ขร.ลุยแก้ปัญหาเสียงจากรถไฟฟ้า จ่อดันกม.คุมความสั่นสะเทือน

0
138

ขนส่งทางรางแจงละเอียดยิบแนวทางแก้ปัญหามลพิษทางเสียงจากการเดินรถไฟฟ้าแจ๊คพ็อต!พบร้องเรียนรถไฟฟ้าวิ่งเสียงดัง “สายสีเขียว เฉพาะช่วงบางนา-แบริ่งและสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน” หากผู้ประกอบการไม่แก้ไขระวังเจอโทษทั้งจำและปรับ ส่วนระยะยาวจ่อผลักดันออกกฎหมายว่าด้วยเรื่องควบคุมระดับเสียงและความสั่นสะเทือน หวังมาคุมปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 64 เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนมายังสมาคมฯ ในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเสียงดังและความสั่นสะเทือนจากการเดินรถไฟฟ้าสายต่างๆ โดยล่าสุดคือรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งได้ก่อปัญหามลพิษทางเสียง และความแรงสั่นสะเทือนรบกวนความเป็นอยู่ประชาชนผู้อาศัยในบริเวณดังกล่าว

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขร.) กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว ขนส่งทางรางขอแจงว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ามีการออกแบบและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment : EIA) ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งรายงาน EIA ดังกล่าวได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบเรื่องเสียงและความสั่นสะเทือนให้มีค่าเป็นไปตามมาตรฐาน

โดยมีการกำหนดให้ติดตั้งกำแพงกันเสียงในบริเวณที่มีชุมชนและพื้นที่อ่อนไหว เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล วัด ศาสนสถาน โบราณสถาน ทั้งนี้ ขนส่งทางรางได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่ปรากฏว่ามีการร้องเรียนในส่วนโครงข่ายระบบราง ในส่วนที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับผิดชอบ ในสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง-หลักสองและบางซื่อท่าพระ และสายสีม่วงช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ แต่ปรากฏว่า มีการร้องเรียนในสายสีเขียว เฉพาะช่วงบางนา-แบริ่ง และสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงรังสิต-บางซื่อ-ตลิ่งชัน ตามที่ได้รับร้องเรียนเรื่องปัญหามลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือนนั้น ถือเป็นโครงการที่ได้ดำเนินการศึกษาออกแบบและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบัน รฟท. ได้เปิดให้บริการเดินรถอย่างไม่เป็นทางการเมื่อ 2 สิงหาคม 64 ที่ผ่านมา โดยพบว่า หลังจากมีการเดินรถไฟฟ้า มีประชาชนที่อยู่สองข้างทางรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันได้ร้องเรียนเรื่องเสียงมายัง ขร.

ดังนั้นเพื่อตรวจสอบประเด็นปัญหาและเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ขนส่งทางรางจึงได้ลงพื้นที่ตรวจวัดค่าระดับเสียงในเบื้องต้นร่วมกับบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการเดินรถไฟชานเมือง (สายสีแดง)ด้วยเครื่องมือตรวจวัด บริเวณนอกขบวนรถไฟฟ้าขณะวิ่งและที่บ้านประชาชนผู้ร้องเรียน เพื่อหาวิธีลดผลกระทบจากเสียงการให้บริการเดินรถไฟฟ้าต่อประชาชน โดย ขร. ได้หารือร่วมกับ รฟฟท. โดยมีข้อสรุปร่วมกัน ปรับแผนการฝึกซ้อมการเดินรถจากเดิมหลังสิ้นสุดการให้บริการจนถึงเวลา 04.00 น. เป็นฝึกซ้อมการเดินรถไม่เกินเวลา 24.00 น., รฟฟท. กำชับให้พนักงานควบคุมรถไฟฟ้าใช้แตรเฉพาะเท่าที่จำเป็น ,ติดตั้งกำแพงกันเสียงบริเวณที่มีชุมชนใกล้เขตทางรถไฟ เพื่อลดผลกระทบทางเสียง ,รฟท. ปิดทางลักผ่าน/ติดตั้งรั้วกั้นเพื่อป้องกันผู้บุกรุกเข้ามาในเขตการเดินรถ ซึ่งมีความเสี่ยงอันตรายต่อการเดินรถ และทำให้ต้องมีการใช้แตร,รฟท. และ รฟฟท.ตรวจสอบและซ่อมบำรุงทางให้อยู่ในสภาพที่ดี เพื่อลดผลกระทบทางเสียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณทางโค้ง

อย่างไรก็ตาม ขร. จะเร่งดำเนินการติดตามการ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น และมั่นใจว่าเมื่อปรับแก้ไขตามที่ระบุไว้แล้วนั้น จะไม่เกิดปัญหามลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือนจากการเดินรถไฟฟ้าขึ้นอีก และหากผู้ประกอบการไม่แก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎหมายลำดับรองดังกล่าว หากยังฝ่าฝืนไม่แก้ไขก็ต้องดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืน ซึ่งมีระวางโทษปรับและโทษจำคุก ตามมาตรา 125 นอกจากนั้นปัจจุบัน ขนส่งทางรางได้เตรียมพร้อมในการออกกฎหมายระดับรอง ว่าด้วยเรื่อง การควบคุมระดับเสียงและความสั่นสะเทือนของการขนส่งทางราง ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับติดตามการดำเนินโครงการระบบรางให้เป็นไปตามกฎหมายระดับรองดังกล่าวรวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมั่นใจว่าหากกฎหมายดังกล่าวออกมาจะช่วยให้มีการแก้ไขปัญหาเบ็ดเสร็จมากขึ้น