สรท.คาดการณ์ส่งออกปี66ขยายตัว2-3%ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง“เงินเฟ้อ-วัตถุดิบขาดแคลน”

0
33

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนตุลาคม 2565 กับเดือนเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกมีมูลค่า 21,772.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 4.4% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 801,273 ล้านบาท ขยายตัว 6.7% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนตุลาคมหดตัว 2.8%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,368.8 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 2.1% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 832,875 ล้านบาท ขยายตัว 9.1% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2565 ขาดดุลเท่ากับ 596.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 31,602 ล้านบาท

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – ตุลาคมของปี 2565 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าไทยส่งออกรวมมูลค่า 243,138.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 9.1% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 8,325,091 ล้านบาท ขยายตัว 19.7% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม – ตุลาคมขยายตัว 7.4%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 258,719.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 18.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 8,981,477 ล้านบาท ขยายตัว 29.8% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม – ตุลาคมของปี 2565 ขาดดุลเท่ากับ 15,581.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 656,386 ล้านบาท

อนึ่ง สรท.คาดการณ์การส่งออกรวมปี 2565 ขยายตัวที่ 7-8% และการส่งออกปี 2566 ขยายตัวที่ 2-3% (ณ เดือนธันวาคม 2565) โดยมีปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2565 ได้แก่ 1) สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้ว่าธนาคารกลางได้ออกมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของตลาดหลักเริ่มมีการชะลอตัวลง 2) ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ และวัตถุดิบที่มีราคายังคงมีผันผวน ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน ปุ๋ย เป็นต้น

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินไป 2) ด้านต้นทุน ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อประคองการฟื้นตัวภาคธุรกิจและไม่เป็นการซ้ำเติมรายจ่ายของผู้บริโภคและต้นทุนของผู้ประกอบการมากเกินไป และขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้า (FT) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือน แบบค่อยเป็นค่อยไป 3) ด้านสิ่งแวดล้อม ขอให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องพิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการยกระดับการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สอคคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาล 4) ด้านการค้าระหว่างประเทศ เร่งดำเนินการความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่สำคัญ อาทิ Thai-EU, Thai–UK, Thai-Turkey, RCEP (อินเดีย) และ FTAAP