูล 5 ราย 5 สัญญาต่างพร้อมใจกันเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง เพียง 30 – 40 ล้านบาท หรือ 0.08% เท่านั้น อะไรมันจะตาทิพย์พร้อมใจกันเสนอราคาได้ตรงกันโดยบังเอิญได้ขนาดนี้ ทั้งที่ในอดีต ช่วงที่ รฟท.จัดประมูลรถไฟทางคู่สายใต้ โดยเปิดให้ผู้รับเหมาขนาดกลางมีโอกาสเข้าร่วมแข่งขัน ฟันราคากันยับจนกดราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางไปถึง 20-30%  

ล่าสุด ที่เพิ่งถูกตีแผ่ออกมาก็คือ “การประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ” (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 23.6 กม.วงเงิน 78,813 ล้านบาท ของ “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)” ที่เปิดขายซอง TOR ไปเมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้ผู้รับเหมายื่นซองข้อเสนอวันที่ 9 ต.ค.ศกนี้

แต่ยังไม่ทันได้ยื่นซองประมูลก็ส่งกลิ่นโชยออกมาให้เห็นกันแล้ว เพราะแม้ รฟม.จะซอยงานก่อสร้างในโครงการออกเป็น 5-6 สัญญา เปิดกว้างให้ผู้รับเหมาทั้งไทยและต่างประเทศเเข้าร่วมประมูลโดยอ้างเป็น “การประกวดราคานานาชาติ” แต่กลับมีรายการ “หมกเม็ด” ตีกันผู้รับเหมาต่างชาติที่แทบจะหาทางเข้ากันไม่ถูก

มันจะเป็นการประกวดราคานานาชาติได้ยังไง เล่นตั้งเงื่อนไขไม่อนุญาตให้ใช้ผลงานที่มีกับรัฐบาล ตปท.มาแสดง กำหนดให้ใช้แต่ผลงานกับรัฐบาลไทยเท่านั้น ทำให้ผู้รับเหมาต่างชาติที่มีศักยภาพสูงที่หลวมตัวซื้อ TOR ไปคงได้แต่ร้อง OMG พระเจ้าช่วยกล้วยทอด อะไรมันจะลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนกันได้ปานนี้

ล่าสุด ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค ปชป.และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมระบบขนส่ง ได้ออกโรงชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากลของการประมูลรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ โดยระบุว่า แม้ตนจะสนับสนุนผู้รับเหมาไทย แต่ก็ควรต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้รับเหมาต่างชาติด้วย ซึ่งที่ผ่านมา รฟม.เคยให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานที่มีกับรัฐบาล ตปท.เข้าประมูลได้ มาโดยตลอด แล้วเหตุใดการประมูลครั้งนี้ จึงไม่ยอม มีเหตุที่เป็นข้อสงสัยของประชาชนทั่วไปว่ามีอะไรแอบแฝงอยู่หรือไม่

ทั้งนี้ เมื่อย้อนรอยไปดูการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ของรฟม.ในอดีต ก็พบว่า ล้วนเปิดกว้างอนุญาตให้ผู้รับเหมาต่างชาติใช้ผลงานใน ตปท.มาแสดงได้ อย่างน้อยก็ 2 โครงการคือ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต ประมูลปี 2556 และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ-มีนบุรี) ที่เปิดประมูลในปี 2559 ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง

ขณะที่หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่เปิดกว้างให้รับเหมาต่างชาติเข้าร่วมประมูล ต่างก็เปิดกว้างให้รับเหมาต่างชาตินำผลงานที่มีมาแสดงได้ก็ อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ประจวบคีรีขันธ์-หัวหิน และการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายกลางช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ที่การรถไฟฯ เปิดประมูลในปี 2560

ไม่เพียงมหกรรมปาหี่อ้างประกวดราคานานาชาติ แต่ผู้รับเหมาต่างชาติกลับไม่สามารถจะเข้าร่วมประมูลได้ หากไม่มีผลงานก่อสร้างกับภาครัฐมาแสดงแล้ว ในเงื่อนไขประมูลสุดพิสดารในโครงการนี้ ยังมีการกำหนดเกณฑ์พิจารณาผู้ชนะประมูลจากข้อเสนอด้านเทคนิคและราคาประกอบกัน ในสัดส่วน 30/70 อันเป็นเกณฑ์การประมูลสุดอื้อฉาวที่ รฟม.เคยใช้กับการประกวดราคาหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนใน ”โครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)” วงเงินลงทุนกว่า 1.427 แสนล้านบาท ซึ่ง รฟม.เปิดประมูลไปตั้งแต่ต้นปี 2563 แต่จนป่านนี้ ก็ยังไม่สามารถ ”ผ่าทางตัน” การประมูลให้ลุล่วงลงไปได้ ทั้งที่เวลาล่วงเลยไทม์ไลน์มานานกว่าขวบปีเข้าไปแล้ว

น่าแปลก! ในขณะที่กระทรวงคมนาคมกำลังถูกสังคมตั้งข้อกังขาต่อความโปร่งใสในการประมูลโครงการต่างๆ ใต้ชายคา ทั้งรถไฟฟ้า 2 สายทางคือ “การประมูลโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม และรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ ไหนจะมีเรื่องของการประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ 2 สายทางของการรถไฟ มูลค่ากว่า 1.28 แสนล้านบาทด้วยอีก”

แทนที่กระทรวงคมนาคม จะเร่งปัดกวาดบ้านตนเอง เร่ง “เคลียร์หน้าเสื่อ” สะสางโครงการประมูลสุดอื้นฉาวทั้ง 3-4 โครงการให้สะเด็ดน้ำ ทำอย่างไรจึงจะให้สังคมสิ้นข้อกังขา เหตุใดถึงมีการกำหนดเงื่อนไขประมูลสุดพิสดารพันลึก จนถูกครหาอยู่ในขณะนี้

แต่กระทรวงคมนาคมกลับข้ามห้วยไประอุศึกกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงมหาดไทย ที่กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้า สายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 สายทาง (แบริ่ง-สมุทรปราการ และ พหลโยธิน-คูคต) ที่ กทม.รับโอนโครงการมาจาก รฟม. แต่กำลังเผชิญปัญหาไม่มีเม็ดเงินจ่ายหนี้ค้างที่ติดมากับโครงการได้ ทั้งค่าก่อสร้าง และค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องเจรจาต่อขยายสัมปทานให้กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) แลกกับการให้บริษัทเอกชนแบกรับภาระหนี้ทั้งหมดไปแทน

แต่เรื่องดังกล่าวกลับถูกกระทรวงคมนาคมสอดมือเข้าไปขวางสุดลิ่ม ด้วยข้ออ้างค่าโดยสารที่ กทม. และบีทีเอส (BTS) กำหนดไว้ในร่างสัญญาสัมปทานที่กำหนดสูงสุดไม่เกิน 65 บาทตลอดสายนั้นสูงเกินไป จนทำเอาเส้นทางการแก้ปัญหารถไฟฟ้า สายสีเขียวของ กทม. ต้องสะดุดตอ ค้างเติ่งคาราคาซังมาร่วมปี

ผลพวงจากการที่ กทม. ยังไม่สามารถผ่านทางตันแก้ปัญหารถไฟฟ้า สายสีเขียว ให้คืบหน้าไปได้ จึงทำให้ กทม.อยู่ในสภาพ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” เพราะนับวันภาระหนี้ยิ่งมีแต่จะทับถมเป็นดินพอกหางหมู เฉพาะหนี้ค้างเฉพาะหน้าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก็ปาเข้าไปกว่า 30,000 ล้านบาทไปแล้ว

ในขณะที่กระทรวงคมนาคมที่เที่ยวสอดมือเข้ามาเป็น “ไอ้เข้ขวางคลอง” เที่ยวไปอาละวาดฟาดหัวฟาดหางโครงการของหน่วยงานอื่นให้ยุ่งขิง กลับลอยตัวเหนือปัญหา ทั้งที่โครงการของตนเองก็ยังถูกสังคมตั้งข้อครหาในความโปร่งใส

เข้าตำรา “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง” จริงไม่จริงท่านรมต.ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ที่เคารพ!