PEA ผนึก Panus พัฒนาโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า รองรับเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าโดยสาร-เชิงพาณิชย์บูม

0
518

หลังปิดดีลเขย่าแวดวงยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ไปแล้วเมื่อช่วงต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมาสำหรับบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด (Panus) ผู้นำธุรกิจผลิตยานยนต์เพื่อการขนส่งและโลจิสติกส์เมืองไทย กับปฏิบัติการจรดปากกา MOU กับยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตแบตเตอรี่คุณภาพสูงชั้นนำโลกจากแดนมังกร ร่วมพัฒนาแบตเตอรี่ลิเธียมเพื่อประยุกต์ใช้งานกับหลากหลายผลิตภัณฑ์ของพนัสในประเทศ รองรับทิศทางการเติบโตยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมขยายผลทุ่มทุนสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ในเขต EEC ล็อคเป้าผู้นำผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้า-ประกอบแบตเตอรี่ป้อนตลาดไทย-อาเซียน

ล่าสุด (7ต.ค.64) เดินหน้าขยายความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)หรือ PEA โดยนายชาติชาย ภุมรินทร์ รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด PEA และนายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าที่บริหารบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด (Panus)จรดหมึกลงนาม MOU ร่วมพัฒนาโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้ารองรับการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าโดยสารและยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ลุยศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้ารองรับอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์

ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง PEA และบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด(Panus) นี้มีความประสงค์ที่จะร่วมมือกันในการศึกษาวิจัยและพัฒนาโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อรองรับการให้บริการสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าโดยสารและยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เช่น ให้รองรับการใช้งานสถานีอัดประจุไฟฟ้าข้ามโครงข่ายรองรับระบบสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่

รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์และบูรณาการระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่เข้ากับระบบไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า นอกจากนี้ยังร่วมศึกษาและพัฒนาโมเดลธุรกิจ (Business Model Development) ของ PEA VOLTAPlatform สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าโดยสารและยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Passenger and Commercial Vehicles) ระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System) ระบบธุรกิจร่วมและยืนยันสิทธิ (ClearingHouse System) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายผล PEA VOLTA Platform

โดยจะเร่งพัฒนาการใช้งาน PEAVOLTA Platform เป็นโครงการแรกเพื่อตอบสนองให้ทันต่อยานยนต์เชิงพาณิชย์ของบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ ซึ่งประกอบไปด้วยธุรกิจบรรทุกไฟฟ้าแบบดัดแปลง การจำหน่ายชุด Panus-Drive ซึ่งเป็นชุดดัดแปลงมาตรฐาน และรถบรรทุกไฟฟ้าขนาดเล็กใหม่ (All-New-Brand) และบริการหลังการขายด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ด้วยวิสัยทัศน์ผู้บริหารที่ต้องการก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตและผู้ให้บริการด้าน เทคโนโลยียานยนต์ โครงสร้างพื้นฐานและการสร้างความยั่งยืน ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

ทั้งนี้ PEA ได้พัฒนา PEA VOLTA Platform ซึ่งเป็น Digital Platform สำหรับบริหารจัดการการอัดประจุไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงผู้ประกอบการสถานีอัดประจุไฟฟ้าและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน PEA เปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA แล้ว จำนวน 57 สถานี และมีเป้าหมายเปิดให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ 73สถานีภายในปี 2564  และทยอยเปิดให้บริการเพิ่มรวมทั้งสิ้น 263 สถานีภายในปี 2566 ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มได้ที่ Line: @peavolta