จีนเผยยอดส่งสินค้าทางรถไฟพุ่ง ส่วนไทยเดินหน้า”อีสานเกตเวย์”เชื่อมส่งสินค้าไปจีน

0
177

จีนเผยยอดขนส่งสินค้ารวมด้วยรถไฟในเดือนเม.ย.65 สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 330 ล้านตัน ขณะที่ไทยเดินหน้า”อีสานเกตเวย์”เชื่อมระบบขนส่งสินค้าไทยไปยังจีนหวังดันสินค้าเกษตรไทยล็อตใหญ่

บริษัท การรถไฟแห่งประเทศจีน จำกัด เปิดเผยถึงปริมาณการขนส่งสินค้าทางราง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบปีต่อปี และแตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา พร้อมระบุว่าปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางของจีนในเดือนเมษายนรวมอยู่ที่ 330 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 30.18 ล้านตัน โดยมีการจัดตั้งช่องทางสีเขียวเพื่อขนส่งสิ่งของต้านโรคระบาดใหญ่ วัสดุทางการเกษตร และถ่านหิน

ปริมาณการขนส่งสิ่งของทางการเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมีและเมล็ดพันธุ์ อยู่ที่ 6.03 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.6 ส่วนปริมาณการขนส่งถ่านหินสำหรับผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 110 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 ซึ่งรองรับการกักเก็บถ่านหินของโรงไฟฟ้า 363 แห่ง นาน 28.6 วัน

ปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางผ่านระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 อยู่ที่ 63,000 ทีอียู (TEU : หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ความยาว 20 ฟุต) ส่วนทางรถไฟจีน-ลาว ขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก 132,000 ตัน

ด้านสำนักบริหารการรถไฟแห่งชาติจีน เปิดเผยปริมาณการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางรถไฟของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2021โดยทางรถไฟจีนรองรับการเดินทางของผู้โดยสารในปีก่อนมากกว่า 2.61 พันล้านครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบปีต่อปี และการขนส่งสินค้ามากกว่า 4.77 พันล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 จากปีก่อนหน้า

ด้านปริมาณการลงทุนสินทรัพย์ถาวรด้านทางรถไฟของจีนในปีก่อนอยู่ที่ 7.48 แสนล้านหยวน (ราว 3.9 ล้านล้านบาท) ซึ่งทางรถไฟที่ดำเนินงานในจีน มีความยาวมากกว่า 150,000 กิโลเมตร เมื่อนับถึงสิ้นปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นทางรถไฟความเร็วสูงกว่า 40,000 กิโลเมตร

ขณะเดียวกันนับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ได้เริ่มทำการขนส่งทางรถไฟไปยังจีน ซึ่งการขนส่งทางรถไฟถือเป็นการขนส่งที่สะดวก เมื่อเทียบกับค่าระวางเรือในปัจจุบันถือว่าช่วยลดต้นทุนได้มาก หากนำสินค้าส่งทางเรือไปยังคุนหมิงจะใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน แต่หากขนส่งทางรถไฟ จะคิดเป็นชั่วโมงได้ประมาณ 30 ชั่วโมงเท่านั้น

โดยเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ขบวนรถขนส่งสินค้าจากสถานีเวียงจันทน์ใต้จะออกเดินบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว เข้าจีนที่ด่านรถไฟโมฮ่านตอนใต้ของมณฑลยูนนาน สู่มหานครฉงชิ่งทางภาคตะวันตกของจีน ใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน พบว่า เร็วกว่าขนส่งทางเรือถึง 4 เท่าตัว

และเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ไทยประสบความสำเร็จในการส่งออกทุเรียนลอตใหญ่ที่สุด 500 ตัน 27 ตู้คอนเทนเนอร์ของฤดูกาลผลิตผลไม้ปี 2565 ขนส่งบนเส้นทางรถไฟสายจีน-ลาวตามนโยบายอีสานเกตเวย์เป็นล็อตแรก

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอผลการประชุมคณะกรรมการบูรณาการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-ลาวและจีน ครั้งที่ 1/2565 เมื่อ 18 มกราคม 2565 โดยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเรื่องแต่งตั้งคระกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน (โดยก่อนหน้านั้น 19 พฤศจิกายน 2564 เห็นชอบร่วมกันในการลงทุนร่วมกันในสะพานแห่งใหม่ระหว่างไทยและลาวและเห็นชอบจัดตั้งคณะทำงานเทคนิคและด้านธุรกิจเพื่อร่วมหารือกันต่อไป)

ที่มาข้อมูลจากสำนักข่าวซินหัว