ชมรมฯ“รถ ราง เรือ”ไทย-ลาว MOU หนุนการค้า-ขนส่งไทย-ลาว ลุยดัดแปลงรถบรรทุกไฟฟ้า D-EV

0
473

ชมรมฯ“รถ ราง เรือ”ไทยจรดหมึก MOU ชมรมฯ“รถ ราง เรือ”ลาวยกระดับการค้า-ขนส่งไทย-ลาวเชื่อมเศรษฐกิจไทยระหว่างประเทศ ส่งต่อการค้า-ขนส่งผ่านระบบ รถ ราง เรือของไทย-ลาวไปยังลาวถึงจีน ลาวถึงเวียดนาม ลาวถึงไทย ไทยถึงเวียดนาม ปักหมุดหมายการค้าไทย-ลาวสู่ก้าวสำคัญประเทศเพื่อนบ้านค้าขายร่วมกันภายใต้ CLMVT

พร้อมใส่เกียร์ D เดินหน้าลงนาม MOU กับดาต้าเกทผู้ผลิตหัวรถจักรและตู้ขนส่งทางรถไฟและการส่งไฟฟ้า และ “เอ็น.เอส.เค.อินเตอร์โปรดักส์”ผู้ธุรกิจติดตั้งเครื่อง ต่อตัวถัง ซ่อมสร้างดัดแปลงรูป ร่วมกันผลักดันโครงการดัดแปลงรถบรรทุกสันดาปเป็นรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า D-EV หวังช่วยให้ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกชมรมฯลดต้นทุนค่าการขนส่งด้านเชื้อเพลิงตามเทรนด์เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดถึงเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

ประธานที่ปรึกษาฯให้กำลังใจทุกฝ่ายเร่งรัดเกิดสัมฤทธิ์ผล

นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานที่ปรึกษาชมรมฯรถ ราง เรือ ไทย  เปิดเผยว่าความร่วมมือ 2 โครงการในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อก้าวไปสู่จุดสำคัญอีกระดับหนึ่ง ประเด็นการดัดแปลงรถบรรทุกเครื่องยนต์สันดาปเป็นพลังงานไฟฟ้าเราต้องรีบดำเนินการผ่านความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อให้กรมขนส่งฯรับรองต่อจดทะเบียนได้แบบเดียวกับ NGV ที่เราเคยทำมาในอดีต ไม่ว่าจะถูกผลักดันและเร่งรัดในรูปแบบกรรมาธิการในรัฐสภา หรือการกำหนดกรอบกฎหมายรองรับ ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 คือหลักใหญ่ที่สร้างปัญหาให้กับพวกเราในเวลานี้ ทุกอย่างรอไม่ได้แล้วทุกฝ่ายต้องช่วยกันเร่งรัดเพื่อให้เกิดสัมฤทธิ์ผล

“ประเทศไทยเรากำลังเดินหน้าเชื่อมทุกอย่างให้ใกล้เข้ามาหาตัวเรามากยิ่งขึ้น เพราะว่าบทบาทเราในฐานะมีจุดยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบกว่าทุกประเทศในอาเซียน หนุนให้ไทยเราจะเป็นด่านแรกที่ทุกประเทศในอาเซียนเข้ามาเชื่อมโยงการค้าการลงทุน เพียงแต่ว่าอาจมีบางโครงสร้างที่บิดเบี้ยวไปบ้าง ส่งผลให้ทุกอย่างในเวลาอาจชะลอตัวลงไปบ้าง หากเราปรับในหลายเรื่องได้เชื่อแน่ว่าไทยเราจะเป็นด่านหน้าและมีบทบาทอย่างมากในด้านการค้าของอาเซียนด้วยกัน เพื่อให้ทุกอย่างสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างไร้รอยต่อเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ผมจึงขอแสดงความยินดีในความร่วมมือของทุกฝ่ายในครั้งนี้เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวในความร่วมมือกันก้าวเดินสู่ความสำเร็จร่วมกันในอนาคต”

นอกจากนี้ อดีตประธานสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน(ATF) ย้ำว่าต้องยอมรับว่าประเทศไทยเราเก่งในเรื่องการดัดแปลงไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่สิ่งที่อยากจะฝากคืออันดับแรกต้องช่วยกันผลักดันให้มีกฎหมายรองรับก่อนทุกอย่างจะไหลมา ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีต่างๆซึ่งจะเป็นการต่อยอดในด้านทางเลือกอื่นๆได้

ขณะที่การผลักดันความร่วมมือระหว่างชมรมฯ“รถ ราง เรือ”ไทย-ลาวยกระดับการค้า-ขนส่งไทย-ลาวเชื่อมเศรษฐกิจไทยระหว่างประเทศนั้น ประธานที่ปรึกษาชมรมฯรถ ราง เรือ ไทย สะท้อนมุมมองว่าอย่างแรกเลยที่เราต้องช่วยกันขับเคลื่อนคือเรื่องของรถไฟไทยที่อยู่ในเซฟโซนมานานที่ทำอย่างไรจะให้เกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันไทยเราได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านนี้มาเป็นล้านล้านบาทเพื่อให้การขนส่งทางรางเป็นกระดูกสันหลังภาคการขนส่งในอนาคต

“แต่ด้วยข้อจำกัดและปัญหาต่างๆจากองค์กรรถไฟไทยเองไม่ได้รับการยกระดับพัฒนาในทิศทางที่ควรจะเป็นในด้านต่างๆ แต่ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ผมเชื่อว่าทุกท่านและภาคีเครือข่ายสายสัมพันธ์ที่เรามีทั้งในไทย-ลาว  จะเป็นแรงผลักดันให้เราจะสามารถประสานงานและร่วมกันเดินหน้าแก้ไขปัญหาต่างๆที่เคยมีในอดีตและกำลังจะเกิดขึ้นเพื่อให้การ MOU ในครั้งนี้เกิดเป็นรูปธรรมตามวัตถุประสงค์ที่เราไว้วางให้มากที่สุด”

2 MOU 1 เป้าหมายความสำเร็จร่วมกัน

ดร.ชุมพล สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีเอส เอ็กซ์เพรส 2020 จำกัด และในฐานะประธานชมรมผู้ประกอบการขนส่งสินค้า รถ ราง เรือ ไทย ได้ฉายภาพว่าชมรมฯได้ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือคนในวงการที่คร่ำหวอดเป็นที่ยอมรับไม่ว่าจะเป็นคุณยู เจียรยืนยงพงศ์ อดีตประธานสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน(ATF) และในฐานะเป็นประธานผู้ก่อตั้งสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน (ATF) ส่วนตัวผมเองเป็นอดีตนายกสมาคมฯ เป็นประธานผู้ก่อตั้งสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย และปัจจุบันเป็นรองประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย เพื่อร่วมขับเคลื่อนภารกิจที่เป็นประโยชน์ต่อแวดวงการขนส่งในรูปแบบชมรมฯที่มีความคล่องตัวมากกว่ารูปแบบสมาคมฯที่มีกฎระเบียบต่างๆตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทย โดยเริ่มต้นจากจุดที่ใกล้ตัวมากที่สุดคือโหมดการขนส่งสินค้าทาง รถ ราง เรือ และอาจจะขยายเพิ่มทางอากาศเข้าไปด้วย ซึ่งโหมดการขนส่งที่ว่านี้เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์และเชื้อเพลิงพลังงานจึงเป็นที่มาการรวมพลังเพื่อ MOU ในครั้งนี้

“เส้นทางการค้าทุกวันนี้กลายเป็นโลกโกลบอลที่เชื่อมถึงกันหมดแล้ว เรามองจุดหมายปลายทางอาจจะที่จีนไปถึงรัสเซียผ่านมาที่ลาว ไทย มาเลย์ฯและสิงคโปร์ และในอนาคตอาจจะขยายจากจีนไปทางยุโรปได้ และหรือแม้กระทั่งจากไทยไปพม่าไปอินเดีย ซึ่งเกิดจากการมีการสายสัมพันธ์และมีการต่อยอดภารกิจ เพราะเรื่องการค้าและโลจิสติกส์เป็นของคู่กัน เรามองด้วยบริบทภารกิจไม่ได้มองในเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการแบบสมาคมฯซึ่งมีข้อจำกัด ดังนั้น ผู้ที่มีภารกิจใกล้เคียงกันสนใจในเรื่องเดียวก็มารวมตัวกันเป็นชมรมฯ”

ดร.ชุมพล ระบุอีกว่าสำหรับครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นเรื่องการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการค้าและการขนส่งระหว่างผู้ประกอบการขนส่งสินค้า รถ ราง เรือทั้งไทย-ลาว เป็น MOU ฉบับที่ 1 และจะมีฉบับที่ 2 ว่าด้วยโครงการดัดแปลงรถบรรทุกสันดาปให้เป็นรถบรรทุกไฟฟ้า D-EV ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องช่วยกันผลักดันให้เป็นรูปธรรม ซึ่งพวกเราก็เคยผ่านช่วงการเปลี่ยนผ่านในเรื่อง NGV มาแล้วเข้าใจว่ามีทั้งปัญหาและอุปสรรคเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านตรงนี้ผ่านไปด้วยความราบรื่น ตลอดถึงการขยายผลไปถึงการก่อสร้างโรงงานดัดแปลงและสถานีจุดชาร์จต่างๆซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อนกันต่อไป

“การ MOU กันในครั้งนี้ถือว่าได้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการทั้งในไทยและสปป.ลาว ซึ่งเกิดจากจุดขับเคลื่อนโครงการจีนเชื่อมโลกอย่าง Belt and Road Initiative ที่เชื่อมจากจีนมาถึงเวียงจันทน์แล้วในเวลานี้ ซึ่งเหลือเพียงนิดเดียวจากลาวมาไทย ซึ่งเราจะไปช่วยผลักดันในเรื่องนี้จากมิติการเชื่อมโยงขนส่งทางรางจากจีนมาลาวแล้วมาที่ไทย ซึ่งตอนนี้ไทยเราก็ได้เชื่อมกับมาเลย์ฯแล้วส่งต่อไปยังสิงคโปร์ได้ กับจุดช่องเล็กๆที่ยังไม่ได้เชื่อมต่อระหว่างไทยกับลาวนี้หากเราได้ร่วมมือและช่วยกันขับเคลื่อนให้สำเร็จลุล่วง ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นไม่เพียงแค่กับไทย-ลาวเท่านั้น ยังจะขยายไกลไปถึงจีน มาเลย์ฯ และสิงคโปร์ และอาจจะขยายลึกไปถึงรัสเซียรวมถึงไปพม่าถึงอินเดียได้ในอนาคต”

ขณะที่นางสาวฉวีวรรณ วงศ์ปัญญา รองประธานชมรมผู้ประกอบการขนส่งสินค้า รถ ราง เรือ ลาว กล่าวเสริมว่าการได้มาลงนาม MOU ในวันนี้รู้สึกยินดีและเป็นเกียติอย่างมากที่ทางชมรมฯของเราจะได้มีส่วนร่วมกับการผลักดันสู่เป้าหมายความสำเร็จร่วมกันของทุกฝ่าย ซึ่งที่สปป.ลาวอย่างที่เราทราบกันก็เพิ่งมีระบบรางก็ยังไม่ชำนาญการด้านรางส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการขนส่งทางราง ซึ่งจากการร่วมมือนี้จะทำให้ผู้ประกอบการตื่นตัวมากพอสมควร ซึ่งจะเป็นจุดประกายให้มีผู้ประกอบการด้านนี้เพิ่มมากขึ้น และจะเป็นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาใช้การขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นโหมดการขนส่งที่มีค่าขนส่งที่ถูกกว่าโหมดอื่นๆ

หนุนการขนส่งรถ ราง เรือ“กระดูกสันหลังภาคขนส่ง”

นางสาวอัสรีย์ เบญจรัตนาภรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดาต้าเกท จำกัด กล่าวว่าต้องยอมรับทิศทางโลกเปลี่ยนไปเทรนด์พลังงานสะอาดจะเข้ามาทดแทน อย่างเช่นเมื่อก่อนเป็นระบบ LNG แล้วมาเป็น NGV มาและล่าสุด EV และต่อไปจะเป็นไฮโดรเจน เรื่องของขนส่งเป็นเรื่องใหญ่มากในเรื่องโลกมีการเชื่อมต่อกันแล้ว เพราะการเชื่อมต่อย่อมสร้างมูลค่าให้กับประเทศเราในฐานะที่เรามีที่ตั้งที่ดีที่สุดอันดับต้นๆของโลก และระบบ EV จะตอบโจทย์ในหลายๆข้อสำหรับผู้ประกอบการบ้านเรา

เมื่อพลังงานมีราคาแพงมากขึ้นค่าขนส่งก็แพงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ขณะที่รถเก่าก็เก่าไปเอามาใช้ก็ไม่ได้ยิ่งองค์กรเล็กมากเท่าไหร่ก็ยิ่งแข่งขันกับเจ้าอื่นรายใหญ่ๆได้ลำบาก ซึ่งกลุ่มเล็กๆนี้เองเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ส่วนตัวเองมองชมรมฯรถ ราง เรือถ้าไม่ใช่ส่วนกระดูกสันหลังก็เป็นกระดูดซี่โครงของประเทศชาติที่จะมีส่วนช่วยกันผลักดันในเรื่องนี้ เรื่อง EV มีความสำคัญมากที่ควรได้รับการส่งเสริม เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายของประเทศชาติด้านเชื้อเพลิงในปีๆหนึ่งเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนในการขนส่งและสามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านเราได้ ถ้าเราทำก่อนประโยชน์ก็จะเกิดกับประเทศก่อน

ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดาต้าเกท จำกัด ย้ำว่ากับความร่วมมือครั้งนี้เราแบ่งความรับผิดชอบกัน ในส่วนของดาต้าเกทจะนำรถต้นแบบมาประกอบ นอกจากนี้ก็จะเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายดำเนินงานโครงการดัดแปลงรถบรรทุกสันดาปเป็นรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า D-EV อีกทั้งยังช่วยเป็นผู้จัดการสถาบันการเงินเข้ามารองรับโครงการฯให้กับสมาชิกชมรมฯและผู้ประกอบการรายอื่นๆที่สนใจ ทว่า เหนือสิ่งอื่นใดทุกอย่างจะสำเร็จลงได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่มีศักยภาพ หากเราสามารถผลิตเองได้ทั้งคันนอกเหนือจากใช้เองในประเทศแล้วยังส่งออกไปขายต่างประเทศนำเงินเข้าประเทศถือว่ายิ่งใหญ่ ต้องขอขอบคุณที่ทำให้ดาต้าเกทเข้ามาเป็นเกียรติร่วมกันผลักดันในเรื่องนี้กับทุกฝ่าย

ด้านนายชาญณรงค์  เจริญพรหมพงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็น.เอส.เค.อินเตอร์โปรดักส์ จำกัด กล่าวเสริมว่าหากโครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยน้ำมือของพวกเราทุกคน นอกเหนือจากประโยชน์โดยตรงจากค่าใช้จ่ายค่าต้นทุนการขนส่งที่ผู้ประกอบการขนส่งต้องแบกรับแล้ว สิ่งแรกที่เห็นได้ชัดลดลงแน่ๆก็คือการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ต่อไปคือเรื่องการช่วยลดปัญหามลภาวะต่างๆ ซึ่งผมยินดีและมีความมุ่งมั่นเต็มที่กับการช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งกับความสำเร็จร่วมกันกับทุกฝ่ายภายใต้บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายและศักยภาพที่ผมมี