เผือกร้อนในมือรัฐปี 65 ..ผลพวงจากการซื้อเวลา!

0
96

ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town

กับเรื่องที่ “นายกฯ ลุงตู่” ตั้งแท่น “ซื้อเวลา” ลากยาวการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกไปยันกลางปี 65 หรือเผลอๆ จะลากยาวข้ามปีเอา ทั้งที่การเลือกตั้งท้องถิ่นอื่นๆ ทั้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต่างก็ได้ผู้บริหารท้องถิ่นกันไปหมดแล้ว

ทำเอาบรรดา “ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม.” ทั้งที่เปิดตัวกันไปตั้งแต่ปีมะโว้ อย่าง นายชัชชาติ สุทธิพันธ์ และเจ๊รสนา โตสิตระกูล หรือที่เพิ่งเปิดตัวออกมาล่าสุดอย่าง ดร.ชัชชวี สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการสถาบันเทคโนฯ เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้แต่หาวเรอรอเก้อ ต้องชกลมวืดกันไปวันๆ แถมยังทำเอาประชาชนคนกรุงนับ 10 ล้าน กลายเป็นกลุ่มคน ”ไกลปืนเที่ยง” จนป่านนี้ ยังไม่ได้ลิ้มรสการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นของตนเองแม้แต่น้อย

เรื่องของการ “ซื้อเวลา” ไม่กล้าตัดสินใจ หรือตัดสินใจที่ผิดพลาดจนกลายมาเป็นค่าโง่นั้น ได้ยังความสูญเสียให้กับประเทศมานักต่อนักแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงการรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน” ที่รัฐบาลในอดีตตั้งแท่นจะให้เป็นโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่กลับถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ “กระตุกเบรกหัวทิ่ม” ด้วย “วลีเด็ด” แห่งประวัติศาสตร์ “รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย ควรทำให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อน”
 
ทำเอาวันนี้ ประเทศไทยเราต้องสูญเสียโอกาสในการลงทุน ต้องถูกเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ปาดหน้า เปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงลาว-จีนไปเรียบวุธ ทิ้งไทยให้หาวเรอรอเก้อยิ่งกว่าหมาหลงบนทางด่วน ยังความชอกช้ำให้กับประเทศและประชาชนคนไทย จนป่านนี้ ยังหาคนรับผิดชอบความสูญเสียที่ประเทศได้รับไม่ได้!

ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยังเผชิญกับ “ค่าโง่” อย่างน้อย 2 โครงการ โดย 1 ในนั้นก็คือ ค่าโง่ “โครงการโฮปเวลล์” วงเงินกว่า 25,000 ล้านบาท ที่เกิดจากการรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคมตัดสินใจบอกเลิกสัญญาสัมปทานกับบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เมื่อ 20 ปีก่อน จนถูกบริษัทเอกชนคู่สัญญาสัมปทานยื่นฟ้องหัวต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ และจ่อศาลปกครอง

ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาเมื่อ 22 เม.ย. 2562 ให้รัฐบาลและการรถไฟฯ จ่ายชดเชยความเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาโดยมิชอบ เป็นวงเงินจำนวน  11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่ปี 2551 หรือรวมแล้วกว่า 25,000 ล้านบาท แต่ช่วงที่ผ่านมา ทั้งกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ยังคงดิ้นพล่านหาทางประวิงเวลาที่จะไม่จ่ายค่าโง่ก้อนนี้ โดยพยายามยื่นเรื่องอุทธรณ์และรื้อฟื้นคดีใหม่สารพัดช่องทาง

หากนับเนื่องจากวันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้การรถไฟฯจ่ายชดเชยความเสียหาย หรือ “ค่าโง่” จากการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบภายใน 180 วันนับแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุด วันที่ 22 เม.ย.62 จนถึงวันนี้จะร่วม 3 ปีเข้าไปแล้ว วงเงินชดเชยความเสียหายและดอกเบี้ย น่าทะลักขึ้นไปกว่า  30,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว และคงเป็นอีกกรณีค่าโง่ที่รัฐบาลต้องแบกรับเผือกร้อนตามมาในไม่ช้านี้

ยังมีเรื่องของ “ค่าโง่เหมืองทองคิงส์เกต” หรือเหมืองทองอัครา ที่นายกฯในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตาม ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 72/2559 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2559 สั่งยุติการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ด้วยข้ออ้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและความมั่นคง จนถูกบริษัทคิงส์เก็ต จากออสเตรเลีย ฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศให้ชดเชยความเสียหายวงเงินกว่า 30,000 ล้านบาท

มีกระแสข่าวเล็ดรอดออกมาเป็นระยะๆ ถึงความคืบหน้าคดีประวัติศาสตร์ที่ว่านี้ว่า รัฐบาลไทยดิ้นไม่หลุดเป็นฝ่ายพ่ายแพ้คดีบ้าง นายกฯ วิ่งพล่านจ่อโยนภาระความเสียหายให้ประเทศจ่ายค่าโง่แทนบ้าง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรกรณีค่าโง่เหมืองทองคิงส์เก็ตคงกลายเป็นอีกประเด็นสุดร้อนเป็นเผือกในมือนายกฯ ลุงตู่อย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับเรื่องของรถไฟฟ้า สายสีเขียว ที่ “นายกฯ ลุงตู่” ได้แต่ “ซื้อเวลา” ไม่รู้จะเอายังไงกับโครงการนี้ จะ “เซย์เยส” ต่อสัญญาสัมปทานกับบริษัท “บีทีเอส” 30 ปี ตามที่คณะทำงานเจรจาที่ตั้งขึ้นมาตามคำสั่งของนายกฯ เสนอ เพื่อแลกกับให้เอกชนแบกรับภาระหนี้ร่วมแสนล้านไปทั้งหมด หรือจะ “ล้มกระดาน” เปิดประมูลหาเอกชนรายใหม่เข้ามาเดินรถไฟฟ้า และรับสัมปททานใหม่กันดี
 
โดยเหตุที่นายกฯลุงตู่ ไม่ยอม “ทุบโต๊ะ” ตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดลงไป ทั้งที่เป็นคนออกคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานเจรจากับมือตั้งแต่ปีมะโว้ ก็นัยว่าเพราะ รมต.กระทรวงคมนาคมตั้งแท่นไม่เห็นด้วยกับการต่อขยายสัญญาสัมปทาน 30 ปี ด้วยข้ออ้างค่าโดยสารที่คณะทำงานของ กทม. และบีทีเอสที่นำเสนอต่อ ครม.นั้นสูงเกินไป และยังคงตั้งแท่นคัดค้านอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู โดยไม่สามารถให้รายละเอียดได้ว่า แล้วค่าโดยสารที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่ หรือมีหนทางอื่นใดจะ “ผ่าทาตัน” ปัญหาหนี้ท่วมร่วมแสนล้าน ที่ กทม.ต้องแบกรับอยู่

นัยว่า เฉพาะหนี้ค้างเบื้องหน้าที่ กทม.ต้องเร่งสะสางในเวลานี้น่าจะทะลุ 40,000 ล้านบาทไปแล้ว โดยก่อนหน้านี้บริษัท บีทีเอส ได้ยื่นฟ้อง กทม.ต่อศาลปกครองกลางให้ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 2 สายทาง ที่ค้างจ่ายมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันรวมแล้วกว่า 12,000 ล้านบาทไปแล้ว และยังมีมูลหนี้ค่าก่อสร้างส่วนต่อขยาย 2 สายทางที่ครบดิวไปแล้วอีกกว่า 20,000 ล้านบาทจ่อคิวจะถูกฟ้องตามมา หรือรวมแล้วร่วม 40,000 ล้านบาท
 
ก็ต้องเตือน “นายกฯ ลุงตู่” ด้วยความเป็นห่วง  ยิ่ง “ซื้อเวลา” ประวิงเวลาตัดสินใจออกไปนานเท่าไร  วงเงินที่หน่วยงานรัฐคู่สัญญาสัมปทานจะต้องแบกรับจ่ายคืนเอกชนจะยิ่งพอกพูนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณแบบค่าโง่โฮปเวลล์ ที่กำลังเป็นเผือกร้อนของรัฐบาลนั่นแหล่ะ

ลำพังวิกฤติทางการเมืองจนถูกผู้คนเขาสัพยอก ว่าเป็นรัฐบาล “ชำรุดยุทธ์โทรม” และ “สภาอับปาง” เป็นรายวันที่กำลังถั่งโถมเข้าใส่รัฐบาลก็หนักหนาสาหัสเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากรัฐยังต้องแบกรับ “ค่าโง่” ที่ล้วนเกิดมาจากการ “ซื้อเวลา” ไม่ยอมตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดของนายกฯ ด้วยอีก ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะโยนไปเป็นความรับผิดชอบของใครได้หรือ?

จะโยนไปเป็นความรับผิดชอบของ กทม. ก็ไม่น่าใช่ เพราะเขานำเสนอทางออกไปยังรัฐบาลตั้งแต่ปีมะโว้ แต่รัฐบาลเองนั่นแหล่ะที่เล่นเอาเถิดโยนเรื่องกันไปมา

แถมยังปล่อยให้นักการเมืองลากเอาโครงการที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาตินี้ มาเป็นตัวประกันในเกมต่อรองทางการเมืองให้ยุ่งขิงเสียอีก

เละเทะซะขนาดนี้แล้ว จะโทษเป็นความผิดชอบของใครไปได้อีกหรือ จริงไม่จริง!